เช็กอาการเศรษฐกิจเอเชีย เผชิญโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหดตัว เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่อินโดนีเซียไร้ความหวังเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว หลังยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB รายงานว่า ในปี 2020 นี้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะเติบโตไม่มากนัก โดยมีปัจจัยหลักจากมาตรการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้ความต้องการจากภายนอกลดลง

ครึ่งปี 63 โควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยทรุดหนัก!

ธนาคารโลก คาดโควิด-19 ทำเศรษฐกิจเอเชียทรุดหนัก 11 ล้านคนยากจน

ADB เคยจัดทำรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO) ประจำปี 2020 โดยระบุว่า ในปี 2020 ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.2 ในเดือนเมษายน และตัวเลขนี้คาดว่าจะเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดสำหรับภูมิภาคตั้งแต่ปี 1961

สำหรับการเติบโตในปี 2021 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.2 เช่นที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คาดว่าจะยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้และต่ำกว่าแนวโน้มก่อนเกิดวิกฤต

ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (ไม่รวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ของฮ่องกง จีน เกาหลี สิงคโปร์ และไทเป) คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 0.4 ในปีนี้และร้อยละ 6.6 ในปี 2021

แนวโน้มทางเศรษฐกิจของเอเชียยังมีความเสี่ยงขาลงจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นหลายระลอกในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง บวกกับหนี้รัฐบาลและวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเพิ่มระดับความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอีกด้วย

เอเชียตะวันออกคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.3 ในปี 2020 ซึ่งเป็นอนุภูมิภาคเดียวที่ยังมีการเติบโตในปีนี้  ในขณะที่การเติบโตในปี 2021 คาดว่าจะฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.8

กระนั้น สำนักข่าวใหญ่อย่างรอยเตอร์และบลูมเบิร์กประเมินว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หดตัวลงมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกหดตัวลงร้อยละ 28.1 ต่อปีในเดือนเมษายน-มิถุนายน มากกว่าการคาดการณ์เบื้องต้นที่ร้อยละ 27.8

เหตุผลเกิดจากรายจ่ายการลงทุนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นย้ำถึงความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญในการหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยที่รุนแรงขึ้น

ข้อมูลอื่น ๆ ของญี่ปุ่นยังแสดงให้เห็นถึงความท้าทายดังกล่าว โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและค่าจ้างแรงงานที่ลดลงในเดือนกรกฎาคม อันเป็นผลกระทบในวงกว้างของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคการบริโภคอ่อนแอลงแม้จะมีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนพฤษภาคมก็ตาม

ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 2.7 ในปีนี้ ก่อนที่จะกลับมาเติบโตร้อยละ 5.2 ในปี 2021 การหดตัวดังกล่าวเกิดจากประเทศเศรษฐกิจหลักในอนุภูมิภาคได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

โดยคาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะหดตัวที่ร้อยละ 3.8 ไทยจะหดตัวที่ร้อยละ 6.5 ตามลำดับ ในขณะที่เวียดนามคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.1 ในปี 2020 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน 0.7 จุด แต่ยังคงเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่อินโดนีเซียจะหดตัวที่ร้อยละ 1.0

ทั้งนี้ อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของอินโดนีเซียอย่าง “เกาะบาหลี” ส่งผลกระทบต่อความหวังของประเทศในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เดิมอินโดนีเซียมีแผนเปิดเกาะบาหลีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แม้ในช่วงแรกเกาะบาหลีดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ที่รับมือโควิด-19 ได้ดีกว่าส่วนอื่น ๆ ของอินโดนีเซีย แต่หลังเปิดให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมกว่า 196,000 ราย เสียชีวิต 8,130 ราย เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.ปันดู ริโอโน (Pandu Riono) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกล่าวว่า “การท่องเที่ยวภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ในบาหลีเพิ่มขึ้น”

ในขณะที่ เคตุต ซวาร์จายา (Ketut Suarjaya) หัวหน้าหน่วยงานด้านสุขภาพของเกาะบาหลี กล่าวว่า ไม่ควรโทษว่าการท่องเที่ยวในประเทศเป็นสาเหตุของจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นต่างมองว่า สถานการณ์ของบาหลีเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายของการเปิดพรมแดนเร็วเกินไป

นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าวว่า การเดินทางมาของนักท่องเที่ยวไม่เพียงแต่เป็นการนำเชื้อโควิด-19 จากส่วนอื่น ๆ ของอินโดนีเซียมาเกาะบาหลีมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความบกพร่องของประเทศในการจัดการกับการระบาด โดยเฉพาะการขาดการตรวจหาเชื้อและการติดตามกลุ่มเสี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า D614G

บาหลีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 196 รายในวันศุกร์วันเดียว เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าของค่าเฉลี่ยในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 116 รายในช่วงเวลาดังกล่าว

 

เรียบเรียงจาก ADB, Japan Times, The Guardian

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ