“ไอติม” ผิดหวัง ส.ส.หลายพรรคลังเล ไม่ปิดสวิตช์ส.ว.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




 “พริษฐ์” ซัด ส.ส.หลายพรรคลังเลไปลังเลมา ไม่ร่วมกำจัดมาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว.

“เอ๋ ปารีณา” ซัด ส.ว.คนเนรคุณ ชี้ หากส.ว.ไม่ควรเลือกนายกฯ เข้ามาทำไม

ญัตติปิดสวิตช์ ส.ว. ส่อแท้ง ส.ส.พรรคร่วมรบ. แห่ถอนชื่อออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัครส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์และอดีตแกนนำกลุ่มNEW DEM โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาว่า [การกำจัด มาตรา 272 ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ “ก้าวหน้า” แต่เป็นข้อเรียกร้องที่ “พื้นฐานที่สุด”]

เป็นเรื่องน่าหดหู่เป็นอย่างมาก ที่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราต้องมานั่งลุ้นกันในทุกๆวัน ว่าจะมี ส.ส. สักกี่คน หรือ พรรคการเมืองสักกี่พรรค ที่จะร่วมสนับสนุนให้กำจัด มาตรา 272 ใน รัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก ที่มี ส.ส.หรือพรรคการเมืองหลายคนและหลายพรรค ที่ลังเลไปลังเลมาหรือเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นนี้

การกำจัดมาตรา 272 ไม่ควรถูกมองว่าเป็นประเด็นที่ “ก้าวหน้า” หรือ ประเด็นที่เป็น “ข้อโต้แย้ง” (controversial)

แต่การกำจัดมาตรา 272 เป็นประเด็นที่ควรได้รับ “ฉันทามติ” จากทุกพรรคการเมือง เพราะเป็นขั้นพื้นฐานหรือขั้นต่ำที่สุดของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

การประเมินความเป็นประชาธิปไตยของระบบใดระบบหนึ่งมีหลายมิติ - ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ของ The Economist Intelligence Unit เองมีการพิจารณาและคำนวณความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจากทั้งหมด 60 ด้าน – แต่หลักสากลพื้นฐานที่ขาดไม่ได้เลยจากระบบที่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย คือการที่ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง เท่ากันในการกำหนดอนาคตประเทศ

มาตรา 272 ขัดกับหลักการตรงนี้อย่างชัดเจนใน 2 ด้าน

1) ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน มาร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี

ถ้าคิดด้วยคณิตศาสตร์ เราจะเห็นชัดว่าทำไมตรงนี้ถึงขัดกับหลัก 1 สิทธิ์ 1 เสียง

750 คน มีสิทธิ์เลือกนายก

500 ส.ส. รวมกันมีค่าเสียงเท่ากับ 500 / 750 = 67%

250 ส.ว. รวมกันมีค่าเสียงเท่ากับ 250 / 750 = 33%

500 ส.ส. เลือกมากจาก ประชาชน 38 ล้านคน ที่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง

250 ส.ว. เลือกโดย คณะกรรมการสรรหา 10 คน ที่ คสช. แต่งตั้ง

ค่าเสียงของ ประชาชน 1 คน = 67% / 38 ล้าน = 0.0000017%

ค่าเสียงของ กรรมการสรรหา ส.ว. 1 คน = 33% / 10 = 3.3%

3.3% / 0.0000017% = 2 ล้าน

ผลลัพธ์ของระบบนี้คือการทำให้ คณะกรรมการสรรหา ส.ว. 1 คน มีเสียงมากกว่า ประชาชน 1 คน ถึง 2 ล้านเท่า

เหตุที่ผมต้องคิดเลขออกมาให้เห็นแบบนี้ เพราะผมอยากให้ใครที่ยังไม่เห็น ได้เห็นอย่างชัดๆถึงความวิปริตของระบอบปัจจุบัน และเพราะผมต้องการหาวิธีอธิบายสิ่งนี้อย่างไร้อคติและไร้อารมณ์ที่สุด กับใครที่ยังเชื่อว่าประเทศเรา “เป็นประชาธิปไตย” แล้วเพียงเพราะมีการเลือกตั้งไปเมื่อปีที่แล้ว

คณิตศาสตร์ไม่เคยโกหกใคร และไม่ว่าท่านจะมีความคิดทางการเมืองอย่างไร 1+1 ก็ยังเท่ากับ 2 สำหรับทุกคน

กางปฎิทิน !! แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน 4 เดือน เลือกตั้งส.ส.ร.

2) เปิดช่องทางให้ “นายกฯ คนนอก”

เวลาเราพูดถึง “นายกฯ คนนอก” เราต้องเข้าใจว่า “นายกฯ คนนอก” มี 2 รูปแบบ

แบบที่หนึ่ง คือ “นายกฯ นอกสภา” ซึ่งเป็นแบบที่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

แบบนี้อาจถูกมองว่าเลวร้ายนอกว่า เพราะอย่างน้อยก็ยังมีชื่อปรากฎในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯของแต่ละพรรคการเมืองในวันที่ประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ “นายกฯนอกสภา” ก็เป็นหลักคิดที่ขัดกับระบบรัฐสภาสากล เพราะทำให้ (i) นายกฯมีความจำเป็นที่ต้องเข้าประชุมสภาหรือตอบคำถามฝ่ายค้านน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น ในเมื่อไม่ใช่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ และ (ii) รัฐบาลขาดเสถียรภาพจากการที่นายกฯไม่สามารถบริหารพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้ ในเมื่อไม่ใช่หัวหน้าพรรค (การที่เราเห็นรัฐมนตรีจากโควต้าส่วนตัวของนายกฯ ลาออกเป็นว่าเล่น ก็เป็นสัญญาณของปรากฏการณ์นี้)

แบบที่สอง คือ “นายกฯ นอกบัญชี” ซึ่งเป็นแบบที่ถูกเปิดช่องไว้ด้วยมาตรา 272

แบบนี้มีความเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะอาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่ประเทศเรามีนายกฯ ที่ไม่เคยมีชื่อปรากฏในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งหมายความว่าเราอาจมีผู้นำที่ไม่มีประชาชนคนไหนรู้จักหรือได้มีโอกาสพิจารณาถึงความเหมาะสม ณ วันเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อย่าว่าแต่ 1 สิทธิ์ 1 เสียง แต่ตรงนี้หมายความว่า ประชาชนไม่ได้มีสักเสียงเลยในการเลือกบุคคลคนนี้เข้ามา

แน่นอนว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการได้รัฐธรรมนูญที่มี “เนื้อหา” หรือ “ผลลัพธ์” ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมี “ที่มา” และ “กระบวนการ” ที่เป็นประชาธิปไตยด้วย เพราะจะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกคนในประเทศ และทำให้ทุกคนได้รู้สึกเป็น “หุ้นส่วน” หรือ “เจ้าของ” ของประเทศนี้อย่างแท้จริง

แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ซึ่งอาจใช้เวลาเกือบ 1-2 ปี เพราะอาจต้องมีประชามติถึง 2 ครั้ง และ การเลือกตั้ง ส.ส.ร. อีก 1 ครั้ง) ไม่ควรถูกใช้เป็นเหตุผลในการไม่กำจัดมาตรา 272 ควบคู่กันไปตั้งแต่วันนี้ เพราะการกำจัดมาตรา 272 สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านประชามติ

ถึงการกำจัดมาตรา 272 เพียงอย่างเดียว ไม่ได้จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่ประเทศไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ หากยังมีมาตรา 272 อยู่

ถ้าคุณไม่ร่วมกำจัดมาตรา 272 แสดงว่าคุณรับได้กับการที่กรรมการสรรหา ส.ว. มีอำนาจมากกว่าประชาชน 2 ล้านเท่า

ถ้าคุณไม่ร่วมกำจัดมาตรา 272 แสดงว่าคุณรับได้กับการที่เราอาจมีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีประชาชนสักคนเลือก

ถ้าคุณไม่ร่วมกำจัดมาตรา 272 แสดงว่าคุณรับได้กับการที่ประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย

ตราบใดที่ยังมีมาตรา 272 อยู่ อย่าไปเขียนในตำราเรียนเลยครับ ว่าประเทศเราปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพราะมันไม่เป็นความจริง

#ปิดสวิตช์สว

(ป.ล. ใครที่จะโต้แย้งด้วยเรื่องคำถามพ่วงในประชามติ พ.ศ. 2559 เดี๋ยวผมจะกลับมาเขียนต่อว่าทำไมผมถึงไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งนี้ครับ)

เปิดใจ 2 เลขาฯ "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ปม ปิดสวิตช์ส.ว.

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ