กรมชลฯเตือนเดินหน้าเหมืองทองจันทบุรี เสี่ยงกระทบอีอีซี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากชาว จ.จันทบุรี รวมตัวกันชุมนุมคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ โดยเหตุผลหนึ่งคือจุดที่มีการขอสำรวจเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดที่มีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำผันไปช่วยโครงการอีอีซี ล่าสุดวันนี้รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงนามบันทึกข้อตกลงผันน้ำโครงการนี้ พร้อมขอบคุณชาวจันทบุรีที่ออกมาแสดงพลัง เพราะเชื่อว่าหากมีเหมืองจะกระทบโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

การเดินเครื่องทดสอบระบบสูบผันน้ำที่สถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่วันนี้ 10 ก.ย. 2563  เกิดขึ้นหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงผันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปช่วยพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี โดยมีรองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนาม

ชาวแก่งหางแมวร้องค้านสำรวจเหมืองทอง

ความสำคัญของสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ คือมีหน้าที่เป็นศูนย์รวมรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งในลุ่มน้ำวังโตนด ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ , คลองประแกด , คลองวังโตนด และคลองหางแมว ความจุรวมราว 309 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเหล่านี้สร้างเสร็จและใช้งานแล้ว 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ และคลองหางแมว มีกำหนดเสร็จปี 2565 ขณะที่อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดอยู่ในระหว่างประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สาเหตุหนึ่งที่ชาวจันทบุรีออกมาคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ เพราะจุดที่มีการขอสำรวจแร่ อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ซึ่งน้ำจากจุดนี้จะไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองประแกด ก่อนจะไปบรรจบกับน้ำจากอ่างเก็บน้ำอีก 2 แห่ง แล้วไหลผ่านสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะผันน้ำบางส่วนไปช่วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง โดยจากจุดนี้จะมีการส่งน้ำต่อไปยัง 3 จังหวัดอีอีซี คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา นั่นหมายความว่า หากคลองพะวาใหญ่ปนเปื้อน น้ำเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อกระตายไปยัง 3 จังหวัดอีอีซี ด้วย

เช่นเดียวกับนายบสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ที่มองว่า การผันน้ำรองรับโครงการอีอีซี เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรไม่ให้ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การที่ชาวบ้าน จ.จันทบุรี ออกมาคัดค้านการขอสำรวจแร่ จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม เพราะหากมีการทำเหมืองในบริเวณนี้ ผลกระทบจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง

รองอธิบดีกรมชลประทาน เชื่อว่า ภาพการแสดงออกอย่างหนักแน่นของชาวจันทบุรี เป็นพลังสำคัญที่จะส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจให้ยุติการสำรวจ เพราะหากปล่อยให้มีสร้างเหมือง โครงการอ่างเก็บน้ำที่เริ่มไปแล้ว แทนที่จะได้คุณประโยชน์ อาจกลับกลายเป็นโทษมหันต์

คนเมืองจันท์ยื่น 1.5 แสนชื่อร้องผู้ว่าฯเปิดค้านเหมืองทอง

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ