“หมอเวร” เผย “วัณโรค” นั่งข้างกันก็ติดได้ แนะคนใกล้ชิด “โรเบิร์ต สายควัน” พบแพทย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากรณี ‘โรเบิร์ต สายควัน หรือ ไพฑูรย์ พุ่มรัตน์’ นักแสดงตลกชื่อดัง ที่เข้ารับการรักษาอาการป่วยโรคมะเร็ง ก่อนที่เวลาต่อมาแพทย์จะตรวจไม่พบเชื้อดังกล่าว แต่กลับพบว่ามีเชื้อ วัณโรค ที่ปอด จนกระทั่งเสียชีวิตในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา สร้างความโศกเศร้าให้กับแฟนคลับ และคนวงการบันเทิงต่างร่วมแสดงความอาลัยให้กับ ‘โรเบิร์ต สายควัน’ เป็นจำนวนมาก

“โรเบิร์ต สายควัน” หายป่วยมะเร็ง แต่ตรวจพบวัณโรคปอด นอนรักษาตัวในไอซียู

ด่วน! "โรเบิร์ต สายควัน" เสียชีวิตแล้ว วงการตลกเศร้า

ประวัติ “โรเบิร์ต สายควัน” ตลกสู้ชีวิต

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก หมอเวร ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ วัณโรคปอด ภายหลังข่าวการสูญเสียของตลกชื่อดัง ว่า เป็นโรคที่สามารถต่อกันได้ง่ายผ่านทางระบบทางเดินหายใจ แม้กระทั่งอยู่ในห้องเดียวกันก็สามารถติดต่อกันได้หากผู้ติดเชื้อไอ จาม เพราะเชื้อจะแพร่อยู่ในอากาศ และหลังการรับเชื้อจะไม่แสดงอาการทันที บางรายไม่แสดงอาการนานถึง 2 ปี พร้อมแนะนำคนใกล้ชิดคนของ โรเบิร์ต สายควัน ให้เข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาเชื้อ และไม่ควรมองข้าม

 

วัณโรค คือ เชื้อแบคทีเรีย ชื่อในวงการเรียกสั้น ๆ ว่า TB ติดต่อได้ผ่านระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก เช่น ปอด หลอดลม หรือบริเวณหลังโพรงจมูกก็ได้ ซึ่งเชื้อตัวนี้มีขนาดที่เล็กมาก เลยทำให้แพร่กระจายได้โดยวิธี Airborne หรือติดกันได้ผ่านทางหายใจนี่แหละ คือ ถ้ามีคนเป็นวัณโรคนั่งอยู่ในห้องเดียวกันกับเรา แล้วเกิดไอจามขึ้นมา คนรอบข้างก็สามารถติดได้หมดเลย เพราะระยะแพร่กระจายมันฟุ้งกว่า Doplet มากอย่างที่บอก

 

ตัวเชื้อมันเอง เอาจริง ๆ ถือว่าค่อนข้างอ่อนแอง่อยกระรอกต่อแสงแดดมาก เจอ UV ไม่เกิน 5 นาที ก็สิ้นซากแล้ว เวลาที่มันบุกรุกเข้ามาในร่างกายเรา ถ้าเราแข็งแรงดี เชื้อวัณโรคส่วนใหญ่เข้ามาแปปเดียวก็โดนภูมิคุ้มกันเราสอยเกลี้ยงแล้ว แต่ในมุมกลับกัน ถ้าร่างกายเราอ่อนแอมาก เชื้อวัณโรคมีแต่จะยิ่งเติบโตขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันเราจัดการมันไม่ทันนั่นเอง

ฉะนั้นเรื่องสุขภาพมีผลต่อวัณโรคโดยชัดเจนนะ เราจึงเห็นข่าวคนรอบตัวบ่อยครั้งว่า คนที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนาน ๆ อาจเสี่ยงต่อการติดวัณโรคได้ง่าย เพราะมันแพร่อยู่ในอากาศ ฉะนั้นคนที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิในร่างกายจะกำจัดมันไม่ทันนั่นเอง ดังนั้นเราจึงเห็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV มักเสียชีวิตด้วยวัณโรคบ่อยครั้งหน่ะนะ

 

แต่ทว่า หลังร่างกายเรารับเชื้อวัณโรคไปแล้ว ใช่ว่าอีกวันสองวันจะแสดงอาการเลยหรอกนะ คนที่แข็งแรงหน่อยอาจใช้เวลาลากนานถึง 2 ปี กว่าจะแสดงอาการ แต่คนที่ร่างกายอ่อนแอ อาจใช้เวลาลุกลามในไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

สำหรับคนที่อ่อนแอ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะไปเกาะกินระบบทางเดินหายใจ หลักๆก็มุ่งเน้นไปที่ปอดก่อนเลย เชื้อวัณโรคจะลงหลักปักฐานที่จุดใดจุดหนึ่งของปอดก่อน จากเมื่อมันกินเนื้อปอดจนยุ่ยแล้วก็จะขยายอาณาเขตต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายเราจะหายใจเองไม่ไหว และเสียชีวิตลงได้ในที่สุดนั่นเอง

 

วิธีเช็กอาการเบื้องต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักมีการไอต่อเนื่อง รวมถึงมีเสมหะไม่หายซักที บางรายหนัก  หน่อยอาจไอเป็นเลือดด้วยก็ได้ ส่วนเรื่องอาการเจ็บปอดหรือแน่นหน้าอกนั้นไม่ได้มีกันทุกเคสทุกรายนะ เพราะบางรายที่วัณโรคไปเกาะอยู่ในกลีบปอดส่วนลึกมาก ๆ กว่าจะแสดงอาการอีกที เชื้อก็ลุกลามไปใหญ่โตแล้ว ดังนั้นไปตรวจที่โรงพยาบาล ชัวร์สุดนะ

 

ปัจจุบันเราสามารถตรวจหาวัณโรคได้ 4 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน

การทำทูเบอร์คูลิน  เป็นการเทสที่ผิวหนัง ใครที่มีเชื้ออยู่ผิวก็จะบวมแดงให้เห็น ซึ่งในไทยไม่ค่อยวิธีวิธีนี้เท่าไหร่ เพราะคนที่เคยฉีดวัคซีนมาตรวจวิธีนี้ ผลก็ออกมาเป็นบวกได้เหมือนกัน ต้องตรวจด้วยวิธีอื่นต่ออีกทีอยู่ดี

การตรวจเลือด  ก็ไม่มีอะไรมาก ตรวจหาเชื้อโดยตรงนี่แหละ ซึ่งสามารถตรวจหาโรคได้แม้มีวัคซีนอยู่ในร่างกายก็ตาม

การเอ็กซเรย์ปอด  อันนี้นิยมทำมากที่สุด เพราะใช้เวลาน้อย และแพทย์สามารถมองเห็นเนื้อเยื่อปอดที่ถูกทำลายโดยวัณโรคได้เลย

การตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค  นิยมเพาะเชื้อจากเสมหะเพื่อหาวัณโรคโดยตรง ปกติแล้วหากเอ็กซเรย์แล้วแพทย์พบความเสี่ยง ก็จะมาทำการเทสตัวนี้ต่อนั่นเอง

 

และด้วยความที่วัณโรคมันแพร่กระจายได้ง่ายอย่างที่บอก ดังนั้นช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา คนรอบตัวน้าเบิร์ตที่เคยแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อประเมินโรคกันด้วยนะ เหมือนอย่างตอนเคสน้องน้ำตาล ที่เป็นวัณโรคหลังโพรงจมูก แพทย์ก็แนะนำให้คนรอบข้างมาตรวจกันนั่นแหละ ไม่รู้จำได้ไหม เพราะในสถิติคนที่ติดเชื้อ 10 คน จะมีเพียง 1-2 คนที่แสดงอาการป่วยเท่านั้น แต่เรื่องตรวจอันนี้ห่วงจริงจังนะ อย่ามองข้ามเชียว

ที่เล่าให้เห็นภาพความน่ากลัวมาทั้งหมดเนี่ย จะบอกว่าปัจจุบันวัณโรคหากเจอในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้นะ ไม่ต้องกลัว ฉะนั้นคนอย่างเรา ๆ ที่ไม่รู้ว่าวัน ๆ นึงเราเสี่ยงไปเจอใครมาบ้าง ถ้ามีอาการเข้าข่ายสงสัยก็ควรไปตรวจ หรือถ้ามีคนสนิทเป็นก็ควรไปตรวจกันให้หมดนะ ตรวจสุขภาพประจำปีให้หมอได้แชะภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดซักใบก็ยังดี

อย่างน้อยตรวจไม่เจอ ก็จะอุ่นใจไปได้อีกปีนึง หรือแม้ว่าตรวจเจอ หากเจอแต่เนิ่น ๆ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาหายให้สูงขึ้นไปในตัวนั่นเอง”

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ