หุ้นเอชเอสบีซีฮ่องกงร่วงหนัก หลังถูกแฉรู้เห็นฟอกเงิน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ราคาหุ้นธนาคารเอชเอสบีซี ในฮ่องกงปรับตัวลดลงต่ำที่สุด ตั้งแต่ปี 1995 หลังเอกสารลับของหน่วยปราบอาชญากรรมการเงินในสหรัฐฯ ระบุว่าธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งของโลก มีส่วนรู้เห็นในการโอนเงินจากการกระทำผิดกฎหมาย และการฉ้อโกง ทั้งที่ได้รับการแจ้งเตือนจากหน่วยงานภายในแล้ว

อัปเดต สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศทั่วโลก 21 ก.ย. 2563

หุ้นไทยวันนี้ (21 ก.ย.63) ภาคบ่ายร่วงกว่า 10 จุด ก่อนปิดการซื้อขายที่ 1,275.16 จุด ลดลง -13.23 จุด

ราคาหุ้นของธนาคารเอชเอสบีซีในฮ่องกงปรับตัวลงกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ จนต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 120 บาท) ในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้  ซึ่งเป็นการลดลงต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี 

แม้ว่าธนาคารเอชเอสบีซีจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน แต่กำไรมากกว่าครึ่งของธนาคารมาจากสาขาในฮ่องกง ที่เป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย

การร่วงลงของราคาหุ้นธนาคารเอชเอสบีซีเกิดขึ้น หลังจากที่มีเอกสารลับรายงานความเคลื่อนไหวทางการเงินต้องสงสัยกว่า 2,600 ฉบับ ของเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมการเงิน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (FinCen) หรือที่เรียกว่า “ฟินเซนไฟล์ส" (FinCEN Files)  รั่วไหลมาถึงมือของสำนักข่าวออนไลน์ “บัซฟีด” ก่อนถูกแชร์ให้กับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ)  ซึ่งเคยเปิดโปงกรณีการฟอกเงินของเหล่าคนดัง หรือ “ปานามา เปเปอร์ส" 

เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ ระบุว่า เอกสารเหล่านี้เป็นข้อมูลระหว่างปี 1999-2017 ครอบคลุมธุรกรรมการเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 60 ล้านล้านบาท โดยหน่วยงานภายในที่ดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถาบันการเงินเหล่านี้เคยแจ้งเตือนว่าเป็นการเคลื่อนย้ายเงินที่น่าสงสัย  

ธนาคารเอสเอชบีซี ,สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ,เจพีมอร์แกน เชส , ดอยช์แบงก์ และธนาคารแห่งนิวยอร์กเมลลอน เป็น 5 สถาบันการเงินที่มีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารนี้มากที่สุด

เจพี มอร์แกน เชส ถูกระบุว่าทำธุรกรรมให้บุคคล หรือบริษัทที่ทำการทุจริตในเวเนซุเอลา ยูเครน และ มาเลเซีย ขณะที่ธนาคารเอชเอสบีซีถูกกล่าวหาว่าการโอนเงินจากการหลอกลงทุนในแชร์ลูกโซ่  ส่วนดอยซ์แบงก์ ถูกระบุว่าดำเนินการเคลื่อนย้ายเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐีชาวยูเครน

นอกจากนี้ สถาบันการเงินหลายแห่งได้โอนเงินไปยังบัญชีจำนวนมากที่จดทะเบียนในแหล่งการฟอกเงินชื่อดัง เช่น หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน และไม่ทราบว่าเจ้าของบัญชีเป็นใคร 

อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวยังไม่ถือเป็นหลักฐานการกระทำความผิด โดยเป็นเพียงข้อมูลที่ธนาคารส่งให้เจ้าหน้าที่หากพบพฤติกรรมน่าสงสัยของลูกค้าเท่านั้น 

ด้านธนาคารเอชเอสบีซีระบุในแถลงการณ์ที่ส่งให้สำนักข่าวรอยเตอร์สว่า “ข้อมูลทั้งหมดที่เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติรายงานเป็นข้อมูลในอดีต โดยตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ธนาคารได้เดินหน้ารื้อระบบเพื่อพัฒนาศักยภาพในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงินในมากกว่า 60 เขตปกครองทั่วโลก

ขณะที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ซึ่งราคาหุ้นในฮ่องกงปรับตัวลง 3.8 เปอร์เซ็นต์ ระบุในแถลงการณ์เช่นกันว่า ธนาคารมีความรับผิดชอบที่จะต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงินอย่างจริงจัง และได้ลงทุนจำนวนมากในโครงการส่งเสริมการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ