รังสิมันต์ ถามส.ว.ไม่อยากแก้รธน. เพราะหวงอำนาจใช่หรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภายในคืนนี้น่าจะได้ข้อสรุปว่า ส.ส.และส.ว.มีมติอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงจะมีญัตติใดผ่านการเห็นชอบบ้างหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ด้านหน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมปักหลักติดตามผลการลงมติครั้งนี้ แต่หากวิเคราะห์จากการอภิปรายตลอด 2 วันที่ผ่านมา พบว่า ส.ว. ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ไม่มีท่าทีเห็นด้วยกับการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เลย

วิป 3 ฝ่าย วางกรอบถกแก้รธน. เชื่อ เสร็จทันเที่ยงคืน 24 ก.ย.

“ก้าวไกล” เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ไม่จำกัดหมวด ลั่น ปิดสวิตช์ ส.ว.

การอภิปรายในสภา ตลอดทั้ง 2 วันนี้ พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ได้เวลาอภิปราย ฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาที  โดยส.ว.ใช้เวลาเกือบทั้งหมด แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ช่วงท้ายของการอภิปรายนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. จะลุกขึ้นอภิปราย แต่ถูกประท้วง เนื่องจากก่อนหน้านี้อภิปรายไปแล้ว แต่สุดท้าย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่าสามารถอภิปรายได้ เพราะ กำหนดเวลาให้แต่ละฝ่ายจัดสรรกันเอง ถือเป็นช่วงหนึ่งที่มีการประท้วงกันไปมาให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเพราะ ปัจจุบันสังคมมีความแตกแยก มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มที่มีทัศนคติทำลายสถาบัน หากเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ความขัดแย้งขยายความรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายเชิงตั้งคำถามว่าสาเหตุที่ ส.ว. ส่วนใหญ่มีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้ง ส.ส.ร. เป็นเพราะต้องการรักษาอำนาจของตัวเองใช่หรือไม่

ด้านหน้าอาคารรัฐสภา กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะประชาชนปลดแอก รวมตัวปักหลักรอติดตามผลการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ทันทีที่มีการรวมตัว ตำรวจนำโซ่มาคล้องล็อกประตูอาคารรัฐสภา ไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่  ส่วนผู้ชุมนุมใช้รถเครื่องเสียงเป็นรถปราศรัย รวมถึงมีการประสานให้เจ้าหน้าที่จัดการถ่ายทอดสดการอภิปรายในห้องประชุม ให้ผู้ชุมนุม ร่วมติดตามด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสภารับเรื่องไปแล้วแต่ยังไม่ยืนยันว่าจะดำเนินการให้ได้หรือไม่

ส่วน นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ มิน แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” ขึ้นปราศรัย พูดถึง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐด้วย นายลภนพัฒน์ หวังว่า นายณัฏฐพล จะโหวตเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับแนวทางที่มีโอกาสเกิดขึ้นในคืนนี้ คือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไข ผ่านการพิจารณาในวาระแรก รับหลักการ ซึ่งแนวทางนี้ ต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่า 368 เสียง และ ในจำนวนนี้ต้องมีเสียงของส.ว.มากกว่า 84 คน เห็นชอบด้วย หากเป็นไปตามนี้ กระบวนการจะเดินหน้า มีการตั้งกรรมาธิการ 45 คน เพื่อพิจารณารายละเอียดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการคาดการว่า จะใช้เวลาพิจารณา 60 วัน  ระหว่างนั้นจะมีการเปิดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน  จากนั้นต้องรอการพิจารณา วาระที่ 2 และ วาระที่ 3 หากผ่านทั้งหมดจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติ เมื่อผ่านก็จะมีการทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข

แต่หาก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข “ไม่ผ่าน” ร่างฉบับนั้นก็จะถูกตีตกไปทันที และเมื่อ เปิดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ก็ต้องรอญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชน ที่ ไอลอว์ ยื่นเสนอ

อีกแนวทางที่ถูกคาดการณ์ คือ หากกระบวนการอภิปราย-ลงมติ ในวันนี้ ไม่เสร็จสิ้นภายใน 24.00น. วันนี้(24ก.ย.) มีแนวโน้มจะถูกยกยอดไปดำเนินการต่อ ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 เริ่ม วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563

มีรายงานข่าว ส.ว.หลายคนเห็นด้วยที่จะขยายการพิจารณาไปถึงสมัยประชุมหน้า เพราะ มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการทำประชามติมาแล้ว การจะแก้ไขแบบเร่งด่วน หรือ แก้ไขจากแรงกดดันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถทำได้  แต่รายงานอีกสาย ระบุว่า การทอดเวลาออกไปไม่เป็นประโยชน์ เพราะ หากส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การโหวตไม่เห็นชอบ ทำได้ทันทีและง่ายกว่า

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ