มอบเหรียญทรงเกียรติให้ “หนูนักกู้ระเบิด” ช่วยชีวิตประชาชนในกัมพูชา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




องค์กรการกุศลอังกฤษมอบเหรียญทองเชิดชูเกียรติให้ “มากาวา” หนูยักษ์แอฟริกาที่ตรวจจับกับระเบิดในกัมพูชาได้เกือบ 40 ลูก ลดความเสี่ยงเสียชีวิตของประชาชน

“มากาวา (Magawa)” หนูยักษ์แอฟริกา (African Giant Pouched Rat) ได้รับรางวัลเหรียญทองอันทรงเกียรติจากผลงานตรวจจับกับระเบิดในพื้นที่กัมพูชา โดยตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา มากาวาตรวจพบกับระเบิด 39 ลูก พบอาวุธที่ยังไม่ระเบิด 28 ชิ้น

คลังอาวุธกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนระเบิด คาด "ผิดพลาดทางเทคนิค"

ไฟไหม้ซ้ำ “ท่าเรือเบรุต” หลังเกิดเหตุระเบิด 1 เดือน

องค์กรการกุศลด้านสัตวแพทย์ PDSA ของสหราชอาณาจักร ได้มอบเหรียญทองให้มากาวาสำหรับ "การอุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่และการกวาดล้างกับระเบิดร้ายแรงในกัมพูชา"

มากาวาเป็นหนูยักษ์แอฟริกาวัย 7 ปี ซึ่งได้รับการฝึกฝนโดย Apopo องค์กรการกุศลที่จดทะเบียนในเบลเยียมซึ่งตั้งอยู่ในแทนซาเนีย และมีภารกิจฝึกฝนสัตว์กลุ่มที่เรียกว่า “HeroRATs” ซึ่งเน้นการตรวจหากับระเบิดและวัณโรคตั้งแต่ช่วงปี 1990 โดยสัตว์เหล่านี้จะได้รับการรับรองหลังจากผ่านการฝึกเป้นเวลา 1 ปี

คริสตอฟ ค็อกซ์ (Christophe Cox) ผู้บริหารระดับสูงของ Apopo กล่าวว่า "การได้รับเหรียญนี้ถือเป็นเกียรติสำหรับเราจริง ๆ แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในกัมพูชาและทุกคนทั่วโลกที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากกับระเบิด"

มีการคาดการณ์ว่า ยังคงมีกับระเบิดหลงเหลือมากถึง 6 ล้านลูกในพื้นที่ประเทศกัมพูชา

ข้อมูลจาก Apopo ระบุว่า มากาวาเกิดและเติบโตในแทนซาเนีย ปัจจุบันมีน้ำหนัก 1.2 กิโลกรัม ยาว 70 เซนติเมตร เป็นหนูสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าหนูสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ถือว่ายังพอและเบาพอที่จะไม่ทำให้กับระเบิดทำงานถ้าพวกมันเดินผ่าน

หนูในโครงการ HeroRATs จะได้รับการฝึกฝนให้ตรวจจับสารประกอบทางเคมีภายในวัตถุระเบิดได้ ซึ่งหมายความว่าพวกมันไม่สนใจเศษโลหะ และสามารถค้นหากับระเบิดได้เร็วขึ้น เมื่อพบวัตถุระเบิด พวกมันจะเกาสายเชือกที่หลังเพื่อแจ้งเตือนคู่หูที่เป็นมนุษย์

มากาวาสามารถค้นหาระเบิดในสนามขนาดเท่าสนามเทนนิสได้ในเวลาเพียง 20 นาที ซึ่ง Apopo บอกว่าหากใช้เครื่องตรวจจับโลหะตามปกติจะใช้เวลา 1-4 วัน

แจน แม็กลาฟลิน (Jan McLoughlin) ผู้อำนวยการ PDSA กล่าวว่า แม้มากาวาจะทำงานเพียงครึ่งชั่วโมงต่อวันในตอนเช้า และใกล้จะเกษียณอายุแล้ว แต่งานของมันนั้น "มีเอกลักษณ์และโดดเด่นอย่างแท้จริง"

เธอบอกว่า "งานของมากาวาช่วยรักษาและเปลี่ยนแปลงชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกับระเบิดเหล่านี้ ... ทุกการค้นพบของเขาช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของคนในท้องถิ่นจากกับระเบิด"

ตามรายงานของ HALO Trust องค์กรด้านการกำจัดกับระเบิด ระบุว่า กัมพูชามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 64,000 คน และมีผู้ถูกทำให้พิการ 25,000 คนจากกับระเบิดตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา ดดยกบัระเบิดเหล่านี้ถูกวางไว้ในช่วงสงครามกลางเมืองของประเทศในช่วงปี 1967-1975

 

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก PSDA

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ