จีนพิชิตเป้าหมายขจัดความยากจน - พลิกฟื้นศก.หลังโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่ผู้นำจีนในปี 2012 หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง คือการขจัดความยากจนโดยเฉพาะในภาคชนบทให้หมดไปภายในปีนี้ ซึ่งดูแล้วจีนน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย ขณะที่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 จนทำให้โลกต้องหันมอง เป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของจีนอีกครั้งในวันชาติจีนปีนี้

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ผู้นำจีนประกาศว่าความยากจนในระดับภูมิภาคของประเทศได้ยุติลงแล้ว โดยตัวเลขคนยากจนในชนบทเมื่อปีที่แล้วลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน  คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

สู่ปีที่ 100 พรรคคอมมิวนิสต์จีน สานฝันสังคมนิยมสมัยใหม่

ขณะที่ตัวเลขจากสำนักสถิติแห่งชาติจีนเมื่อปีที่แล้วระบุว่าจำนวนคนยากจนในชนบทลดลงจากเกือบ 100 ล้านคนในปี 2012 เหลือเพียง 16.6 ล้านคนในปี 2018 . โดยเส้นความยากจนที่ทางการจีนกำหนดไว้ตั้งแต่ปี  2011 คือ การมีรายได้ต่อหัวปีละเกิน 2,300 หยวน หรือ ประมาณ 10,000  บาท 

ส่วนเมื่อปี 2018 รายได้ของประชาชนในพื้นที่ชนบทอันยากจนอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 10,371 หยวน หรือประมาณ 50,000 บาทต่อคน

จีนใช้กลยุทธ์อะไรบ้างเพื่อไปสู่เป้าหมายในการขจัดความยากจน ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศกรุงปักกิ่ง บอกว่า จีนสามารถบูรณาการสิ่งที่ตัวเองมีหลายอย่างและนำมาช่วยเหลือคนจนได้ เช่น เทคโนโลยีไอทีและอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ประชาชนที่ยากจนมีช่องทางในการขายสินค้ามากขึ้น  รวมถึงการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

นอกจากนี้ หมู่บ้านยากจนที่ห่างไกลจากชุมชนและความเจริญมากๆ ทางการจีนจะเข้าไปช่วยเหลือโดยย้ายคนออกมา และสร้างหมู่บ้านใหม่ให้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนใครที่ไม่มีงานทำ ท้องถิ่นก็จะจัดอบรมและหางานที่เหมาะสมให้  ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่าเป็นจุดแข็งของรัฐบาลจีนที่มีความเด็ดขาด สามารถตัดสินใจแล้วทำได้เลย และตัวท้องถิ่นเองก็ได้รับเงินสนับสนุนค่อนข้างมาก 

มีรายงานว่า รัฐบาลจีนมีการคาดโทษเจ้าหน้าที่ที่ทำเพียงแค่แจกจ่ายเงิน โดยไม่ช่วยหาช่องทางสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประชาชนที่ยังยากจนด้วย

ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยลดความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ไตรมาสแรกหดตัวถึง 6.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนติดลบ แต่ในไตรมาส 2 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว โดย GDP  กลับมาขยายตัวระดับ 3.2 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าที่นักเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบอีก 2.5 เปอร์เซ็นต์

การที่เศรษฐกิจจีนฟื้นกลับมาเป็นบวกได้อย่างรวดเร็ว นอกจากเป็นเพราะจีนใช้เวลาสั้นมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่ยังเป็นเพราะจีนตระหนักถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้และภาวะภายนอกที่ไม่แน่นอน  จึงออกนโยบายเน้นการเติบโตและบริโภคภายใน โดยจีนมีจุดแข็งอยู่แล้วจากจำนวนประชากรที่มาก และเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังใช้จ่าย

ดร.ร่มฉัตร ระบุว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัว ตอนนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะขยายตัวที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จีนมีขนาดเศรษฐกิจและพื้นฐานที่ดี  

 จากนี้ไปต้องจับตาดูว่ามหาอำนาจหมายเลข 2 ของโลกอย่างจีน จะเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่ตอนนี้ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ ได้อย่างไร

จีนเพิ่มตำแหน่งงานภาครัฐช่วยเด็กจบใหม่ เหตุโควิด-19 กระทบภาคเอกชน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ