ครม.อนุมัติ 1.2 หมื่นล้าน เพิ่มกรอบวงเงินรถไฟความเร็วสูง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ครม.อนุมัติขยายกรอบวงเงินสัญญา 2.3 ซื้อระบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็น 5.06 หมื่นล้าน หรือเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้าน แต่ไม่กระทบกรอบวงเงินรวมที่ 1.79 แสนล้าน เตรียมลงนาม 29 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้(29 ก.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบปรับกรอบวงเงินและร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาจ้างสัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ฉบับสมบูรณ์ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) จากวงเงินเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 วงเงิน 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 12,075.12 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบต่อกรอบวงเงินรวมของโครงการรวมที่ 179,412.21 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ครม.รับทราบแผนรถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง เชื่อมหนองคาย

สำหรับกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1. การย้ายขอบเขตงานของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธาเป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Maintenance) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า (EMU Facility) โรงเชื่อมรางและกองเก็บ (Track Welding and Storage Base) และโรงกองเก็บราง (Long Track Storage Base) จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ

2.การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและสมรรถนะที่ดีกว่า เป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท

3. การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง (Ballasted Track) เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง (Ballastless Track) ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ-สถานีดอนเมือง ในสถานีพระนครศรีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต อีกทั้งยังรักษาภาพลักษณ์และทัศนียภาพตลอดจนมลภาวะต่างๆ ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงทางในสถานีซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองและภายในอุโมงค์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทาง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,227.57 ล้านบาท

4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารับประกันผลงานจากความชำรุดบกพร่องจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบฯ ค่าดำเนินการต่างๆ และอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ได้เห็นชอบร่างสัญญา 2.3 โดยสาระสำคัญของร่างสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) มีดังนี้คือ เป็นสัญญาการจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และ CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร ชื่อสัญญาภาษาอังกฤษว่า The Trackwork, Electrical and Mechanical (E&M) System, EMU, and Training Contract โดยจะมีการลงนามในสัญญา 2.3 วันที่ 29 ต.ค. 2563 นี้

ทั้งนี้ สัญญาแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ 2. การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3. การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน

สำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค (ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินที่ 179,412.21 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่ารื้อย้ายและเวนคืน 13,069.60 ล้านบาท ค่างานโยธา 117,914 ล้านบาท ค่างานระบบ 44,998.49 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 3,430.04 ล้านบาท 

ครม.เห็นชอบรถไฟความเร็วสูง ระยะแรกกรุงเทพ-โคราช

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ