ดีเบต “ทรัมป์” VS “ไบเดน” ศึกยกแรกชิงตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ คนที่ 46


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รวมประเด็นการดีเบตอย่างเป็นทางการครั้งที่ 1 ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “โจ ไบเดน” ในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

การโต้อภิปรายระหว่าง 2 ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน และ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดี ตัวแทนพรรคเดโมแครต ในเวทีแรกจาก 3 เวที เปิดฉากขึ้นในวันนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) ที่มหาวิทยาลัยเคต เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ โดยมี คริส วอลเลซ (Chris Wallace) จาก Fox News เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเขาเป็นผู้เลือกหัวข้อสำหรับการอภิปราย และไม่ได้แบ่งปันคำถามกับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง โดยประเด็นในการดีเบตที่ดุเดือดน่าสนใจมีดังนี้

โพล 75% ของนักธุรกิจชั้นนำทั่วโลก คาด โจ ไบเดน คว้าเก้าอี้ ปธน.สหรัฐฯ

“ทรัมป์” ท้า “ไบเดน” ตรวจหาสารเสพติดก่อนขึ้นเวทีดีเบต

ทรัมป์และภรรยา "ติดโควิด-19"

  1. ปมไวรัสโควิด-19

ไบเดนวิพากษ์วิจารณ์การตอบสนองของทรัมป์ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าผู้นำสหรัฐฯ ไม่มีแผนรับมือใด ๆ โดยสังเกตว่าประเทศนี้ยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 40,000 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตทะลุหลัก 2 แสนรายไปแล้ว

ด้านทรัมป์ตอบโต้ว่า นายไบเดน ไม่มีทางจัดการการแพร่ระบาดได้อย่างที่ตนทำ และระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสดังกล่าว อาจพุ่งสูงถึงหลักล้านคน หากนายไบเดน อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีและต้องรับผิดชอบป้องกันการแพร่ระบาด

ไบเดนยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการแสวงหาวัคซีนของทรัมป์โดยกล่าวว่า ทรัมป์พยายาม “กดดัน” นักวิทยาศาสตร์ให่เร่งผลิตคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ซ้ำร้ายประธานาธิบดียังเคยแนะนำว่า ชาวอเมริกันสามารถป้องกันตนเองจากโควิด-19 ได้โดยการกินยาฆ่าเชื้อ

ไบเดนยังเสนอต่อว่า ในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบุว่า หน้ากากอนามัยเป็น "การป้องกันที่ดีที่สุดของเรา" ทรัมป์กลับบอกว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่น่าเชื่อถือ

ประธานาธิบดีตอบกลับว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนกล่าวกับเขาว่าหน้ากากอนามัยให้ผล “ ตรงกันข้าม” ต่างหาก

ไบเดนยังโจมตีทรัมป์เรื่องที่เขาจัดการหาเสียงในที่ปิดและไม่มีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม อีกทั้งผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากยังไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่ทรัมป์ตอบโต้ว่า ไบเดนไม่สามารถรวบรวมฝูงชนได้อย่างตนต่างหาก

ขณะที่ในประเด็นเศรษฐกิจและแผนการฟื้นตัวหลังผ่อนมาตรการล็อกดาวน์ ทรัมป์ยืนยันว่า ตนได้สร้างเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ทั้งหมด ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากโรคระบาดจากจีน

ยอดตายโควิด-19 สหรัฐฯ ทะลุ 2 แสน ทรัมป์เผยที่ผ่านมาทำงานได้ “ยอดเยี่ยม”

“ทรัมป์” คาดสหรัฐฯเริ่มแจกวัคซีนโควิด-19 เร็วสุด ต.ค.นี้

  1. การเหยียดผิวและเชื้อชาติ

ทรัมป์ถูกถามเกี่ยวกับความพยายามของเขาในการปิดกั้นพนักงานของรัฐบาลกลางไม่ให้รับการฝึกอบรมเรื่องความอ่อนไหวทางเชื้อชาติ เขาแย้งว่าการอบรมดังกล่าวเป็นการ "เหยียดผิว" และสอนให้ผู้คน "เกลียดชังประเทศของเรา"

จากนั้นทรัมป์ก็หันไปถามไบเดนว่า เขาเชื่อใน "กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือไม่" หรือไม่ ซึ่งไบเดนตอบว่า เขาเชื่อใน “กฎหมายและระเบียบอันยุติธรรม ซึ่งประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม”

ไบเดนยังบอกว่า “สิ่งที่เขาทำเป็นการแบ่งแยกผู้คน ไม่ใช่การรวมประเทศให้เป้นหนึ่งเดียวเลย ... นี่คือประธานาธิบดีที่ทำทุกอย่างเพื่อสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ”

ทรัมป์กล่าวว่า เขาเห็นด้วยที่จะประณามกลุ่มคนผิวขาวที่เหยียดเชื้อชาติและผู้ปลุกปั่นคนอื่น ๆ แต่ในที่สุดทรัมป์กลับไม่พูด และบอกกลุ่ม Proud Boys ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงว่า “ให้ถอยก่อนและเตรียมพร้อมไว้ (Stand back and stand by)” นอกจากนี้เขายังกล่าวโดยไม่ยกหลักฐานขึ้นมาสนับสนุนว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มฝ่ายซ้ายต่างหาก

แอลเอประท้วงเจ้าหน้าที่ยิงหนุ่มผิวสีเสียชีวิต

  1. ประเด็นปมเลี่ยงภาษี

ทรัมป์ ยืนยันว่า ตนจ่ายภาษีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ใช่ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตามที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงาน จากนั้นทรัมป์ก็พูดว่า ในฐานะนักธุรกิจ เป็นเรื่องปกติที่เขาสนใจจะหาวิธีให้จ่ายภาษีน้อยลง

“ก็เหมือนนักธุรกิจคนอื่น ๆ เว้นแต่พวกเขาจะโง่ พวกเขาก็ทำตามกฎหมาย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น” ทรัมป์กล่าวโดยอ้างถึงการหักลดหย่อนภาษี

ไบเดนกล่าวหาว่า ทรัมป์ใช้ประโยชน์จากการหักลดหย่อนภาษีทำให้ตัวเองจ่ายภาษีน้อยกว่าครูในโรงเรียน และกดดันให้ทรัมป์เปิดเผยเอกสารการคืนภาษีของเขาซ้ำ ๆ โดยประธานาธิบดีอ้างว่า เขาจะทำในไม่ช้า ซึ่งทรัมป์พูดอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2015

“คุณเป็นประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดที่อเมริกาเคยมีมา” ไบเดนกล่าว

บิ๊กเดโมแครต ขยี้ปมภาษี “ทรัมป์” เป็นประเด็นความมั่นคง

สื่อแฉ "ทรัมป์" ไม่จ่ายภาษีรวม 10 ปี

  1. ภาวะโลกร้อน

ทรัมป์กล่าวว่า เขาเชื่อ “ในระดับหนึ่ง” ว่ามลพิษของมนุษย์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น

ทรัมป์บอกว่า เขายังคงรักษาเป้าหมายการมี “น้ำและอากาศที่ใสสะอาดดุจคริสตัล ผมต้องการอากาศที่สวยงามและสะอาด” อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เสนอแผนเพื่อบรรลุอุดมคติด้านสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อตอบสนองต่อไฟป่าที่โหมกระหน่ำในอเมริกาตะวันตกที่เป็นรูปธรรม ประธานาธิบดียังกล่าวอีกว่า ไฟไหม้เกิดจากการจัดการป่าไม้ที่ไม่ดี

ด้านไบเดนกล่าวว่า เขาจะเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกครั้งเพื่อร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในการป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เขายังกล่าวอีกว่า หากสหรัฐฯ สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนได้ นอกจากนะลดมลพิษที่เกิดกับโลกแล้ว ยังสามารถสร้างงานและประหยัดเงินได้ด้วย แต่ทรัมป์โจมตีไบเดนว่าข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจ

“ตอนนี้เราสูญเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปกับน้ำท่วม เฮอร์ริเคน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ... เรากำลังมีปัญหาจริง ๆ” ไบเดนกล่าว

ทรัมป์ไม่เชื่อโลกร้อนเป็นสาเหตุของไฟป่า

  1. กรณีทรัมป์เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกา และความกังวลนโยบายสุขภาพ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อ เอมี โคนีย์ บาร์เร็ตต์ (Amy Coney Barrett) เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาคนใหม่ โดยเธอเคยให้ความเห็นว่า นโยบาย ObamaCare หรือ Affordable Care Act (ACA) หรือ กฎหมายประกันสุขภาพ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้ไบเดนเกรงว่า หากบาร์เร็ตต์มีอำนาจหน้าที่ในศาลฎีกา กฎหมายดังกล่าวอาจถูกยกเลิก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ใช้สิทธิ์หลายล้านคน

ทรัมป์ให้เหตุผลในการเสนอชื่อบาร์เร็ตต์ก่อนการเลือกตั้งว่า “เราชนะการเลือกตั้งดังนั้นเราจึงมีสิทธิ์เลือกเธอ ... ผมไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแค่ 3 ปี ผมได้รับเลือกเป็นเวลา 4 ปี” ทรัมป์ยังอ้างว่า ไบเดนต้องการผลักดันประเทศไปสู่ “การแพทย์แบบสังคมนิยม”

ด้านไบเดนบอกว่า การเสนอชื่ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างหากควรเป็นผู้เลือกบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ทั้งสองฝ่ายมีนโยบายด้านสุขภาพและสาธารณสุขไม่ชัดเจน โดยทรัมป์ไม่สามารถตอบได้ว่าแผนการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมของเขาคืออะไร ขณะที่ไบเดนหลีกเลี่ยงที่จะฟันธงว่าเขาสนับสนุนกฎหมายสุขภาพดังกล่าวหรือไม่

“ทรัมป์” เสนอชื่อ "เอมี บาร์เรตต์" เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาคนใหม่

  1. ประเด็นทั่วไปเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ไบเดนกระตุ้นให้ชาวอเมริกันออกมาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง “โปรดแสดงตัวและร่วมลงคะแนน พวกคุณคือผู้กำหนดผลลัพธ์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้โหวต โหวต และโหวต”

ด้านทรัมป์บอกว่า การลงคะแนนทางไปรษณีย์ในการเลือกตั้งปีนี้จะทำให้เกิด "การฉ้อโกง" โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน และเขาเองจะไม่ยอมรับผลการโหลตที่มาจากการโกงเด็ดขาด

ทรัมป์ยังถามไบเดนว่า เขาจะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่หากต้องพ่ายแพ้ ซึ่งไบเดนบอกว่า “ถ้าฉันชนะ ผมจะยอมรับ หากผมแพ้ ผมก็จะยอมรับมัน”

ไบเดนยังเน้นย้ำสนับสนุนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือด้วยตนเอง “โหวตวิธีใดก็ได้ที่ดีที่สุดสำหรับคุณ”

ท่าทีของทรัมป์ต่อการนับคะแนน ทำให้ไบเดนกล่าวว่า “เขาแค่กลัวการนับคะแนนเท่านั้นเอง”

ทรัมป์อ้างว่ามีการพบบัตรลงคะแนนที่มีชื่อของเขาอยู่ในลำห้วยและในถังขยะ ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน และทนายความของสหรัฐฯ ประจำเขตมิดเดิล รัฐเพนซิลเวเนีย ได้ประกาศว่ามีการลงคะแนนให้ทรัมป์ 7 ใน 9 ใบ พนักงานสัญญาจ้างในสำนักงานเลือกตั้งที่ทิ้งบัตรลงคะแนนถูกไล่ออก และยังไม่ทราบสาเหตุที่คนงานทิ้งบัตรลงคะแนน

ไบเดนกล่าวว่า คำกล่าวอ้างของทรัมป์คือ "การพยายามห้ามไม่ให้ผู้คนลงคะแนนเสียง เขาพยายามทำให้ผู้คนหวาดกลัวโดยคิดว่ามันจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย"

"ทรัมป์" แนะประชาชนโหวตเลือก ปธน. 2 ครั้ง

ทั้งหมดนี้คือประเด็นการดีเบตกันเบื้องต้นในการอภิปรายกันอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองผู้ชิงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การดีเบตในวันนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะทรัมป์ที่พูดแทรกไบเดนบ่อยครั้ง จนวอลเลซเองยังต้องบอกว่า “ผมเป็นผู้ดำเนินรายการนะครับ”

นอกจากนี้ ทรัมป์และไบเดนยังนำเรื่องส่วนตัวมาพูดในการอภิปรายครั้งนี้ เช่น เรื่องที่ลูกชายคนเล็กของไบเดนเคยเสพยาเสพติด เป็นต้น รวมถึงมีถ้อยคำค่อนไปทางเหยียดหยามมากมาย อาทิ ไบเดนบอกทรัมป์ว่า "หุบปากเถอะพวก" และเรียกทรัมป์ว่าเป็น “ตัวตลก” หรือ “คนขี้โกหก” ขณะที่ทรัมป์ก็บอกไบเดนว่า “อย่ามาบอกว่าผมไม่ฉลาด คุณนั่นแหละไม่ฉลาด”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนชาวอเมริกาและผู้สังเกตการณ์ยังมองเห็นไม่ชัดถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของผู้เข้าชิงทั้งสอง บ้างพากันเรียกการดีเบตครั้งนี้ว่า “เป็นการอภิปรายที่ยุ่งเหยิงที่สุดในประวัติศาสตร์” และหลายคนพากันจับตามองการดีเบตอีก 2 ครั้งที่เหลือว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ต้องติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว ใครกันที่จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 แห่งสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจที่ขยับตัวเพียงนิดเดียวก็สะเทือนความเป็นไปของทั้งโลกโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

 

เรียบเรียงจาก The Guardian / Washington Post

ภาพจาก AFP

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ