เจาะลึก! ตำรากองทัพ สงคราม " IO " ก่อกวน ปลอมแปลง สร้างข่าว เปิดแผนโจมตีลับ กล"การลวงทางทหาร"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทวิตเตอร์ เปิดเผยในรายงาน แจ้งว่าได้ทำการปิดบัญชีที่ตรวจพบเครือข่ายของผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลและกองทัพไทย โดยใช้ IO หรือ Information Operations ในการแทรกแซงด้านข้อมูลข่าวสาร  จำนวนมากถึง 926 บัญชี

หลังจากฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทวิตเตอร์ เปิดเผยในรายงาน สรุปผลเบื้องต้น Disclosing networks to our state-linked information operations archive ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563  ว่า ได้ทำการปิดบัญชีที่ตรวจพบเครือข่ายของผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับรัฐบาลและกองทัพไทย โดยใช้ IO  หรือ Information Operations ในการแทรกแซงด้านข้อมูลข่าวสาร  จำนวน 926 บัญชี มากที่สุด ในจำนวน 5 ประเทศที่มีการตรวจพบทั้งหมด 1,534 บัญชี

ทวิตเตอร์เปิดข้อมูล ใช้ IO 926 บัญชี เชียร์กองทัพ-รัฐบาลไทย และโจมตีฝั่งตรงข้าม

ทบ.ยันไม่มี“ทวิตเตอร์อวตาร” ปฏิบัติการ IO โจมตีฝ่ายตรงข้าม

กลายเป็นคำถามไปที่รัฐบาลและกองทัพไทยทันที!!

IO หรือ Information Operations คืออะไร

จาก เอกสารศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) เรื่อง “การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : SC) และการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) ของกองทัพไทย: แนวทางการดำเนินงานในอนาคต” โดยศูนย์ ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในปี 2559

ให้ข้อมูลว่า  IO เป็น การดำเนินการเพื่อมุ่งโจมตีต่อระบบควบคุมบังคับบัญชาและสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการตกลงใจของฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่ทำการป้องกัน ฝ่ายเราจากการกระทำในลักษณะเดียวกันของฝ่ายตรงข้าม

การปฏิบัติการข่าวสารที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นการปฏิบัติทั้งเชิงรุกและเชิงรับ อย่างประสานสอดคล้อง เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านสารสนเทศ ณ จุดที่ต้องการผลแตกหัก  

"IO มีกำเนิดมยาวนาน ดังนั้น จึงมีแนวคิดทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ในช่วงปลาย ค.ศ.1970  กำเนิดของสงครามข่าวสาร (Information Warfare : IW) และระบบการสงครามโดยการบังคับบัญชาและการควบคุม (Command and Control Warfare : C2W) ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามได้รวมการขีดความสามารถหลายลักษณะเข้าด้วยกัน ดังนั้น IW และ C2W จึงได้มีการแปรเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) โดยตระหนักถึงความสำคัญของข่าวสารว่าเป็นส่วนหนึ่งของกำลังอำนาจแห่งชาติตลอดห้วงเวลา ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม"

กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ให้คำจำกัดความว่า “การสนธิการปฏิบัติต่างๆ เพื่อทำให้มีอิทธิพล ทำลาย ลดประสิทธิภาพ หรือชิงการตกลงใจ ของฝ่ายตรงข้าม (ทั้งที่กระทำโดยมนุษย์ และระบบอัตโนมัติ) และดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อฝ่ายเราในลักษณะเดียวกัน”

ขณะที่ กองทัพบก ให้คำจำกัดความ IO ว่า  “การปฏิบัติที่มุ่งสร้างผลกระทบหรือสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการตกลงใจข่าวสาร และระบบสารสนเทศของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ รวมไปถึงการปฏิบัติเพื่อป้องกันข่าวสารและระบบสารสนเทศของฝ่ายเรา”

องค์ประกอบหลัก - ขีดความสามารถหลัก ของ IO

1.การสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare: EW) หมายถึง  การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือพลังงานรูปแบบอื่น เพื่อควบคุม โจมตี ย่านความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของฝ่ายตรงข้าม หรือในบางกรณีเป็นการโจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยตรง  อาทิการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Attack: EA) คือการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือพลังงานรูปแบบอื่นในการต่อต้าน/  โจมตีต่อสิ่งอำนวยความสะดวก ยุทโธปกรณ์ หรือกำลังพลของฝ่ายตรงข้าม เพื่อมุ่งหมายที่จะลิดรอน ลด หรือทำลายขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของฝ่ายตรงข้ามการโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถกระทำได้โดยการก่อกวนสัญญาณ (jamming),การลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้อาวุธที่ควบคุมด้วยคลื่นความถี่วิทยุ/เลเซอร์

2.การปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network Operation: CNO) หมายถึง การปฏิบัติการทั้งปวงบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการโจมตี ทำลาย ลดศักย์ หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูล/ ข่าวสารในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการป้องกันเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของฝ่ายเราด้วยการปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ จึงอาจเป็นข้อจำกัดประการหนึ่ง ที่ทำให้การปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไม่สามารถกระทำได้ในทุกระดับหน่วย โดยสามารถแบ่งการปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อาทิ การโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network Attack: CNA)คือ การกระทำเพื่อขัดขวาง ปฏิเสธ โจมตี ด้อยคุณค่า หรือสร้างความเสียหาย ต่อข้อมูล/ ข่าวสารต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์

3.การปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operation: PSYOP) หมายถึง กระบวนการในการส่งผ่านข้อมูล/ สิ่งบอกเหตุ ที่ฝ่ายเราได้ กำหนดหรือเลือกไว้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดอิทธิพลต่ออารมณ์ แรงจูงใจกระบวนการคิดตามเหตุผล ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ อารมณ์ และความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย สามารถนนำไปใช้ได้ทั้งระดับยุทธศาสตร์ยุทธการ และยุทธวิธี โดยการใช้เนื้อหาของการปฏิบัติการจิตวิทยาที่เหมาะสมในจังหวะเวลาที่สมควร จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติและเพิ่มโอกาสในความสำเร็จของภารกิจ

การปฏิบัติการจิตวิทยาที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจและความสามัคคีของฝ่ายเรา และในขณะเดียวกันก็สามารถทำลายขวัญกำลังใจและความเป็นปึกแผ่นของฝ่ายตรงข้าม

4) การลวงทางทหาร (Military Deception: MILDEC) หมายถึงการปฏิบัติเพื่อให้ผู้มีอำนาจตกลงใจของฝ่ายตรงข้ามเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขีดความสามารถทางทหาร และเจตนาในการปฏิบัติของฝ่ายเรา ทั้งนี้ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามตัดสินใจผิดพลาดโดยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเราการลวงกระทำได้หลายวิธีตั้งแต่การเข้าตีลวง การแสดงลวง กลอุบายไปจนถึงการปลอมแปลง การลวงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อกระทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติการจิตวิทยาและการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการและเพื่อให้เป็นปฏิบัติการที่ได้ผล

การลวงทางทหารจะต้องให้ความสำคัญต่อระบบการรวบรวมข่าวกรองของฝ่ายตรงข้าม และแสดงให้ผู้บังคับบัญชาและฝ่ายเสนาธิการของฝ่ายตรงข้ามเห็นว่าน่าเชื่อถือหลักการทั่วไปของการลวง ได้แก่ มุ่งสร้างผลกระทบต่อเป้าหมาย,ให้ฝ่ายตรงข้ามมีปฏิกิริยาตอบสนอง, ควบคุมแบบรวมการ, มีความหลากหลาย,ให้ดูสมจริงมากที่สุด, กระทำในจังหวะเวลาที่เหมาะสม, ผนวกเข้ากับการปฏิบัติอื่นๆ,ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกลำเอียงของฝ่ายตรงข้าม, หลีกเลี่ยงการกระทำที่ขัดแย้งกันเองของฝ่ายเรา และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5) การรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ (Operation Security:OPSEC) หมายถึง กระบวนการในการระบุและวิเคราะห์ข่าวสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของฝ่ายเรา ซึ่งฝ่ายตรงข้ามสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วยการระบุการปฏิบัติของฝ่ายเราที่ระบบข่าวกรองของฝ่ายตรงข้ามสามารถเข้าถึงได้ กำหนดสิ่งบอกเหตุที่ระบบข่าวกรอง ของฝ่ายตรงข้ามอาจจะนำไปใช้ในการตีความที่เป็นประโยชน์ และการเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อขจัดหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ สามารถใช้ได้ทั้งในการปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุกและเชิงรับ

'เพื่อไทย' สับ 'รัฐบาล' หมดความชอบธรรม ใช้กองทัพทวิต IO สร้างความแตกแยก บิดเบือน

เป้าหมายของการปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุก คือ

(1) ลดศักยภาพหรือขีดความสามารถในปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม

(2) ยับยั้งปฏิบัติการและแผนปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม

(3) ยับยั้งความสามารถในการออกคำสั่งด้านยุทธการทั่วไปของฝ่ายตรงข้าม

(4) ลดศักยภาพในกระบวนการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม

(5) ชะลอปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม และ

(6) เข้าไปมีอิทธิพลเหนือการประมาณสถานการณ์ของฝ่ายตรงข้าม

ทั้งนี้ ในการปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุก เพื่อสร้างผลกระทบต่อข่าวสารและระบบข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม ได้แก่

ทำลาย (Destroy) การทำลายระบบการรบให้เกิดการสูญเสียอย่างหนักจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจได้ หรือต้องได้รับการซ่อมสร้างใหม่ทั้งหมดจึงจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้

ขัดขวาง (Disrupt) การรบกวน ขัดขวางการไหลผ่านของข้อมูลข่าวสารระหว่าง ปมการสื่อสารทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ

ลดประสิทธิภาพ (Degrade)การใช้อาวุธไม่ทำลายล้าง หรือเครื่องมือที่ส่งผลชั่วคราวเพื่อลดประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพในระบบควบคุมและบังคับบัญชา และระบบรวบรวมข่าวสาร

ปฏิเสธ (Deny) การป้องกัน/รักษาข้อมูลเรื่องขีดความสามารถและเจตนาของฝ่ายเรา ที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการ เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามตกลงใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา

ลวงหรือทำให้เข้าใจผิด (Deceive/ Misleaded)การที่ทำให้บุคคลใดๆหลงเชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นจริง

ขยายผล (Exploit) การส่งเสริมให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับข้อมูลผิดๆอันจะนำไปสู้การเข้าใจผิด

มีอิทธิพล (Influence) การกระทำที่ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ที่เราต้องการ มีพฤติกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายเรา

ขณะที่ การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : SC) หมายถึง“ ความพยายามของรัฐบาลในการปฏิบัติการที่มุ่งต่อการทำความเข้าใจและปฏิบัติต่อเป้าหมายสำคัญ เพื่อเสริมสร้างหรือรักษาสภาวการณ์หรือเงื่อนไขที่สนับสนุนผลประโยชน์ นโยบาย และวัตถุประสงค์ของรัฐบาล โดยอาศัยการใช้โครงการแผนงาน หัวข้อ ข้อความ และผลผลิตที่ประสานสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกส่วนในมิติพลังอำนาจแห่งชาติ ”

 

ที่มา :เอกสารศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) เรื่อง “การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : SC) และการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) ของกองทัพไทย: แนวทางการดำเนินงานในอนาคต” โดยศูนย์ ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ