ส่อวุ่น กกต.กำหนดให้ผู้อายุไม่ถึง 18 มีสิทธิ์เลือกตั้ง อบจ.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ส่อวุ่น กกต.กำหนดให้ผู้อายุไม่ถึง 18 มีสิทธิ์เลือกตั้ง อบจ.

“บิ๊กป้อม”สั่งการมหาดไทย “ปกป้องสถาบัน-เร่งแก้ยากจน"

"นักเรียนเลว"ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ 21 พ.ย. ขับไล่"บิ๊กตู่"

เมื่อวันที่ (6 พ.ย. 2563) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานจะต้องเป็นกลาง จัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวว่า หลักเกณฑ์คุณสมบัติมีสิทธิเลือกตั้งที่ กกต.ออกประกาศมา ขัดกับ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 พล.อ.อนุพงษ์ ตอบแค่ว่า ให้ไปถามเรื่องนี้กับกกต.

โดยจุดเริ่มต้นของประเด็นนี้เกิดขึ้นจากเอกสารที่การเตรียมการเลือกตั้ง ที่ถูกส่งให้นายทะเบียบทุกจังหวัด ตั้งแต่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื้อหาของเอกสารช่วงหนึ่งระบุถึง หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี โดยในวงเล็บของเอกสาร บอกว่า ต้องเกิดก่อนวันที่ 22 ธันวาคม 2545

มีข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงเป็นวันที่ 22 ธันวาคม ทั้งที่ วันเลือกตั้งถูกกำหนดไว้ในวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งเมื่อทีมข่าวย้อนไปดูการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ก็พบว่า เมื่อ 24 มีนาคม 2562 ที่จัดการเลือกตั้งส.ส. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ต้องเกิดก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2544 หรือหากย้อนไปดูการเลือกตั้งอบจ.ปี 2555 ซึ่งครั้งนั้น การเลือกตั้งแต่ละจังหวัดจัดไม่พร้อมกัน จึงมีการกำหนดกติกาไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในปีที่จัดการเลือกตั้ง และเมื่อไปดู พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งเมื่อตรวจสอบดู พบว่า ในมาตรา 38(2) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง

โดยทีมข่าวพูดคุยกับรองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเข้าข่ายขัดกับพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก ตามข้อสังเกตที่ทีมข่าวตั้งขึ้น 

รองศาสตราจารย์ยุทธพร ยังบอกอีกว่า กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ของไทย นับอายุบุคคลต่างกัน คือ กฎหมายแพ่ง จะนับจนครบรอบวันเกิด ยกตัวอย่างเช่น น.ส. เอ เกิดวันที่ 20 ธันวาคม 2545 เวลา 18.00น.  น.ส.เอ ก็จะอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ในเวลา 18.00น. ของวันที่ 20 ธันวาคม หมายความว่า ในช่วงจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 20 ธันวาคม น.ส.เอ ยังอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์  ซึ่งหากกำหนดผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแบบกฎหมายแพ่ง จะต้องกำหนด ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คือ คนที่เกิดก่อนวันที่ 20 ธ.ค. 2545 แต่หากกำหนดแบบกฎหมายอาญา จะนับแบบวันชนวัน คือ เลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคม 2563 คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเป็นคนที่เกิดก่อนภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 หรือ เกิดก่อนวันที่ 21 ธันวาคม

 

รองศาสตราจารย์ยุทธพร กล่าวต่อว่า ตามกติกาจะนิยมนับอายุตามกฎหมายแพ่ง มากกว่า กฎหมายอาญา เพราะ เป็นเรื่องสิทธิของบุคคล ไม่ใช่เรื่องของการกระทำความผิด

กรณีนี้ รองศาสตราจารย์ยุทธพร บอกว่า ไม่มีกติกาใดกำหนดว่า ต้องเป็นคนที่เกิดก่อนวันที่ 22 ธันวาคม 2545 การกำหนดเกินไป 2 วัน หากเทียบกับอัตราการเกิดของคนไทย พบว่า จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งที่ยังอายุ ไม่ถึง 18 ปี ประมาณ 50,000 คน

แต่เมื่อถามว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อผลการแพ้ชนะของการเลือกตั้งหรือไม่ รองศาสตราจารย์ยุทธพร บอกว่า ไม่น่าจะส่งผลมาก เพราะ คนเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่จะกระทบ คือ จะทำให้ หากมีคนไปร้องขอให้ตรวจสอบ อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

 

ทั้งนี้ทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลไปยังแหล่งข่าวในกกต. ยอมรับว่า อาจมีความผิดพลาดในเรื่องนี้จริง ตอนนี้อยู่ระหว่างการทบทวน คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ