"อภิสิทธิ์" จี้ "ประยุทธ์" ส่งสัญญาณให้ ส.ว.ผ่าน 7 ร่างแก้ไข รธน.ลดขัดแย้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การโหวตรับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 7 ฉบับ ในการประชุมรัฐสภา เป็นแนวทางที่ผู้อภิปรายในเวทีสาธารณะภาคประชาชน ส่วนใหญ่ เห็นพ้องว่าจะช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองขณะนี้ได้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีว แนะ “พล.อ.ประยุทธ์” ควรใช้เวทีในสภา ประกาศจุดยืน ส่งสัญญาณให้ ส.ส. และ ส.ว. เร่งผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 7 ฉบับ

รังสิมันต์ ถามส.ว.ไม่อยากแก้รธน. เพราะหวงอำนาจใช่หรือไม่

ส.ว. ค้านตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรธน.หนุนแก้เองรายมาตรา

ข้อเสนอนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอในเวทีสาธารณะภาคประชาชน หัวข้อ “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย ที่จัดโดย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป.

นายอภิสิทธิ์ มองว่า การลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน หากที่ประชุมรัฐสภา ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การคลี่คลายวิกฤตการเมือง ทำได้ยาก แต่ถ้าจะเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย รัฐสภาควรที่จะรับร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับ รวมถึงร่างของไอลอว์ด้วย ส่วนเนื้อหาจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ก็สามารถไปถกเถียงกัน ผ่านกรรมาธิการ แปรญัตติ รวมไปถึงการทำประชามติสอบถามประชาชนได้อีกครั้ง

นายอภิสิทธิ์ ยังระบุว่าท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์” รวมถึง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ทำให้สังคมสับสนถึงความจริงใจในการเดินหน้าแก้ไจรัฐธรรมนูญของรัฐบาล พร้อมมองว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้ร่างทั้ง 7 ฉบับผ่าน ก็ควรแสดงท่าทีในรัฐบาล ส่งสัญญาณให้กับ ส.ส. และ ส.ว. ให้ชัดเจน

ส่วนข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า เป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าจะเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับข้อเสนอให้ยุบสภาฯ ก็ยังไม่ใช่ทางออก เพราะยังต้องเลือกตั้งใหม่ตามกติกาเดิมและปัญหาเดิมก็จะกลับมาอีก

ด้านนายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา การลงมติรับหรือไม่รับหลักการวันที่ 17-18 พฤศจิกายน จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ จึงต้องคิดเพื่อที่จะช่วยหาทางออก ยืนยันว่าส่วนตัวจะรับหลักการในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร. ยกร่างฉบับใหม่ ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน และจะรับหลักการแก้ไขรายมาตรา ในมาตรา 272 ที่ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

กรณี ส.ส.และส.ว. บางส่วน ยื่นญัตติเพื่อขอมติที่ประชุมรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายคำนูญ มองว่า ไม่เข้าข้อกฎหมาย และยืนยันว่าจะโหวตไม่เห็นด้วย

ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดยภาคประชาชนหรือ iLaw นายคำนูญ ไม่ตอบว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่กังวลว่าร่างของภาคประชาชนได้เขียนหลักการและเหตุผลไว้ค่อนข้างยาวและละเอียด ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการและแปรญัตติได้

แต่นายอภิสิทธิ์ เห็นแย้งว่า ยังมีช่องทางที่พิจารณาร่วมกันได้ และไม่อยากให้รีบปฏิเสธร่างแก้ไขของภาคประชาชน เพราะจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งไม่จบสิ้น

บนเวทีเสวนา ยังเห็นตรงกันว่า ปัญหาและวิกฤตทางการเมือง ขึ้นอยู่กับการแสดงความจริงใจของ "พล.อ.ประยุทธ์" ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงควรออกมาประกาศโรดแมปให้ชัดเจน ว่าควรทำทุกกระบวนการให้จบทั้ง 3 วาระ ภายในเดือนธันวาคม จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องลาออก เพื่อให้เลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ มาบริหารประเทศไปพลาง ระหว่างที่ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ