รู้จัก สยามไบโอไซเอนซ์ ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งเดียวของอาเซียน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ความคืบหน้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 มีมาเป็นระยะๆ หนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด และ แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกันผลิตวัคซีน วัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ซึ่งประเทศไทยโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ของไทย จะเป็นผู้ผลิตวัคซีนดังกล่าวและกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยความคืบหน้าล่าสุดวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด และ แอสตร้าเซนเนก้า ได้ผล 70% และไทยจะสามารถซื้อวัคซีนโควิด-19 ในฐานะผู้ร่วมผลิตราคาหลอดละประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 151 บาท) ต่อหลอด โดยคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบ 6,049,723,117 บาท สำหรับสั่งจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดส ครอบคลุมการรักษาคนไทยร้อยละ 20 ของประชากรหรือ 13 ล้านคน และอย่างที่กล่าวไปไทยในฐานะผู้ร่วมผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประวัติความเป็นมาสำคัญยิ่งต่อประชาชนชาวไทย

เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”

“อนุทิน” เผย ไทยจองวัคซีนโควิด-19 หลอดละ 151 บาท จองแล้ว 26 ล้านโดส

บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มาจากพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด

โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยา เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ มีการวิจัยพัฒนาและผลิตครบวงจร ตั้งแต่ตัวยาสำคัญและสารออกฤทธิ์ จนถึง ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

ขณะที่ บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2553 เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและการขายทั้งในประเทศและส่งออก รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และในปี 2560 เครือสยามไบโอไซเอนซ์ ได้มีการจัดตั้งบริษัทลูกอีก 2 บริษัท เพื่อต่อขยายธุรกิจ คือ

บริษัท เอบินิส จำกัด เพื่อวิจัย พัฒนา ผลิตและส่งออกยาชีววัตถุอย่างครบวงจร เน้นยารักษาโรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง และ โรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน เป็นต้น โดยเป็นบริษัทร่วมทุนกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจยาอันดับหนึ่งของคิวบา

และบริษัท อินโนไบโอคอสเมด จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชีวเวชสำอาง ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยและพัฒนาของเครือฯ

พร้อมผลิต วัคซีนโควิด-19 เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด

โดยในหนังสือแสดงเจตจำนงระบุว่า

“ ทุกฝ่ายตกลงจะทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิตของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา”

ขณะที่ แอสตร้าเซนเนก้า จะจัดสรรวัคซีนวิจัยดังกล่าวโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกันนี้จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ ในการติดตั้งกระบวนการผลิต

นั้นหมายความว่าหากในอนาคตอันใก้ลวัคซีนโควิด-19 ได้ผลดี กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับวัคซีนวิจัย AZD1222 หลังจากผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โดยมีเป้าหมายเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับประชาชนชาวไทยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564

หนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

ด้าน พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า เครื่องจักรดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนวิจัย AZD1222 เพื่อป้องกันโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า โดยหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้ารวมทั้งขั้นตอนของ อย. คาดว่า วัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้ในกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลจาก : https://www.siambioscience.com/

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ