36ข่าวแห่งปี : “เหยียดผิวสี” สู่คดี “จอร์จ ฟลอยด์” จุดประกาย “Black Lives Matter” ทั่วโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พีพีทีวี นิวมีเดีย คัดเลือก 36 ข่าวแห่งปี 2563 ย้อนดูคดี จอร์จ ฟลอยด์ ชนวนเหตุการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและสีผิวทั่วโลก

มนุษย์กำหนดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นตัวบ่งชี้ชนชั้นฐานะ ตั้งแต่เงินตรา ยศฐาบรรดาศักดิ์ ถิ่นกำเนิด รูปร่างหน้าตา ไปจนถึง “สีผิว”

36ข่าวแห่งปี : เส้นทางโรยด้วยตะปู บนถนนสายการเมือง “อนาคตใหม่” ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ชนวนการเมืองร้อน

36ข่าวแห่งปี : ฆาตกรรมอำพราง "น้องชมพู่" กะเทาะปมสังคมป่วย ความลับ ยังจับไม่ได้ ยังไปไม่ถึง

“ความขัดแย้งทางสีผิว” เป็นหนึ่งในปมขัดแย็งที่ดำเนินเรื่อยมาหลายร้อยปีโดยยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลง เพราะในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า ความคิดความเชื่อบางอย่างซึ่งฝังรากลึกอยู่สังคมกลับยังคงทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

1 สัปดาห์แห่งความโกรธแค้น เกิดอะไรขึ้นบ้างในคดี “จอร์จ ฟลอยด์”

สาเหตุหลัก ๆ ที่เชื่อว่าทำให้ความขัดแย้งทางสีผิวในสหรัฐฯ รุนแรง ต้องย้อนไปเมื่อ 400 ปีก่อน ช่วงยุคอาณานิคม ชาวยุโรปเดินทางเข้ามาแสวงโชคในดินแดนแห่งใหม่นี้ และเกณฑ์เอาชาวแอฟริกัน หรือที่เรียกในสมัยนั้นว่า “ทาสผิวดำ” มาใช้แรงงาน

เสียงของคนผิวดำ ท่ามกลางความแตกแยก ในสังคมอเมริกัน

“คนผิวขาว” ในยุคนั้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะเจ้านาย จึงถือตนว่าเหนือกว่าเหล่าทาสแอฟริกัน ซึ่งความคิดนั้นยังคงส่งผ่านต่อมาถึงปัจจุบัน ในลักษณะที่ว่า ชีวิตคนผิวขาวมีคุณค่ามากกว่าคนผิวดำ

ในขณะเดียวกัน สังคมอเมริกันก็เกิด “ภาพเหมารวม (Stereotype)” ว่า คนผิวดำมักเป็นคนร้าย เป็นอาชญากร กลายเป็นความหวาดกลัวและความเกลียดชัง

และในปี 2563 นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งโลกได้เห็นว่า ความหวาดกลัวและเกลียดชังคนผิวดำนั้น ยังคงมีอยู่จริงในสังคมอเมริกัน ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เห็นถึงการเบ่งบานของ “ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ” ผ่านการประท้วงที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์นั้น

แน่นอน เรากำลังพูดถึง “การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (Killing of George Floyd)”

“จอร์จ ฟลอยด์” เป็นหนุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน อายุ 46 ปี เป็นคุณพ่อลูกสอง เกิดและโตที่รัฐเท็กซัส เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์ไอ โดยเขาเป็นนักกีฬาฟุตบอลและนักบาสเกตบอลมหาวิทยาลัย

ในปี 2550 ฟลอยด์ถูกจับในข้อหาปล้นทรัพย์ และในปี 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 5 ปี เมื่อพ้นโทษออกมาในปี 2557 ฟลอยด์ก็ย้ายจากเท็กซัสมาอยู่ที่เมืองมินนิอาโปลิส (Minneapolis) รัฐมินนิโซตา (Minnesota) เพื่อหางานทำ และเริ่มต้นชีวิตใหม่

ฟลอยด์ทำงานถึง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งขับรถบรรทุกและเป็นการ์ดของบาร์แห่งหนึ่ง ด้วยความสูง 200 ซม. ทำให้คนที่นี่เรียกเขาว่า "บิ๊กฟลอยด์" แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด บาร์และธุรกิจหลายอย่างต้องหยุดชะงัก ฟลอยด์ก็พลอยตกงานไปด้วย

25 พฤษภาคม 2563 จุดเริ่มต้นของ Black Lives Matter

ในวันดังกล่าว จอร์จ ฟลอยด์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อสินค้า นายตำรวจ เดเร็ก ชอวิน (Derek Chauvin) จึงเข้าควบคุมตัวด้วยการใส่กุญแจมือ และตรึงฟลอยด์ไว้กับพื้นโดยใช้เข่ากดไว้ที่คอของฟลอยด์เป็นเวลานาน 8 นาที 46 วินาที

จากบันทึกวิดีโอโดยผู้ที่อยู่ละแวกนั้น ได้ยินเสียงฟลอยด์พูดซ้ำ ๆ ว่า “ผมหายใจไม่ออก (I can’t breathe)” ในที่สุด ฟลอยด์ก็หมดสติ และเสียชีวิตก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาล

การจับกุมฟลอยด์ที่สังคมเชื่อว่าเกินกว่าเหตุครั้งนี้ ยังมีนายตำรวจอีก 3 นายร่วมการจับกุมด้วย ได้แก่ เถา เต้า (Tou Thao) เจ. อเล็กซานเดอร์ คูเอง (J. Alexander Kueng) และ โทมัส เค. เลน (Thomas K. Lane)

วันต่อมา วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย เมดาเรีย อาร์ราดอนโด (Medaria Arradondo) หัวหน้าตำรวจมินนิอาโปลิส ได้ไล่นายตำรวจทั้ง 4 ที่เกี่ยวข้องในการจับกุมฟลอยด์ออก และยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ FBI ทำการสืบสวน หลังจากวิดีโอของผู้ที่เห็นเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่า สำนวนคดีที่ถูกส่งมาแตกต่างจากภาพในคลิปหลักฐาน

คืนวันเดียวกันนั้น ผู้ประท้วงหลายร้อยคนหลั่งไหลเข้ามาในถนนเมืองมินนิอาโปลิส ผู้ประท้วงบางคนไปล้อมบ้านของเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 นาย ในขณะที่ผู้ประท้วงอีกส่วนไปที่สถานีตำรวจ ขว้างปาก้อนหินใส่ พ่นสีวาดกราฟฟิตีลงบนรถตำรวจ และจุดไฟเผาอาคารร้างใกล้สถานี

การประท้วงเกิดขึ้นในหลายเมือง เช่น เมมฟิส ลอสแอนเจลิส จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยางใส่ฝูงชน ธุรกิจบางแห่ง รวมถึงร้านอาหาร และร้านอะไหล่รถยนต์ ถูกจุดไฟ มีมิจฉาชีพอาศัยช่วงชุลมุน เข้าไปขโมยทรัพย์สินจากร้านค้าต่าง ๆ เกิดเหตุจลาจล

เกิดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องในโลกออนไลน์ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์ อาทิ #JusticeForGeorgeFloyd (ความยุติธรรมเพื่อจอร์จ ฟลอยด์), #icantbreathe (ผมหายใจไม่ออก) และ #BlackLivesMatter (ชีวิตคนดำก็มีค่า) ซึ่งกลายมาเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางไปทั่วทั้งโลก

วงการกีฬาร่วมโพสต์ต้านเหยียดผิว #blacklivesmatter

ผลชันสูตรศพจอร์จ ฟลอยด์ แย้งกับผลชันสูตรของทางการ

ตำรวจผู้ก่อเหตุถูกจับ แต่การเรียกร้องยังไม่จบ

ต่อมาในวันที่ 29 พฤษภาคม ชอวินถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาทำให้คนตายโดยไม่เจตนาฆ่า แต่เจตนาก่อให้เกิดอันตราย (third-degree murder) และข้อหาทำให้คนตายโดยประมาท (second-degree manslaughter)

กระนั้นการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนผิวสีและต่อต้านความรุนแรงของตำรวจยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในมากกว่า 100 เมืองทั่วทั้ง 50 รัฐในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับในประเทศอื่น ๆ ซึ่งครอบคลุมหลายทวีป ทั้งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย

เมื่อการประท้วงในสหรัฐฯ ขยายวงกว้างมากขึ้น มาตรการรับมือของตำรวจก็รุนแรงตามขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจในหลายเมือง และมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ทำให้หลายเมืองในสหรัฐฯ ประกาศเคอร์ฟิว รวมถึงประกาศเรียกพลกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) เพื่อควบคุมสถานการณ์ มีผู้ประท้วงมากกว่า 10,000 คนถูกจับกุมจากการออกมาประท้วง

ทั้งนี้ หนึ่งในสิ่งที่ผู้ประท้วงทั่วโลกต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ มุมมองความคิดที่สังคมมีต่อคนผิวสี

ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา (2556-2562) เกิดคดีตำรวจทำให้ผู้ต้องสงสัยถึงแก่ความตายในสหรัฐอเมริกาเกือบ 7,700 คดี โดยผู้เสียชีวิตกว่า 2 ใน 3 เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน

ผู้คนในหลายประเทศทั่วโลกร่วมประท้วงการตายของ “จอร์จ ฟลอยด์”

หลายชาติเตือนปชช.เลี่ยงชุมนุมต้านเหยียดสีผิวหวั่นติดโควิด-19

แม้เกิดการเรียกร้อง แต่คนผิวสียังคงเสียชีวิตด้วยน้ำมือตำรวจอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนสิงหาคม เจคอบ เบลค ชายผิวสีวัย 29 ปี ถูกตำรวจยิงปืนใส่หลายนัดระหว่างถูกจับกุมจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้สถานการณ์ความไม่พอใจที่ยังไม่มอดดับลงลุกโหมขึ้นมาอีกครั้ง ประชาชนหลายร้อยคนออกมาระบายความโกรธเกรี้ยวจนกลายเป็นความโกลาหล โดยเฉพาะในเมืองเคโนชา รัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ

ตามมาด้วยเหตุการณ์ในเดือนกันยายน เมื่อเจ้าหน้าที่จากเซาธ์ลอสแองเจลิส วิสามัญฆาตกรรม ดิฌง คิซซี่ ชายหนุ่มผิวสีวัย 29 ปี ระหว่างถูกจับกุมคิซซี่ได้ชกเข้าไปที่หน้าของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง พร้อมทั้งทำปืนพกกึ่งอัตโนมัติที่ซ่อนไว้ในเสื้อผ้าตกลงพื้น เจ้าหน้าที่จึงยิงเข้าที่กลางหลังถึง 20 นัด แม้คิซซี่จะไม่มีอาวุธอยู่ในมือแล้ว 

ซ้ำรอยเหตุประท้วงเมืองชาร์ล็อตต์

เมื่อเดือนกันยายน 2559 เคยเกิดเหตุประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนผิวสีครั้งใหญ่เช่นกัน โดยเกิดขึ้นในเมืองชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา  หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนยิง คีธ ลามอนต์ สก็อตต์ ชายพิการผิวสีวัย 43 ปี จนเสียชีวิต

ตำรวจอ้างว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิด คิดว่าสก็อตต์เป็นคนร้ายที่กำลังหลบหนีการจับกุม และยังอ้างว่า สก็อตต์มีอาวุธปืนและไม่ยอมวางอาวุธตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องยิงใส่ ก่อนจะทราบในเวลาต่อมาว่าผู้ตายไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยที่กำลังตามหาอยู่ ซึ่งสก็อตต์เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม พยานผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่า สก็อตต์ถือแต่หนังสือเล่มหนึ่งไว้ในมือระหว่างที่เกิดเหตุ

เหตุดังกล่าวทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติ ก่อนจะบานปลายกลายเป็นความรุนแรง เมื่อผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจปราบจลาจล และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง เมื่อผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกกระสุนปืนยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส

สถิติการสังหารชาวแอฟริกัน-อเมริกันโดยตำรวจ 7 ปีที่ผ่านมา ตายเกือบ 2 พันคน

หลายเมืองสหรัฐฯ ประกาศ “เคอร์ฟิว”คุมเหตุประท้วงผิวสี

ความฝัน ของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ความขัดแย้งที่เกิดจากสีผิวเป็นประเด็นที่มีหลายคนต้องการแก้ไข หนึ่งในนั้นคือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)

ในปี 1955 ที่มอนต์โกเมอรี เกิดคดีหญิงผิวสี โรซา พาร์กส ถูกจับกุม เนื่องจากปฏิเสธที่จะสละที่นั่งบนรถเมล์ให้กับชายผิวขาว ทำให้คนผิวดำในมอนต์โกเมอรีออกมาคว่ำบาตรรถโดยสารประจำทาง

ซึ่ง มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ในฐานะบาทหลวง ได้ออกมาเป็นสื่อกลางที่เรียกฝูงชนร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้นและสีผิว ท้ายที่สุดศาลสูงสุดตัดสินให้การแบ่งแยกที่นั่งโดยสารบนรถประจำทางสาธารณะเป็นเรื่องขัดต่อกฎหมาย

หลังจากประสบความสำเร็จในการต่อสู้ครั้งนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เริ่มกลายเป็นนักเทศน์และผู้นำคนผิวดำเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางสีผิวและเชื้อชาติ

หนึ่งในผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขา คือความฝันในคำกล่าวสุนทรพจน์ “ข้าพเจ้ามีความฝัน (I Have a Dream)” ซึ่งมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีความฝันว่าสักวันหนึ่งลูกหลานของอดีตทาส และลูกหลานของอดีตผู้ครอบครองทาส จะมีโอกาสมานั่งร่วมโต๊ะฉันพี่น้องบนเนินเขาสีแดงแห่งรัฐจอร์เจียร่วมกัน … ข้าพเจ้ามีความฝัน ว่าสักวันหนึ่ง ลูก ๆ ทั้งสี่คนของข้าพเจ้าจะได้ใช้ชีวิตในประเทศที่พวกเขาไม่ถูกตัดสินที่สีผิว แต่ตัดสินที่การกระทำ”

กระนั้น ความฝันของ มาร์ติน ลูเธฮร์ คิง จูเนียร์ อาจไม่มีวันเป็นจริง ประเด็นเรื่องสีผิวที่สร้างความขัดแย้งต่อเนื่องมานานกว่า 4 ศตวรรษอาจไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่มนุษย์ฝ่ายหนึ่ง ยังคงมีอคติบดบังความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายอยู่

วันใดที่คนเห็นค่าความเป็นคนด้วยกันอย่างแท้จริงมาถึง เหตุการณ์ที่มีแต่ความสูญเสียเช่นนี้ คงไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ