36ข่าวแห่งปี : “ไอ้ไข่ฟีเวอร์” ศรัทธาพุ่งแรงในปีวิกฤต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พีพีทีวี นิวมีเดีย คัดเลือก 36 ข่าวแห่งปี 2563 กับเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บูมมากที่สุดใน พ.ศ. นี้ อย่าง “ไอ้ไข่”

ปี 2563 เป็นปีที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โควิด-19 ทำให้คนตกงาน หลายธุรกิจต้องเลิกกิจการ บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพที่ทำอยู่เพื่ออยู่รอดให้ได้ในวิกฤตที่เกิดขึ้น

36ข่าวแห่งปี : พลัง LGBT กับข้อเรียกร้อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ยังมีช่องโหว่ไม่เท่าเทียม พ.ร.บ คู่สมรส...

36ข่าวแห่งปี : จากไวรัสปริศนา สู่ โควิด-19 ไวรัสเปลี่ยนโลก

ตรวจหวย - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 ธันวาคม 2563

ในช่วงวิกฤตคุณจะฝากความหวังไว้กับใคร รัฐบาล? ความช่วยเหลือจากมูลนิธิ? รายการแนวปันสุขคลายทุกข์? หรือกระทั่ง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่เชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำตอบที่มีคนตอบมากเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอน และหากพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา ความเชื่อ ในปี 2563 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ไอ้ไข่” ผู้สร้างกระแส “ไอ้ไข่ฟีเวอร์” จากความเชื่อในการ “ขอได้ ไหว้รับ”

ไอ้ไข่คืออะไร?

คำรพ เกิดมีทรัพย์ ชาวบ้านละแวกวัดเจดีย์ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช วัดที่โด่งดังจากเรื่องไอ้ไข่ เล่าว่า คำว่า “ไอ้ไข่” เป็นคำพื้นบ้านพื้นถิ่น ที่คนในปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพ แต่จริง ๆ แล้วเป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกชื่อเด็กที่รู้จักชื่อก็ดี ไม่รู้จักชื่อก็ดี ว่า “ไอ้ไข่มานี่ซิ” “ไอ้ไข่ พ่อเอ็งไปไหน” ทั้งที่ความจริงคนนั้นอาจจะชื่อดำชื่อเขียวชื่อขาว แต่เรียกไอ้ไข่เป็นเบื้องต้น เรียกด้วยความเอ็นดู

“ทุกคนที่อายุ 90-100 ขึ้นไป ไม่ว่าอยู่ในท้องถิ่นนี้หรือไม่ เขาได้ยินชื่อไอ้ไข่นานมาแล้ว เวลาสมัยนั้นเวลาของหายก็บนไอ้ไข่ สมมติว่า ควายหลุด ไล่จับไม่ได้ ก็บนไอ้ไข่ช่วยจับควายให้ทีสิ แต่ว่าน่าแปลกมันจับได้ด้วย”

เมื่อได้ดังความประสงค์แล้วก็ต้องมีขั้นตอนการ “แก้บน” คำรพเล่าว่า ในอดีตวิธีแก้บนไอ้ไข่จะใช้วิธี “ตุง” หรือ “การม้วนหน้า”

“ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่าตุง คือม้วนหน้า จะตุงกี่ตรั้งกี่รอบก็ว่าไป ตอนนั้นก็มีการแก้บนพ่อท่านเจ้าวัด เด็กวัด เมื่อบนพ่อท่านเจ้าวัด บนเด็กวัด ตอนนั้นนามไอ้ไข่ยังไม่มา เรียกแค่เด็กวัด”

ต่อมา ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ หรือ “เที่ยงหักเหล็ก” ผู้ใหญ่บ้านที่นับถือกันว่าเข้มขลังในวิชาไสยเวท และมีฝีมือในการแกะสลักลูกมะพร้าวเป็นหน้าลิงหน้าสัตว์ เป็นงานอดิเรก เกิดนิมิตว่า มีเด็กคนหนึ่งไปขอร้องผู้ใหญ่ให้ช่วยแกะรูปให้ เด็กคนนั้นบอกว่า เราไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ไง

“ผู้ใหญ่เที่ยงก็แกะรูปแล้วอัญเชิญไอ้ไข่มาสถิตในหุ่นไม้ แล้วตั้งชื่อว่า “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” เป็นผู้ที่หาร่างให้ไอ้ไข่อยู่”

อย่างไรก็ตาม คำรพยืนยันว่า ตำนานที่เกี่ยวข้องกับไอ้ไข่นั้นไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน เพียงแต่เป็นการเล่าต่อ ๆ กันมาในพื้นที่ ไม่มีหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่คนในท้องถิ่นก็ยืนยันไม่ได้ว่าตำนานทั้งหมดเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

คำรพเล่าต่อว่า เมื่อก่อนวัดเจดีย์เป็นวัดร้าง ต่อมาพระครูเจติยาภิรักษ์ หรือ “พ่อท่านเทิ่ม” จากวัดเขาคามาอยู่ที่วัดนี้ ซึ่งท่านเป็นพระนักพัฒนาที่พัฒนาวัดมาเรื่อย ๆ เป็นที่เคารพศรัทธาของคนในละแวกนั้น และเป็นพระรูปแรกที่สร้างเหรียญไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์รุ่นแรกขึ้นมา สร้างเพื่อตอบแทนญาติโยมที่มาร่วมบุญในวันฉลองพัดยศ

ต้นกำเนิดแรงศรัทธา “จตุคามรามเทพ-ไอ้ไข่”

ไอ้ไข่ทำเศรษฐกิจเมืองนครโตหลายพันล้านบาท

เดิมไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์เป็นที่รู้จักกันแต่ในพื้นที่ในระดับความเชื่อท้องถิ่น แต่โด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากมีคนมีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับวัดแห่งนี้ ประกอบกับอิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดีย จึงยิ่งทำให้ความศรัทธาแพร่หลายในวงกว้าง แม้แต่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมเยือนต่อวัน 1-2 หมื่นคน

ศุภชัย โจมฤทธิ์ คณะทำงานวัดเจดีย์บอกว่า ปัจจุบัน ภาพรวมความนิยมของวัดเกิดจากกระแสการ “ขอได้ ไหว้รับ” หรือการศรัทธาในตัวไอ้ไข่วัดเจดีย์ ทำให้เกิดทิศทางที่ดีขึ้นในระบบเศรษฐกิจของชุมชน ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และระดับภูมิภาค

“ไอ้ไข่ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ เมื่อก่อนขาวบ้านว่างงาน เกิดช่องว่างจากพิษของเศรษฐกิจ ทางฐานรากที่มีรายได้น้อย ก็มีผลกระทบ แต่พอช่วงที่คนรู้จักไอ้ไข่ จุดพีคของไอ้ไข่เกิดขึ้น ชุมชนมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ ตอนนี้เงินสะพัดมาก ไม่ว่าในตัวเมืองก็ดี ผู้ประกอบการที่พักใน อ.สิชล อ.ขนอม สินค้าการเกษตรผลหมากรากไม้ขายดิบขายดีตาม” ศุภชัยบอก

ด้านอิงอร คงชู รองผู้อำนวยการ ททท.สนง.นครศรีธรรมราช ยืนยันข้อมูลสอดคล้องกันว่า  ในช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ที่ผ่านมา กระแสการเดินทางเข้าสู่นครศรีธรรมราชคึกคักมาก แทบไม่ได้รับผลกระทบด้านการเดินทางท่องเที่ยวจากโควิด-19

“ที่เกิดกระแสฟีเวอร์อยู่ในตอนนี้ก็คือตาไข่วัดเจดีย์ เป็นแม่เหล็กใหญ่เลยที่ดึงดูดให้คนทั่วทุกสารทิศมา ทำให้เศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชคึกครื้นและคึกคักมาก ถนนทุกสายมุ่งสู่นครศรีธรรมราช ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร ต่างได้รายได้กันถ้วนหน้า เนื่องจากกระแสศรัทธา เพราะว่าตอนนี้คนนิยมหาในเรื่องของศรัทธา หาที่พึ่งทางใจ ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะฉะนั้นนครศรีธรรมราชคือตัวตอบโจทย์”

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน หรือไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ช่วงเดียวกัน เติบโตขึ้น 35% จากประมาณ 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านคน ส่วนรายได้ในจังหวัดเพิ่มประมาณ 26% จากราว 5 พันล้านบาท ปีนี้พุ่งขึ้นเป็น 6.4 พันล้านบาท

“จตุคามรามเทพ” ถึง “ไอ้ไข่วัดเจดีย์” ผู้รักษาเศรษฐกิจเมืองนคร?

ศรัทธาแพร่หลายจนต้องมี “ลิขสิทธิ์”

จากกระแสความศรัทธา “ไอ้ไข่” โดยเฉพาะที่วัดเจดีย์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นออริจินัล ทำให้มีหลายวัดนำไอ้ไข่ไปตั้งไว้ในวัดให้ผู้คนกราบไหว้บูชา จนเกิดประเด็นดราม่าเรื่องลิขสิทธิ์ของไอ้ไข่

พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ หรือ อาจารย์แว่น เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ออกมาท้วงติงผ่านสื่อมวลชนว่า ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ที่คนนครฯ เคารพศรัทธาบูชากันมาเป็น 100 ปี นั้นอยู่ที่วัดเจดีย์ ไม่น่าจะมีการอัญเชิญไปที่ไหนง่ายดายก็ได้อย่างที่พบเห็นทุกวันนี้  มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเกาะกระแส โดยหวังเงินทอง ไม่อยากให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อ โดยทางวัดจดลิขสิทธิ์ทุกอย่าง เกี่ยวกับไอ้ไข่ ทั้งหนังสือประวัติ รูปปั้น ความเป็นมา

ข้อมูลจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า วัดเจดีย์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไอ้ไข่ หลายรายการ เป็นงานนิพนธ์ ประวัติไอ้ไข่ วัตถุบูชา รูปหล่อ ผ้ายันต์ มีการจดลิขสิทธ์ไว้โดยมีวัดเจดีย์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ 11 รายการ

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงว่า เจ้าอาวาสวัดเจดีย์สามารถฟ้องแพ่ง-อาญา ผู้ที่แอบอ้างสร้างไอ้ไข่ปลอมได้ โทษสูงสุดปรับ 8 แสนบาท จำคุก 4 ปี

ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ศรัทธานี้มีลิขสิทธิ์ ปรากฏการณ์ฟีเวอร์ทุกทิศ สู่ "​ศรัทธาพาณิชย์"

ผ่านพ้นแม้เจอโควิด-19 หรืออุทกภัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงโควิด-19 ธุรกิจด้านออนไลน์มาแรงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า อาหาร บริการต่าง ๆ ซึ่งลามมาถึงธุรกิจสายมูที่ปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ เกิดเป็นธุรกิจ “รับแก้บนออนไลน์”

นิวมีเดีย PPTV พบว่า ร้านขายสินค้าแก้บนไอ้ไข่จำนวนมากปรับกลยุทธ์สู่ธุรกิจออนไลน์ นอกจากขายสินค้าแก้บนแล้วยังมีบริการ "แก้บนออนไลน์" "ขอพรออนไลน์" ด้วย

โดยแต่ละร้าน จัดแพ็กเกจคิดราคาต่างกันไป บ้างมีค่าบริการ บ้างบริการฟรีเพียงซื้อสินค้าแก้บนของร้าน แต่ทั้งนี้รูปแบบของแต่ละร้านจะคล้ายกัน คือ จะถ่ายภาพ ขณะนำของไปถวาย หรือคลิปขณะจุดประทัด แสดงให้ลูกค้าดู บางร้านเปิดเผยโดยแชร์ฌพสต์สาธารณะในเพจเฟซบุ๊กของร้าน

ไม่เพียงโควิด-19 เท่านั้นที่ไม่อาจขวางกั้นศรัทธาของผู้คนได้ เพราะแม้แต่ภัยธรรมชาติอย่างเหตุอุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราชช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ไม่อาจหยุดยั้งแรงศรัทธาได้เช่นกัน

จากการสำรวจของทีมข่าวตั้งแต่ถนนหน้าสนามบินนครศรีธรรมราช จุดที่เคยมีน้ำท่วมสูงมากจนต้องใช้รถทหารสำหรับขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น วันนี้ถนนทั้งสายน้ำลดไปหมดแล้ว รถยนต์สามารถสัญจรได้ปกติ ส่วนเส้นทางจากสนามบิน ผ่านอำเภอท่าศาลา เข้าวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) อ.สิชล ปรากฎว่าเดินทางได้ปกติ ไม่มีน้ำท่วมขังอยู่จุดไหน โดยเฉพาะบริเวณรอบวัดที่ก่อนหน้านี้มีน้ำท่วมสูง

กรรมการวัดเผยว่า ตั้งแต่มีข่าวน้ำท่วมนักท่องเที่ยวหายไปราว 50% ผู้คนยังดูบางตา พร้อมกับเน้นย้ำว่า น้ำท่วมรอบนี้ไม่มีผลกระทบกับวัด ทุกคนยังมาได้ตามปกติ

แบบนี้ก็ได้เหรอ! ศรัทธา "ไอ้ไข่" ฟีเวอร์ ผุดใหม่ธุรกิจรอบวัดเจดีย์ ขอพรออนไลน์ แก้บนออนไลน์ ไม่ต้องไ...

อนาคตแรงศรัทธาไอ้ไข่ ไม่อาจคงอยู่ชั่วกาล?

ผู้คนทั่วประเทศเริ่มรู้จัก “ไอ้ไข่” มาสักระยะ หากนับเป็นตัวเลขคงอยู่ที่ราว 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว นับว่ายาวนานกว่า “จตุคามรามเทพ” ซึ่งมีต้นกำเนิดจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเช่นกัน

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ไอ้ไข่ยังคงเป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่จนถึงปัจจุบัน มีอยู่ 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง “โมเดลความศรัทธาที่แตกต่างกัน” จตุคามรามเทพมีลักษณะของการเช่าบูชา คือเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังวัดหนึ่ง แล้วเช่าบูชาเหรียญจตุคามฯ กลับไป ก็อาจไม่ได้เดินทางกลับมาอีก ขณะที่ไอ้ไข่นั้นขึ้นชื่อว่าเมื่อขอหรือบนบานแล้ว ต้องเดินทางกลับมาอีก

ประการที่สอง “ไอ้ไข่เข้าถึงชาวบ้านง่ายกว่า” ในช่วงที่เกิดกระแสจตุคามรามเทพ “พีค” ที่สุด ทำให้ราคาของวัตถุมงคลที่เกี่ยวข้องพุ่งขึ้นไปหลายแสนหลายล้านบาท ทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการบูชาไอ้ไข่ดู “ชิลล์ ๆ” เข้าถึงง่าย บูชาไม่ยาก แก้บนไม่ยาก

ประการที่สาม คือ “จำนวนที่มากเกินไป” ช่วงปี พ.ศ.2550 มีการสั่งทำปลุกเสกมากกว่า 1,000 รุ่น หลายพันวัดทั่วประเทศมีจตุคามรามเทพให้กราบไหว้เช่าบูชา ผู้คนจึงเกิดความร็สึกว่า บูชาที่ไหนก็เหมือน ๆ กัน ประกอบกับเมื่อ “สินค้าล้นตลาด” ความนิยมจึงลดลงในไม่ช้า

ขณะที่ไอ้ไข่มีการ “ควบคุม” ความศรัทธา ไม่ให้เกิดการสร้างขึ้นมากเกินไป แม้จะมีบางวัดในบางจังหวัดที่สร้างรูปไอ้ไข่ขึ้นมา แต่ผู้คนก็จดจำแล้วว่า ไอ้ไข่ “ออริจินัล” ต้องมาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

กลยุทธ์การแพร่กระจายความศรัทธาที่ต่างกัน ส่งผลให้ระยะเวลา “ฟีเวอร์” แตกต่างกัน

กระนั้น แม้กระแสไอ้ไข่ฟีเวอร์จะโด่งดังต่อเนื่องเป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษแล้ว ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่ากระแสจะคงอยู่ต่อไปอีกกี่ปี กี่สิบปี หรือร้อยปี แต่โดยสัจธรรมของโลก ทุกสิ่งล้วน เกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วดับไป ไม่เว้นแม้แต่ความศรัทธา

คุณศุภชัย โจมฤทธิ์ คณะทำงานวัดเจดีย์ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “ตามสัจธรรม มีเกิดก็มีดับ มีสูงก็มีต่ำ มีดำก็มีขาว มีแข็งก็มีอ่อน นั่นคือสัจธรรมที่เราอย่าไปยึดให้มันเยอะ ยึดเอาปัจจุบัน เดินหน้าไปในสิ่งที่ถูกต้อง เดินไปแล้วย้อนกลับถามตัวเองว่า เส้นที่เราเดินไปถูกหรือไม่ ถ้าผิดเรากลับมาใหม่ มาทำให้ถูก ถ้าถูกแล้วก็ไปต่อ ไปต่อให้มันสุด ๆ จนให้มันถึงจุดที่ว่า จบแล้ว”

36ข่าวแห่งปี : คอหวยต้องจารึก เลขเด็ด 232 ปีมีครั้ง หวย 1 ก.ย.ออก 999997 แถมปีนี้มีงดออกรางวัล

โมเดลศรัทธาที่แตกต่าง ทำไม “ไอ้ไข่” เป็นกระแสนานกว่า “จตุคามฯ”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ