เปิดสายพาน “ตลาดกุ้ง” จุดเริ่มต้นโควิดระบาด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วงจรการค้ากุ้ง พบว่ามีคนหลายกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้อง และ พฤติกรรมการซื้อขายกุ้ง รวมถึงอาหารทะเล มักใช้การดม เพื่อ ตรวจดูว่า อาหารทะเลสดหรือไม่ นี่ถือเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้การแพร่ระบาดโควิด-19 กระจายได้รวดเร็ว

สั่งทูตพาณิชย์ เร่งแจงประเทศนำเข้าอาหารทะเล ย้ำ "อาหารทะเลไทยปลอดภัยจากโควิด-19"

องค์การแรงงานเมียนมาเรียกร้องรัฐบาลไทย "รับแรงงานเข้าประเทศกว่า 60,000 คน"

จุดเริ่มต้นของวงจรการค้ากุ้ง เริ่มต้นที่ บ่อกุ้ง จุดนี้มีความเชื่อมโยงของแรงงานหลายกลุ่ม เช่น เจ้าของบ่อกุ้ง ผู้ได้รับการประมูล แรงงานที่ทำหน้าที่ลากกุ้งขึ้นจากบ่อ ซึ่งมีทั้งแรงงานคนไทย แรงงานข้ามชาติ พ่อค้าคนกลาง รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนก็มาเลือกซื้อกุ้งที่บ่อเอง เมื่อลากกุ้งขึ้นจากบ่อ พ่อค้าคนกลาง หรือ คนที่ทำหน้าที่ขนส่ง จะนำกุ้งไปส่งตามตลาดใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นตลาดค้าปลีก เช่น ตลาดกลางค้ากุ้ง ตลาดมหาชัย ตลาดไท โดยหมายความว่า หากมีใครสักคนในวงจรนี้ มีเชื้อโควิด-19 ก็มีโอกาสสูงที่เชื้อจะส่งต่อไปให้คนอื่น ๆ

เมื่อไปถึงตลาดค้าปลีก เช่น ตลาดกลางค้ากุ้ง ในตลาดจะมีทั้ง พ่อค้าคนกลาง แรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่มาซื้อไปขายต่อ และ ซื้อไปประกอบอาหาร รวมถึง มีกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนด้วย หากมีเชื้อโควิด-19 แพร่กระจายอยู่ คนเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงได้รับการแพร่เชื้อไปด้วย จากนั้น หากพ่อค้าแม่ค้าขายปลีก นำไปขายต่อในตลาดย่อย เช่น ที่ตลาดทะเลไทย พ่อค้า-แม่ค้าแต่ละแผง ก็จะขายทั้งกุ้ง และอาหารทะเลอื่น ๆ ซึ่งจะมีประชาชนทั่วไปมาเลือกซื้อ รวมถึง แผงย่อยๆเหล่านี้อาจมีแรงงานข้ามชาติเป็นคนขายแทน

ขณะที่ผู้บริโภคที่มาเลือกซื้อ ส่วนใหญ่มักใช้ การดมอาหารทะเล เพื่อดูว่า สดใหม่ หรือไม่  นั่นหมายความว่า จะมีการสัมผัสอาหารทะเลด้วยมือเปล่า ต่อกันเป็นทอดๆ หากมีใครสักคนติดโควิด-19 มีโอกาสสูงที่เชื้อจะแพร่กระจายต่อกัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ในตลาดสดเหล่านี้ อากาศภายในจะชื้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้เชื้อโควิด-19 อยู่ในนานและแพร่กระจายได้เร็วมากกว่าในพื้นที่อากาศร้อน  นอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อ โควิด-19 เพราะต้องคอยพูด ตะโกนเรียกลูกค้า และคอยจับอาหารอยู่ตลอด

 

ทีมข่าวยังพบว่า พฤติกรรมของแรงงานเมียนมา ก็มีความเสี่ยงทำให้การแพร่ระบาดโควิด-19 กระจายได้เร็วมากขึ้น ซึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ผ่าน วิดีโอคอล เล่าว่า แรงงานเมียนมา มีวัฒนธรรมการเข้าสังคมสูง จะเดินทางไปมาหาสู่กันในวันหยุด ทั้งในพื้นที่เดียวกัน และนอกพื้นที่ ซึ่งมีเครือข่ายกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ที่ จังหวัดสมุทรสาคร จะรวมกันอยู่ที่ตลาดมหาชัย กรุงเทพอยู่ที่ บางบอน, พระราม 2, ตลาดกิ่งเพชร, อิมพีเรียล ลาดพร้าว ส่วนจังหวัดสมุทรปราการ จะรวมกันอยู่ที่สำโรง  และจังหวัดปทุมธานีจะมีมากอยู่ที่ตลาดกีบหมู ถ. สุเหร่า คลอง 1 แม้ว่าแต่ละจุดจะมีเส้นทางค่อนข้างไกล แต่แรงงานกลุ่มนี้มักเดินทางไปมาหาสู่กันทุกวันหยุด ส่วนมากใช้รถสาธารณะในการเดินทาง ทั้งรถประจำทาง และ รถแท็กซี่

นอกจากนี้ ยังพบวา แรงงานกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานรับขวัญเด็กเกิดใหม่ ของเพื่อน ๆ และญาติ  โดยจะจัดงานในห้องพักเล็กๆ  ทำอาหารทานร่วมกัน และมีวัฒนธรรมการใช้มือรับประทานอาหาร และใช้ภาชนะร่วมกันด้วย ส่วนที่พักอาศัย แรงงานเมียนมา ส่วนใหญ่จะพักอาศัยเป็นกลุ่ม อยู่ในชุมชนเดียวกัน  ตึกเดียวกัน ห้องละจำนวนมากๆ เอยู่กับเพื่อน อยู่กับคนในหมู่บ้านเดียวกันที่มาทำงานร่วมกัน หรืออยู่กันเป็นครอบครัว

ตามข้อมูลพบว่าเฉพาะที่สมุทรสาคร มี แรงงานข้ามชาติ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเมื่อดูพฤติกรรมของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และ โอกาสในการแพร่ระบาดโควิด-19 ในวงการอาหาร จะเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่โควิดจะแพร่ระบาดมากขึ้น 

 

ด้าน สมพงค์ สระแก้ว  ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จึงอยากให้ ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการนิรโทษกรรมกลุ่มแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะ ตามกฎหมายเดิมหากตรวจพบ แรงงานหลบหนีเข้าเมืองจะ จับและส่งกลับประเทศ แต่ในช่วงนี้ หากใช้มาตรการนี้อาจทำให้แรงงานผิดกฎหมาย ยิ่งหลบหนีการตรวจโควิด และจะยิ่งทำให้การแพร่ระบาดโควิด-19 กระจายไปทั่วพื้นที่

ซึ่งตามข้อมูลของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ พบว่า เฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติ รวม 4 แสนคน แต่ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในระบบ เพียง 2.4 แสนคน  ส่วนอีกกว่า 1 แสนคน เป็นแรงงานนอกระบบ 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ