36ข่าวแห่งปี : วัคซีนโควิด-19 กับสงครามที่ยังไม่สิ้นสุด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พีพีทีวี นิวมีเดีย คัดเลือก 36 ข่าวแห่งปี 2563 เรื่องราวของวัคซีนโควิด-19 ความหวังของมวลมนุษยชาติที่อาจจะพาเรารอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2019 หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรายงานโรคปอดปริศนาแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน

36ข่าวแห่งปี : จากไวรัสปริศนา สู่ โควิด-19 ไวรัสเปลี่ยนโลก

36ข่าวแห่งปี : เมื่อโลกล็อกดาวน์ธรรมชาติก็ฟื้นคืน

36ข่าวแห่งปี : “New Normal” วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในโลกที่เปลี่ยนแปลง

ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจเกิดคำถามว่า “วิกฤตโควิด-19” จะสิ้นสุดลงเมื่อใด? บ้างตอบว่าเมื่อมีวัคซีน บ้างบอกว่าไม่มีวันจบ เพราะโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป

หลังจากจีนเผยแพร่ลำดับพันธุกรรมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้ทั่วโลกได้ศึกษาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2020 ความคิดเรื่องการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคก็เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่เริ่มคิดค้นพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ยังไม่พ้นเดือนมกราคม

โดยปกติ การสร้างวัคซีนต้นแบบจะเริ่มจากการคิดค้นประเภทของวัคซีน รวมถึงวิธีการทำงาน แล้วนำมาทดสอบในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง เป็นขั้นบันไดแรกที่จะติดสินว่าวัคซีนนี้รอดหรือไม่รอด ถ้าไม่ผ่าน ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ถ้าผ่าน สัตว์ทดลองไม่ตาย สามารถสร้างภูมิคุ้นกันได้ ก็ไปต่อการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ ซึ่งมี 3 เฟส แบ่งตามจุดประสงค์ในการทดสอบ

เฟส 1 จะเน้นทดสอบเรื่องความปลอดภัย ต้องการอาสาสมัครหลักสิบ ประมาณ 50 คน

เฟส 2 เน้นทดสอบความปลอดภัย และภูมิคุ้มกันวิทยา อาสาสมัครขยายจำนวนเป็นหลักร้อย เช่น 500 คน และเริ่มคัดเลือกโดสที่เหมาะสมในมนุษย์ อาจจะตัดวัคซีนตัวที่ไม่จำเป็นออกไป

เฟส 3 ทดสอบในอาสาสมัครจำนวนหลักพัน คละเชื้อชาติ อายุ เน้นทดสอบความปลอดภัย ภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน หากตัวใดตัวหนึ่งตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อ จะสามารถพัฒนาเพื่อขึ้นทะเบียนต่อไปได้

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมา วัคซีนที่ได้รับการพัฒนาเร็วที่สุดคือวัคซีนป้องกันโรคคางทูมเมื่อปี 2510 ใช้เวลาพัฒนา 4 ปี

แต่สถิติดังกล่าวใกล้ถูกทำลาย เพราะวัคซีนโควิด-19 กำลังจะไปถึงจุดที่พัฒนาสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 1-2 ปีเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้จะมีการนำวัคซีนมาฉีดในกลุ่มเสี่ยงจริง ๆ แล้วในบางประเทศ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุดอยู่ โดยปัจจุบันมีวัคซีนโควิด-19 จาก 3 บริษัทที่ได้รับการยอมรับ และเริ่มใช้งานจริงในบางประเทศ ได้แก่

วัคซีนโควิด-19 “BNT162b2” โดย ไฟเซอร์-BioNTech

บริษัท Pfizer ประกาศจับมือกับบริษัท BioNTech SE เพื่อร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 BNT162” โดยจะต่อยอดการใช้เทคโนโลยี Messenger RNA (mRNA) ของ BioNTech จากการต้านมะเร็ง มาใช้ต้านโควิด-19 แทน

วัคซีนชนิด mRNA จะบรรจุพันธุกรรมที่สร้างโปรตีนโคโรนาไวรัสที่เรียกว่าโปรตีนหนาม เมื่อฉีดเข้าไปในเซลล์ วัคซีนจะทำให้เซลล์สร้างโปรตีนขัดขวางซึ่งจะถูกปล่อยเข้าสู่ร่างกายและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้จดจำการสร้างโปรตีนที่ใช้ในการขัดขวางเชื้อโควิด-19

จากนั้นปลายเดือนเมษายน เยอรมนีอนุญาตให้ Pfizer และ BioNTech SE ทำการทดสอบทางคลินิก วัคซีน BNT162 ในมนุษย์ได้ จากนั้นได้มีการยื่นเรื่องไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อดำเนินการทดสอบควบคู่กันไป

เมื่อได้รับอนุญาตให้ทำการทดสอบทางคลินิกได้ ทีมวิจัยไม่รอช้า การทดสอบทางคลินิกเฟส 1 ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม โดยใช้วัคซีน BNT162 จำนวน 4 ชนิดที่แตกต่างกันในการทดสอบ

ส่งผลให้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ผลทดสอบเฟส 1/2 ออกมาเป็นไปในทางบวก เป็นผลลัพธ์เบื้องต้นจากอาสาสมัครที่รับวัคซีน 4 ชนิด และตัดสินใจในอีก 2 สัปดาห์ถัดมาว่า วัคซีนชนิด BNT162b1 และ BNT162b2 มีความก้าวหน้ามากที่สุดจากทั้ง 4 ชนิด

วัคซีน BNT162 ทั้ง 2 ชนิดได้รับสถานะ Fast Track จากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ทำให้ทางบริษัทได้รับการผ่อนคลายกฎระเบียบจาก FDA ส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

กระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม Pfizer และ BioNTech ประกาศเริ่มต้นการทดสอบทางคลินิกด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพเฟสที่ 2/3 ในที่สุด และหลังจากผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา บริษัทประกาศผลทดสอบเฟส 3 โดยพบว่า วัคซีน BNT162b2 มีประสิทธิภาพมากกว่า 90%

ทีมวิจัยรายงานพบหลักฐานว่า วัคซีน BNT162 สามารถต้านเชื้อโควิด-19 ได้ในอาสาสมัครที่ไม่เคยและไม่มีเชื้อในร่างกายจำนวน 43,538 คน การวิเคราะห์ประสิทธิภาพนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลอิสระ (DMC)

ล่าสุด อังกฤษเป็นประเทศแรกที่นำวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์มาฉีดจริง โดย มาร์กาเร็ต คีแนน (Margaret Keenan) หญิงวัย 90 ปี เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ (Pfizer) หลังจากระบบบริการสาธารณสุขอังกฤษ (NHS) ได้อนุมัติให้ใช้ และเริ่มฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เป็นวันแรก โดยเรียกว่าเป็น “วันวีเดย์ (V-Day)”

หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และ BioNTech เดินทางถึงสหรัฐอเมริกา ทำให้ วันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนชาวอเมริกันทยอยได้รับวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยคนแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ในสหรัฐอเมริกาคือ พยาบาลประจำแผนกผู้ป่วยหนัก แซนดรา ลินด์เซย์ (Sandra Lindsay) ซึ่งทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 มานานหลายเดือน เป็นหนึ่งในหกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ที่ต้องได้รับวัคซีนโควิด-19

ล่าสุด ประเทศใกล้ ๆ เราอย่างสิงคโปร์เพิ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ล็อตแรกเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีการประกาศเตือนจากสาธารณสุขอังกฤษว่า ผู้ที่มี “ประวัติอาการแพ้รุนแรง (เช่น Anaphylaxis)” ไม่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ หลังพบผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์แล้วเกิดอาการแพ้ในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา

อาการแพ้รุนแรง เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบฉับพลัน โดยมากมักเกิดภายใน 5-30 นาทีหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดรับประทาน อาจมีความรุนแรงถึงชีวิต

“ผู้ที่มีประวติอาการแพ้รุนแรง” หมายความถึง ผู้ที่แพ้วัคซีน แพ้ยา แพ้อาหาร แล้วมีอาการตอบสนองรุนแรง รวมถึงผู้ที่แพทย์สั่งให้ต้องพกอะดรีนาลีนรักษาอาการแพ้แบบพกพา คนกลุ่มนี้ทั้งหมดไม่ควรรับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์

สัญญาณของอาการแพ้วัคซีน ประกอบด้วย ผื่นคันที่ผิวหนัง มีอาการหายใจถี่ และใบหน้าหรือลิ้นบวม มีข้อแนะนำด้วยว่า “การฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ควรดำเนินการเฉพาะในสถานที่ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉินครบครัน”

ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า ในผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ 100 ล้านคน อาจมีผู้สดงอาการแพ้ 50,000-100,000 คน

วัคซีนโควิด-19 “mRNA-1273” โดย โมเดอร์นา

หากเทียบช่วงเวลาที่เริ่มต่อสู้กับโควิด-19 โมเดอร์นา อิงค์ ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ก้าวออกมาแสดงความจำนงต้องการสร้างวัคซีนโควิด-19 เป็นแห่งแรก ๆ ของโลก เริ่มก่อนไฟเซอร์ราว 2 เดือน

หลังจากที่ประเทศจีนเผยแพร่ข้อมูลลำดับพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โมเดอร์นาได้เริ่มพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA (messenger RNA) เทคโนโลยีเดียวกับที่ไฟเซอร์ใช้ในการพัฒนาวัคซีน BNT162

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทฯ พัฒนาวัคซีน mRNA-1273 เพื่อการทดสอบทางคลินิกชุดแรกสำเร็จ และเริ่มการทดสอบในเฟส 1 ช่วงกลางเดือนมีนาคม ระหว่างการทดสอบเฟส 1 โมเดอร์นาได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาทางชีวการแพทย์ขั้นสูง (BARDA) รวมถึงได้รับ Fast Track จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA)

กระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม โมเดอร์นาประกาศข้อมูลการทดสอบทางคลินิกเฟส 1 พบว่า ผลลัพธ์ของวัคซีน mRNA-1273 ออกมาในทางบวก จึงเร่งดำเนินการพัฒนาต่อ และเริ่มการทดสอบเฟส 2 ในปลายเดือนเดียวกัน

ต่อมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โมเดอร์นาเริ่มต้นการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 และใช้เวลากว่า 2 เดือนในการทดสอบ จนประกาศความสำเร็จในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา

จากการทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครกว่า 30,000 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19เพียง 95 คน โดยอยู่ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) 90 คน ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 โดส 5 คน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA-1273 โดยประมาณอยู่ที่ 94.5%

การแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการแถลงวัคซีนโควิด-19 ของ จากบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และ BioNTech เพียง 1 สัปดาห์

วัคซีนของโมเดอร์นาได้รับการรับรองว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงถึง 94 เปอร์เซ็นต์ สามารถจัดเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ใกล้เคียงกับอุณหภูมิตู้แช่แข็งทั่วไป ต่างจากวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ที่ต้องแช่ไว้ในอุณหภูมิเย็นจัดราว -75 องศาเซลเซียส ยากต่อการขนส่ง

ล่าสุด สหรัฐอเมริกาเพิ่งอนุมัติให้ใช้วัคซีน mRNA-1273 ในการให้บริการกลุ่มเสี่ยงได้เป็นตัวที่สองของประเทศต่อจากวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์

วัคซีนโควิด-19 “AZD1222” โดย แอสตราเซเนกา-ม.ออกซ์ฟอร์ด

ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 “AZD1222” ที่พัฒนาโดยแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของอังกฤษ พบว่ามีความสามารถในการป้องกันโควิด-19 “สูง” ทำให้มีนักวิเคราะห์มองว่า วัคซีนโควิด-19 ตัวนี้อาจมีข้อได้เปรียบบางอย่างที่วัคซีนโควิด-19 สองตัวก่อนหน้าไม่มี โดยเฉพาะเรื่องของราคาและการขนส่งโลจิสติกส์

ผลการทดลองทางคลินิกเฟส 3 เบื้องต้น พบว่า วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดมีประสิทธิภาพเฉลี่ย 70% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 นักวิจัยกล่าวว่า ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 90% หากปรับขนาดยา แต่ผลโดยรวมแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้ต่ำกว่าวัคซีนอื่น ๆ เล็กน้อย เช่นวัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ส่วนของโมเดอร์นามีประสิทธิภาพ 94.5%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการจัดเก็บ ขนส่ง และกระจายวัคซีนโควิด-19 นั้น วัคซีนของแอสตราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ดดูเหมือนจะมีข้อได้เปรียบบางประการ

ยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชกรรมของอังกฤษกล่าวว่า วัคซีน AZD1222 สามารถจัดเก็บ ขนส่ง และจัดการได้ในสภาพแช่เย็นปกติที่ 2-8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานอย่างน้อย 6 เดือน ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ต้องจัดเก็บที่อุณหภูมิ -80 องศาเซเลซียส ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นาอยู่ในนาน 6 เดือนที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิปกติ 2-8 องศาเซลเซียส จะอยู่ได้นาน 30 วัน ทำให้เมื่อเทียบกันแล้ว การจัดเก็บวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดจึงง่ายกว่ามาก

แอสตราเซเนกากล่าวว่า บริษัทสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้มากถึง 3 พันล้านโดสในปีหน้า

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาและอินเดีย ได้ตกลงที่จะสั่งจองวัคซีนของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดไว้จำนวน 500 ล้านโดส สหภาพยุโรปสั่งจองไว้ 400 ล้านโดส สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย บราซิล และประเทศอื่น ๆ แถบละตินอเมริกาจองไว้แล้วอย่างน้อย 100 ล้านโดส

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติอนุมัติงบกว่า 6 พันล้านบาท สั่งจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งสามารถครอบคลุมการรักษาคนไทยร้อยละ 20 ของประชากรหรือ 13 ล้านคน

สำหรับ การจองซื้อจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาด้วย เพื่อให้ผลิตได้เองภายในประเทศ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งและความเสียหาย ที่สำคัญวัคซีนที่สำเร็จต้องผ่านกระบวนการรับรองต่าง ๆ มีความปลอดภัยสำหรับผู้รับวัคซีน

ก่อนหน้านี้ Financial Times รายงานว่า วัคซีน AZD1222 ซึ่งต้องใช้ 2 โดสมีราคาอยู่ที่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90-120 บาท) ต่อโดสเท่านั้น ขณะที่ไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขบอกว่า จะจัดซื้อได้ในราคา 151 บาทต่อโดส ซึ่งเมื่อเทียบกับวัคซีนอีกสองตัว พบว่าราคาต่ำกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ (600 บาทต่อโดส) และโมเดอร์นา (970-1,120 บาทต่อโดส) อย่างมาก

อีกหนึ่งความหวังคือวัคซีนไทย

ถือเป็นอีกหนึ่งความหวัง ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เมื่อ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัทสตาร์ทอัปจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ต้นแบบ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสกัดจากใบพืช ที่มาจากฝีมือคนไทยเพื่อคนไทย โดยวันนี้เปิดตัวแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

เปิดตัวโครงการวัคซีนเพื่อคนไทยสนับสนุนค้นคว้าวัคซีนโควิด-19 ร่วมระดมทุนในการบริจาค 500 บาท เพียง 1 ล้านคน เพื่อพัฒนาวัคซีนต้นแบบดังกล่าว โดยเพิ่งเปิดบริจาคในวันที่ 18 ธันวาคม 2563

สำหรับการวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนาวัคซีนจากใบยาสูบ โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าโปรตีน ซับยูนิต หรือ การพัฒนาวัคซีนจากใบพืช เป็นการเพาะเลี้ยงเชื้อสารพันธุกรรมโควิด ก่อนจะนำสารพันธุกรรม ใส่ไปเลี้ยงในใบยาสูบ เพื่อให้เกิดการสร้างโปรตีนภูมิคุ้มกัน จากนั้นจะสกัดภูมิคุ้มกันในใบยาสูบนั้นออกมา เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนต่อไป โดยคาดว่าพร้อมผลิตให้กับประชาชนในประเทศไทยได้ใช้ภายในปี 2564

มีวัคซีน ≠ ปลอดโควิด-19

แม้วัคซีนโควิด-19 จะดูเหมือนเป็นข่าวดี แต่ ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการสาธารณสุขฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจอยู่คู่สังคมมนุษย์ตลอดไป แม้จะค้นพบวัคซีนแล้ว แต่การจะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคก็ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่น เอชไอวี (HIV) แม้เราจะพบวิธีรักษา และการป้องกัน แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหนเช่นกัน โดยมีอีกหลายโรค เช่น โรคหัด ที่แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่มันก็ไม่หมดไป

ด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ เคยกล่าวยกย่องความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้โลกมีวัคซีนต้านโควิด-19 ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกได้ในขณะนี้

โดยปัญหาที่กูเตอร์เรสหมายถึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หมายถึงผลกระทบอื่น ๆ จากเชื้อตัวนี้ตลอดปี 2020 เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความยากจน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบยาวถึง 10 ปี คำเตือนล่าสุดจากเลขาธิการสหประชาชาติเป็นการย้ำสติผู้คนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงหลังมานี้ กระบวนการพัฒนาวัคซีนกลายมาเป็นประเด็นหลักที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมากกว่าการระบาด

อีกประเด็นที่กูเตอร์เรสยกขึ้นมาคือ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม หลายเดือนของการระบาด เขาชี้ว่าโควิด-19 ได้เปิดเปลือยปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนความเหลื่อมล้ำ เมื่อผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายประเทศ ล้วนเป็นแรงงานที่มีฐานะยากจน เป็นผู้หญิงและเด็ก หรือเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในสลัม ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันได้ เหล่านี้คือปัญหาระยะยาวที่จำต้องได้รับการแก้ไข นั่นหมายความว่าต่อให้ในหลายประเทศ ผู้คนได้รับวัคซีนแล้ว แต่รัฐบาลยังคงมีเรื่องมากมายที่ต้องทำ

ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 จึงไม่ใช่ยาอายุวัฒนะในตำนานที่สามารถปัดเป่าภัยจากโควิด-19 ได้อย่างหมดจด แต่เป็นเพียงโล่ป้องกันหนึ่งที่ช่วยลดระดับความตึงเครียดของสถานการณ์เท่านั้น หากโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นจริง ในอนาคตข้างหน้า เราก็คงยังต้องใส่หน้ากากอนามัย พกพาเจลแอลกอฮอล์ และมีการเว้นระยะห่างทางสังคมกันไปตลอดกาล

อีกประเด็นสำคัญคือ วัคซีนโควิด-19 ที่คิดค้นในวันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการศึกษาพัฒนาไปเรื่อย ๆ ในวันข้างหน้า เพราะไวรัสต่าง ๆ มีความสามารถในการกลายพันธุ์โดยธรรมชาติ เพื่อให้มันเอาชนะวัคซีนได้ เราไม่อาจรู้เลยว่าไวรัสเหล่านี้จะพัฒนาตัวเองไปในทิศทางใด และหากวันใดเราก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสไม่ทัน วันนั้นหายนะที่ร้ายแรงกว่านี้อาจบังเกิดขึ้น

ท่ามกลางวิกฤต สิ่งที่เราควรทำคือการป้องกันตัวเองจากไวรัสร้ายให้ดีที่สุด ขณะที่ภาครัฐและเอกชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการฟันฝ่าเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ผู้นำหลายคนบอกว่าการรับมือโควิด-19 เป็นเหมือนสงคราม วัคซีนโควิด-19 จึงไม่ต่างอะไรจากอาวุธในการรับมือ แต่ไม่มีอาวุธใดที่ชนะศัตรูได้ตลอดไป สงครามกับโควิด-19 ครั้งนี้ยังไม่จบ และอาจไม่มีวันจบไปอีกแสนนาน

36ข่าวแห่งปี : สารพัดมาตรการเยียวยาฝ่า โควิด-19

36ข่าวแห่งปี พิษโควิด-19 ป่วนเศรษฐกิจโลก

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ