​เรือดำน้ำ" มัจฉานุ " เรือดำนำชุดแรกในประวัติศาสตร์ราชนาวีไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขณะที่ปัจจุบันมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทยกับประเด็นการสั่งซื้อเรือดำนำจากประเทศจีน ทุกคนตั้งคำถามถึงความจำเป็นราคาและความเหมาะสม เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2481 ที่สยามประเทศมีเรือดำน้ำเป็นครั้งแรกและหากได้อ่านแล้วพวกคุณจะพูดได้เต็มปากว่าที่กองทัพราชนาวีไทยเกรียงไกรสร้างความเกรงขามมายาวนานในอดีตได้นั้น ส่วนหนึ่งเพราะเรือดำน้ำชุดนี้


กองทัพเรือได้เริ่มความสนใจในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 ในเอกสารโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453 โดยนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสรรค์ และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ที่จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้กำหนดให้มีเรือ ส. (สับมะรีน หรือเรือดำน้ำ) จำนวน 6 ลำ



ต่อมาในปี พ.ศ.2458 นายเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงจัดทำเอกสารรายงานความคิดเห็นเรื่องเรือ ส. ระบุถึงข้อมูลแนวทางการจัดหาเรือดำน้ำ การใช้งาน และสิ่งสนับสนุนต่างๆ โดยละเอียด


ล่วงเลยถึง 20 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2478 กองทัพเรือจึงได้เริ่มการจัดหาเรือดำน้ำ โดยได้ตกลงสร้างเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ จากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิโกเบ ซึ่งทางบริษัท้ต่อเสร็จก่อนสองลำแรกในจำนวนสี่ลำ คือ เรือหลวงมัจฉานุ และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งได้มีพิธีส่งมอบเรือทั้งสองลำให้แก่ กองทัพเรือ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๐ โดยมี พระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตไทยในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีการปล่อยเรือทั้ง ๒ ลำ ซึ่งต่อมาได้ถือว่า วันที่ ๔ กันยายน ของทุกปี ถือเป็น "วันที่ระลึกเรือดำน้ำไทย"




วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๑ บริษัทมิตซูบิชิ ได้ทำพิธีส่งมอบเรือดำน้ำที่เหลืออีก ๒ ลำ คือ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ให้แก่ กองทัพเรือไทย และเมื่อกองทัพเรือได้รับมอบเรือดำน้ำครบทั้ง ๔ ลำแล้ว จึงได้เริ่มลงมือฝึกศึกษาตามหลักสูตรทางวิชาการของเรือดำน้ำเพิ่มเติมจนคล่องแคล่ว จึงได้ถอนสมอออกเรือจากเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นกลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๑


กำลังพลทั้ง ๔ ลำ ประกอบไปด้วย นายทหารสัญญาบัตร ๒๐ นาย นายทหารประทวน ๑๓๔ นาย มี นาวาตรี ซุ้ย (กนก) นพคุณ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงมัจฉานุ เรือเอก พร เดชดำรง เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงวิรุณ เรือเอก สาคร จันทร์ประสิทธิ์ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงพลายชุมพล และ เรือเอก สนอง ธนศักดิ์ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงสินสมุทร


เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ได้ออกเดินทางจากเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มาแวะจอดที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะเดินทางฝ่าคลื่นลมมาถึงฐานทัพเรือสัตหีบ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๘๑ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ ไมล์ ใช้เวลาเดินเรือและแวะเมืองท่ารวม ๒๔ วัน และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ได้ทำการออกฝึกอย่างต่อเนื่อง



เครื่องยนตเรือเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 8 สูบ กำลัง 1,100 แรงม้า จำนวน 2 เครื่อง • เครื่องยนต์มอเตอร์ไฟฟ้า 540 แรงม้า (ใช้เดินใต้น้ำ) ความเร็ว ผิวน้ำ 15.70 นอต ใต้น้ำ 8.10 นอต รัศมีทำการ 4,770 ไมล์ทะเล (8,830 กิโลเมตร)กำลังพลประจำการ เป็นทหารประจำเรือ 33 นาย เป็นนายทหาร 5 นาย พันจ่า จ่า 28 นายระบบอาวุธ ประกอบด้วยปืน ตอร์ปิโดขนาด 45 ซม. แบบ เอ.เค. เรียงทางตั้งที่หัวเรือ 4 ท่อปืนใหญ่ขนาด 8 ซม. 1 กระบอก และปืนกลลูวิสต่อสู้อากาศยานขนาด 7.7 มม. 1 กระบอก


สำหรับเกียรติคุณของเรือดำน้ำทั้งสี่ลำต่อประเทศไทยและราชนาวีไทยคือ พ.ศ.๒๔๘๓ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น กองทัพเรือ ได้ส่งเรือหลวงมัจฉานุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ไปทำการลาดตระเวนเป็นแนวหน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียมของแหลมอินโดจีน เพื่อป้องกันกองทัพฝรั่งเศสที่จะลอบเข้ามาโจมตีประเทศไทย


เรือทั้งสี่ลำจะใช้เวลาอยู่ใต้น้ำ เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ถึงวันละ ๑๒ ชั่วโมง ซึ่งปฏิบัติการณ์ในครั้งนั้น ได้สร้างความยำเกรงให้แก่ฝรั่งเศสเป็นอย่างมากซึ่งบทบาทของเรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทยนี้เป็นที่กล่าวขานถึงความกล้าหาญ เมื่อเทียบกับกำลังของมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส และนับว่ามีส่วนอย่างมากในการปกป้องประเทศจากการถูกรุกรานในเวลานั้น


แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาวุธยุทธโธปกรณ์ขายอีก กองทัพเรือจึงเริ่มขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ของเรือดำน้ำ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ประจำเรือซึ่งได้ใช้งานมาถึง ๙ ปีแล้ว โรงงานแบตเตอรี่และสีที่ตั้งขึ้นก็ยังไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ได้


ขณะที่ชาติพันธมิตรของเราก็ไม่มีนโยบายที่จะช่วยเหลือประเทศไทยในเรื่องเรือดำน้ำ กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องปลดเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำออกจากประจำการ ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ การมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทยจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันนั้น


การจะจัดซื้อเรือดำน้ำรอบใหม่ของไทยจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นอาจจะต้องประเมินจากปัจจัยรอบด้านอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความจำเป็นด้านความมั่นคงกับความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ


แต่คำกล่าวที่ว่า " เรือดำนำไม่มีประโยชน์กับราชอาณาจักรไทยเลย" อาจจะไม่จริงเสมอไป



ภาพและข้อมูลจาก เว็บ navy.mi.th , gotonow

หนังสือ : ศิริพงษ์ บุญราศรี. เรือดำน้ำแห่งราชนาวีสยาม. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, พ.ศ. 2547. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-276-277-5

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ