หมอกควันไฟอินโดฯยังวิกฤต! กระทบหลายจังหวัดภาคใต้ของไทย (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หมอกควันไฟป่าจากอินโดนีเซีย ยังปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ของไทย ส่งผลให้คุณภาพอากาศหลายจังหวัดโดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ขณะที่มาเลเซียร้องรัฐบาลอินโดนีเซียแก้ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าบนเกาะสุมาตราให้จริงจังมากขึ้น หลังปัญหาดังกล่าวยังไม่มีทีท่าจะเบาบางลง พร้อมร้องอินโดนีเซียและสิงคโปร์ จัดประชุมร่วม 3 ประเทศ หาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ผลกระทบหมอกควันจากอินโดนีเซียส่งผลต่อภาคใต้หลายจังหวัด


หมอกควันไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซีย ยังคงปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ของไทย ส่งผลให้คุณภาพอากาศหลายจังหวัด โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน


สภาพภายในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ยังคงมีหมอกควันหนาปกคลุมทั่วบริเวณ จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ที่ 169 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก ล่าสุดเจ้าหน้าที่เร่งแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนเพื่อป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพ


เช่นเดียวกับที่ จ.ยะลา หมอกควันที่ปกคลุมต่อเนื่องหลายวัน เริ่มส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษายะลาเขต 1 กำชับให้โรงเรียนในสังกัด พิจารณาการปิดเรียนชั่วคราวหากจำเป็น พร้อมจัดหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ออกให้ความรู้การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน


ที่ จ.สตูล พบผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและคนชรา ทั้งนี้นายแพทย์สาธารณสุขเตือนประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัย หากไม่จำเป็นห้ามออกนอกอาคารหรืออยู่บริเวณหมอกควันหนาแน่น โดยหากมีอาการแน่นหน้าอกหรือหืดหอบ หายใจติดขัด ให้รีบพบแพทย์ทันที


ขณะที่สภาพท้องฟ้าในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี มืดคลึ้มด้วยหมอกควัน แม้ช่วงเช้าที่ผ่านมา (5 ต.ค. 58) จะมีฝนตกลงมา แต่ปริมาณหมอกควันยังคงหนาแน่น ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นต่ำ ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยทางจังหวัดขอความร่วมมือจากประชาชน ห้ามเผาขยะ เศษวัสดุ และหญ้าริมทาง ในระยะนี้


ที่ จ.นราธิวาส ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันผลกระทบ จากหมอกควันไฟป่า โดยพื้นที่นี้มักประสบปัญหาเป็นประจำ


ส่วนท่าอากาศยานตรัง สายการบินต่าง ๆ ยังคงขึ้นลงได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการบินแต่อย่างใด


ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปัญหาหมอกควัน ส่งผลกระทบกับพื้นที่ 7 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยจังหวัดที่มีคุณภาพอากาศวิกฤติที่สุด คือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 167 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ อ.เมืองยะลา วัดได้ 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร


วิกฤตไฟป่าอินโดนีเซียกระทบเพื่อนบ้าน


ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการอินโดนีเซียตัดสินใจส่งทหารอีก 2,100 ราย เข้าไปช่วยดับไฟที่เกิดจากการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรบนเกาะสุมาตรา ทำให้จำนวนทหารและตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดับไฟเพิ่มเป็น 3,700 รายแล้ว โดยทางการอินโดนีเซียยอมรับว่า สถานการณ์ไฟไหม้เริ่มขยายวงมากขึ้น แม้สัปดาห์ที่แล้วจะมีฝนตกลงมาก็ตาม


ด้าน นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียต้องเพิ่มเพิ่มความจริงจังในการเร่งจัดการสถานการณ์ไฟป่าบนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ที่ยังคงไม่มีทีท่าจะเบาบางลงแม้ผ่านมานานหลายสัปดาห์แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันลอยมาปกคลุมน่านฟ้าของประเทศเพื่นบ้านโดยเฉพาะมาเลเซีย จนถึงขั้นต้องสั่งปิดโรงเรียนกว่า 7,000 แห่ง เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน ระหว่างวันที่ 5-6 ต.ค. 58 เนื่องจากค่าดัชนีมลพิษในอากาศสูงเกินมาตรฐาน


ขณะเดียวกัน นายนาจิบยังเรียกร้องให้อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ซึ่งยังไม่พอใจต่อมาตรฐานในการควบคุมไฟป่าของรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้จัดการประชุมร่วม 3 ประเทศเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี


ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน


ร่วมมือกันพัฒนาและบังคับใช้มาตรการเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และบรรเทามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ด้วยการควบคุมปัจจัยที่ก่อให้เกิดไฟไหม้ป่า รวมทั้งยกระดับการเฝ้าระวัง การประเมินสถานการณ์ การเตือนภัยล่วงหน้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยี และการให้ความช่วยเหลือกันและกัน

- ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทันทีที่ประเทศสมาชิกซึ่งได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดนร้องขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อจำกัดผลกระทบให้น้อยที่สุด

- บังคับใช้มาตราการทางกฎหมายหรือข้อบังคับทางการปกครอง และ/หรือมาตรการอื่นเพื่อให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง






ที่มา http://haze.asean.org/


ข้อมูลเพิ่มเติม


แทบจะทุกปี ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบกับหลายประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ระดับมลพิษจากปัญหาดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น โดยปัญหาหมอกควันดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าของเกษตรกรและบริษัทเอกชนในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเตรียมการเพาะปลูกพืชโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจหลักของอินโดนีเซีย


เมื่อถึงช่วงเดือน มิ.ย-ก.ย. ของทุกปี ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดพาหมอกควันไปปกคลุมพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ภาคใต้ของไทย และฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ 2545 ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศจึงได้จัดทำข้อตกลงความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยมีมาเลเซียเป็นประเทศแรกที่ให้สัตยาบรรณต่อข้อตกลงดังกล่าวในปี 45 ตามด้วย สิงคโปร์ บรูไน เมียนมาร์ เวียดนาม และ ไทยในปี 46


ขณะที่ ลาว กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ ลงสัตยาบรรณในปี 47 , 49, 53 ตามลำดับ ส่วนอินโดนีเซียเพิ่งให้สัตยาบรรณเมื่อปีที่ 57

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ