Bigstory! ประกาศแล้วสำหรับชื่อ กรธ.โดย คสช.“มีชัย ฤชุพันธุ์” นั่งประธานตามคาด พร้อมยืนยัน “ไม่ทำตามใบสั่งใคร” ทำให้น่าจับตาบทบาทร่างรธน. ในยุครัฐประหารครั้งนี้ของนายมีชัย ขณะที่เรื่องร้อนยังมีหลายประเด็นทั้งการทำประชามติ คณะกก.ยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งประเด็นร้อน “นายกคนนอก” ที่เป็นแผลเก่า!

"มีชัย" รับนั่งบัลลังก์ประธานคณะกรรมการร่างรธน.
ยุติคำถาม รับหรือไม่รับ ตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อวันนี้ (5 ต.ค.58) มีคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว รวมถึงการออกมาเปิดใจอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายมีชัย หลังวันนี้ได้เข้าร่วมประชุมกับ คสช. ในฐานะสมาชิก
การแถลงเปิดใจที่มีขึ้น นอกจากจะเป็นการแจกแจงเหตุผลถึงการรับตำแหน่ง ยังถือเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ในการร่างรัฐธรรมนูญของประธานคนใหม่ แต่เก่าประสบการณ์
"นายกรัฐมนตรีตอบว่ามีความจำเป็นและไม่อาจเลี่ยงได้ ตนในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งจึงไม่อาจเห็นแก่ความสุขส่วนตนและไม่สามารถปฏิเสธได้" มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
คือคำอธิบายถึงเหตุผลส่วนหนึ่งในการตอบรับนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์เปิดใจในการแถลงข่าวครั้งแรก ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี การแถลงข่าวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังสมาชิก คสช. ประชุมร่วมกันที่บ้านเกษะโกมล โดยใช้เวลาราว 1.30 ชั่วโมง ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การแต่งตั้ง คณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูป 200 คน ตามกรอบเวลา 30 วัน ของรัฐธรรมชั่วคราว หลังสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
นายมีชัย ยอมรับว่า การเข้ามารับหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย พร้อมยืนยันว่า การทำประชามติยังมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเข้าส่วนร่วมในการแสดงความเห็นต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่านายมีชัยต่อรองให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยการยกเลิกการทำประชามติ แลกกับการเข้ามาทำหน้าที่ประธานในครั้งนี้
การประชุมนัดแรก นายมีชัย ได้นัดหมายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีก 20 คน ในวันพรุ่งนี้ เวลา 13 นาฬิกา 30 นาที ที่อาคารรัฐสภา โดยคาดหมายว่า นอกจากจะเป็นการทำความรู้จักและพบหน้ากันอย่างครบถ้วนครั้งแรก ยังจะมีการพูดคุยกรอบในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนจะมีแนวทางการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. เหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วหรือไม่ นายมีชัยไม่ได้ปฏิเสธหรือยอมรับชัดเจน แต่ระบุว่าเป็นเรื่องที่ต้องหารือในที่ประชุมคณะกรรมการฯอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าการเข้ามารับหน้าที่ครั้งนี้ จะไม่มีใครสั่งให้เขียนร่างตามความต้องการได้
สำหรับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สามารถแต่งตั้งทีมที่ปรึกษาได้อีกไม่เกิน 9 คน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุม คสช. ได้ขอให้พยายามเชิญบุคคลที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นที่ปรึกษา และขอให้กระชับโรดแมปให้สั้นลง พร้อมรับฟังความเห็นอย่างหลากหลาย
ส่วนการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 200 คน แม้จะไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเหมือนสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช.ที่สิ้นสภาพลง แต่ก็ยังมีเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่จับตา คือ สัดส่วนของอดีต สปช. และสัดส่วนของทหาร ตำรวจ โดยรายชื่อที่ปรากฎออกมาในการแต่งตั้งครั้งนี้ ในจำนวน 200 คน มีสมาชิกสปช.เดิม 61 คน ทหาร-ตำรวจ 49 คน ข้าราชการเกษียณ 25 คน ข้าราชการประจำ 23 คน นักวิชาการด้านต่างๆ 13 คน นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง 10 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสภาต่างๆ 19 คน
ถ้าเปรียบเทียบบทบาทหลังจากนี้ ระหว่างคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน กับสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูป 200 คน ดูเหมือนความสำคัญจะมาอยู่ที่ 21 ขุนพลเนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้กำหนดให้คณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญต้องส่งร่างฉบับสมบูรณ์ให้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปลงมติรับหรือไม่รับร่างฯเหมือนเมื่อครั้งมีสถานะเป็น สปช.
ส่วนผสมของ 21 ขุนพลในคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นองค์ประกอบที่หลายฝ่ายจับตา เพราะนั่นอาจหมายถึงเป้าหมายของการสร้างกติกาสูงสุดของประเทศนับจากนี้
ส่วนผสมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 13 คน รวมนายมีชัย ฤชุพันธ์ ในกลุ่มนี้ยังมีนายทหารอดีตผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบกอย่างพลตรีวิระ โจรนวาศ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ พลเอกนิวัติ ศรีเพ็ญและพลเอกอัฎฐพร เจริญพานิช ข้าราชการจากคณะกรรมกฤษฎีกาทั้งปัจจุบันและอดีต และนักวิชาการด้านกฎหมาย
ด้านการเมือง-การปกครอง 3 คน, ด้านสังคม 1คน, ต่างประเทศและการทูต 2คน, นิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน 1 คน และความมั่นคงอีก 1 คน
หากดูองค์ประกอบของ 21 ขุนพล ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามแต่งตั้งในวันนี้ ก็ดูเหมือนมีความพยายามให้เกิดความหลากหลาย หากมองในแง่ของความเชี่ยวชาญ แต่ในแง่ของแนวคิดก็คงจะวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่อีกครั้ง หลังเริ่มเห็นเค้ารางของเนื้อหา นายมีชัย เปิดเผยว่า 21 อรหันต์ คือ รายชื่อที่คสช.โดยนายกรัฐมนตรีคัดเลือกมาส่วนหนึ่ง และมีบุคคลที่ตัวเองเสนอให้เพิ่มเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง จนกลายเป็น 21 รายชื่อสุดท้าย
นอกจากรายชื่อ วันนี้คสช.ยังกำหนดกรอบการทำร่างธรรมนูญที่ทั้ง 21 คนจะต้องยึดเป็นหลักในการเขียนรัฐธรรมนูญ 5 กรอบใหญ่ๆประกอบด้วย
1. ต้องมีเนื้อหาที่นานาชาติหรือสากลให้การยอมรับ แต่ก็ต้องไม่ขัดกับสภาพปัญหาทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่ไทยเผชิญ รวมถึงประเพณีและวัฒนธรรมที่มีลักษณะ// น่าสนใจว่า 2 เงื่อนไขนี้ จะมีส่วนทำให้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นอย่างไร
2. ต้องมีกลไกผลักดันหรือหลักประกันว่าการปฏิรูปและปรองดองจะได้รับการสานต่อ
3. ต้องสามารถป้องกันกลุ่มการเมืองใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยเงินแผ่นดินไปกระทำในลักษณะที่กรอบนี้ใช้คำว่าอ่อยเหยื่อประชาชน หรือ สรุปให้เข้าใจง่ายๆคือ การป้องกันการดำเนินนโยบายลักษณะประชานิยม
4. สร้างแนวทางป้องกันการทุจริต
5. คือสร้างกลไกมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์ประเทศ
นอกจาก 5 กรอบนี้ยังมีกรอบการทำงานที่จะต้องปฏิบัติตามกรอบของมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดหลักการในการร่างรัฐธรรมนูญไว้เป็นกรอบ 10 ข้อ เนื้อหาหลักคือลักษณะทั่วไปของรัฐธรรมนูญคือ กำหนดให้ไทยเป็นอาณาจักรเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ให้มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนที่เหลือก็มีใจความคล้ายๆกับ 5 กรอบใหญ่ของคสช.เมื่อสักครู่ ซึ่งทั้งหมดนายมีชัยระบุว่า จะนำมาเป็นกรอบใหญ่ในการทำงาน แต่โจทย์ที่ใหญ่มากกว่า คือ การทำให้เนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย พร้อมยืนยันเบื้องต้นว่าการทำงานรับจากนี้จะยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก โดยที่จะไม่มีการเขียนตามใบสั่งของใครอย่างแน่นอน
แผลเก่า "มีชัย" เปิดทางนายกฯคนนอก รธน.ปี2534
การร่างรัฐธรรมนูญให้เนื้อหาได้รับยอมรับถือเป็นโจทย์ที่แม้แต่ตัวของนายมีชัยเอง ยังยอมรับว่าเป็นงานยาก แต่งานที่อาจจะยากและหินกว่า คือ บทบาทตัวเองในอดีต ที่ถือว่าเป็นต้นตอของแรงต้านที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน
ในแง่ของประสบการณ์ที่เติบโตมาตั้งแต่รับราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จนกระทั่งมารับตำแหน่งสำคัญทั้งรักษาการนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา คงไม่มีใครปฏิเสธถึงฝีมือและความสามารถ แต่สำหรับบทบาทที่เคยได้รับการทาบทามเข้ามาทำงานสำคัญทุกครั้งในช่วงรอยต่อของการยึดอำนาจรัฐประหาร ดูเหมือนว่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ยากจะอธิบายให้ได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มหนึ่ง
หากไล่เลียงบทบาทจากปัจจุบัน นายมีชัยมีสถานะเป็นพลเรือนส่วนน้อยในฐานะสมาชิกคสช.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารจากเหล่าทัพต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆคือส่วนในการกำหนดโรดแมปหรือกรอบเวลาก่อนการเลือกตั้ง
ย้อนกลับไปเมื่อการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ที่นำพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.
นายมีชัย ก็เข้าไปมีบทบาทในการร่างคำสั่ง แถลงการณ์ให้กับ คปค.หลายฉบับ และร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวในยุคนั้นร่วมกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณและนายวิษณุ เครืองาม ก่อนจะประกาศถอนตัวไป เพราะกระแสต้านจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเดียวกัน คือ บทบาทในอดีต
และหากย้อนไปไกลกว่า ก็เคยมีบทบาทเป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2534 จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับและขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"
แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อน หรือ แผลเก่า คือ การมีบทบาทเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีเนื้อหาเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หรือเรียกสั้นๆว่า "นายกรัฐมนตรีคนนอก" ชนวนเหตุของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2535 มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก หลังประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านสภาผู้แทนราษฎรเลือกพลเอกสุจินดา คราประยูร กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช.ได้ประกาศคืนอำนาจที่รัฐประหารมาจากรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
การลงมติเลือกพลเอกสุจินดาครั้งนั้นของสถาผู้แทนราษฏร เกิดขึ้นหลัง ส.ส.เลือกเลือกนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เป็นนายกฯ แต่เพราะมีปัญหาคุณสมบัติ ทำให้ ส.ส.ขณะนั้น หันมาลงมติสนับสนุนพลเอกสุจินดา เพราะรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ไม่ได้ห้ามให้คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดความไม่พอใจของประชาชนจำนวน ที่มองว่าเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจของ รสช.และพลเอกสุจินดา
แม้เรื่องนี้จะผ่านมากว่า 20 ปี แต่ด้วยอดีตของนายมีชัยที่เคยมีบทบาทร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 หรือ ฉบับปัญหาในครั้งนั้น ทำให้ถึงวันนี้ญาติของคนที่เคยสูญเสียจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอย่างนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ยังออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เมื่อได้ยินชื่อของมีชัย ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้น
ยิ่งแนวคิดเดียวกัน คือ การกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในลักษณะเปิดทางให้คนนอกที่ไม่ได้มาจาการเลือกตั้งสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกลงมติคว่ำในที่สุด ก็ยิ่งทำให้มีความหวาดระแวงเรื่องนี้เกิดขึ้น โดนเฉพาะเมื่อประธานเวลานี้ คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์
นายกรัฐมนตรีคนนอกและข้อกล่าวหาการสืบทอดอำนาจอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และยังไม่อาจตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกนับจากนี้หรือไม่ แต่ก็ถือเป็นบทเรียนเดิมหรือแผลเก่า ที่วันนี้ Big Story! หยิบยกมาย้ำเตือนความทรงจำ เพื่อเป็นประสบการณ์ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือสูญเสียอย่างที่เคยเกิดในอดีต
อ่านข่าวประกอบเพิ่มเติม
"ชัย ชิดชอบ-คุณหญิงพรทิพย์-พะจุณณ์" รวม อดีต สปช. แห่นั่งเก้าอี้ "สปท." | PPTV Thailand http://www.pptvhd36.com/news/15878 #PPTVHD
เปิดรายชื่อ 21 อรหันต์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) | PPTV Thailand http://www.pptvhd36.com/news/15854 #PPTVHD
ตามคาด! "มีชัย ฤชุพันธุ์" ตอบรับ นั่ง ปธ. กรธ. ยํ้าการทำงานไม่มีใบสั่ง | PPTV Thailand http://www.pptvhd36.com/news/15845 #PPTVHD
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้