​ภัยกระสุน "ตำรวจ" ลั่นไกตามวิจารณญาณ? (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




Bigstory! ภัยกระสุน "ตำรวจ"ลั่นไกตามวิจารณญาณ? พร้อมเปิดคู่มือฝึกยุทธวิธีตำรวจ ป้องกันภัยกระสุน

ตร.ชุดล่อซื้อยาสารภาพลั่นไก

ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 รับสารภาพเป็นคนลั่นไกเพื่อยิงสกัดผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด แต่ลูกหลงไปถูกเด็กนักเรียนหญิงที่นั่งรถมากับมารดา พร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การแถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันนี้ (9 ต.ค.58) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ศานิต มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วยชุดปราบปรามยาเสพติดจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 แถลงข่าวพร้อมระบุว่า นายตำรวจคนที่คาดว่าจะเป็นผู้ยิงปืนจนทำให้เด็กนักเรียนหญิงได้รับบาดเจ็บ เป็นคนเข้าแสดงตัวให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะคาดว่ากระสุนปริศนาน่าจะเป็นกระสุนปืนของตนเองที่ลั่นไกระหว่างปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด

เบื้องต้นมีการสั่งการให้นายตำรวจคนดังกล่าวและชุดทำงานปราบปรามในวันเกิดเหตุรวม 5 คน มาช่วยราชการชั่วคราวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ และหากพบว่าการปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตของกฎหมายก็จะต้องดำเนินคดีตามกฏหมาย

หลังการแถลงข่าวตำรวจได้พานายตำรวจคนดังกล่าวไปเยี่ยมเด็กหญิงที่ถูกลูกหลงเพื่อขอโทษมารดาผู้เสียหาย พร้อมแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับอาการบาดเจ็บของเด็กนักเรียนหญิงขณะนี้อาการดีขึ้น รอการผ่ากระสุนออกจากร่างกาย ซึ่งครอบครัวจะย้ายผู้เสียหายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลกรุงเทพต่อไป

ย้อนรอยคมกระสุนตำรวจฝังร่างเด็กหญิง

แม้ตำรวจจะค่อนข้างแน่ใจว่า กระสุนปริศนาเป็นกระสุนของตำรวจการล่อซื้อยาเสพติด เพราะตรวจสอบเหตุการณ์อาชญากรรมโดยรอบในวันเกิดเหตุไม่ปรากฎข้อมูลว่า มีเหตุการณ์ใดเข้าข่ายที่จะทำให้เกิดสถานการณ์นี้ แต่ในทางการดำเนินคดีตามกฎหมายยังคงต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงอีกหลายประการ

หลังเกิดเหตุนายตำรวจนายนี้เข้ามอบปืนคู่กายให้หัวหน้าชุดปฏิบัติงาน เพราะคาดว่ากระสุนปริศนา ที่ฝังอยู่ในร่างกายเด็กนักเรียนหญิง น่าจะเป็นกระสุนที่ตนเองเป็นคนยิงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ล่อซื้อยาเสพติด

ร่องรอยกระจกหน้ารถที่เด็กนักเรียนนั่งมาระหว่างเกิดเหตุ ผ่านการจำลองเหตุการณ์ของกองพิสูจน์หลักฐาน แสดงให้เห็นว่า วิถีกระสุนไม่ห่างจากปากซอยสวนสยาม 6 มากนัก สอดคล้องกับคำให้การของนายตำรวจนายนี้และสายล่อซื้อยาเสพติด ที่ระบุว่าในระหว่างนั้นคนร้ายไหวตัวว่าเป็นการล่อซื้อตำรวจทำให้ชักปืนขึ้น นายตำรวจนายนี้จึงเหนี่ยวไกเพื่อป้องกันตัว

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าการปฏิบัติงานในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดให้ความสำคัญมาตลอด ยอมรับว่ายังมีข้อผิดพลาดต่างๆซึ่งต้องดูปัจจัยในแต่ละครั้งว่าเกิดขึ้นจากอะไร

สถานะในเวลานี้ของตำรวจนายนี้ยังเป็นเพียงผู้เข้าข่ายกระทำความผิด เพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ที่ต้องรอให้แพทย์ผ่าหัวกระสุน หลักฐานชิ้นสำคัญออกจากร่างกายเด็กหญิง หากหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นความผิดจริง โทษในคดีความนี้เข้าข่ายการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฏหมาย คือ มีเหตุสมควรที่ต้องใช้อาวุธปืน การกระทำครั้งนี้ก็จะเข้าข่ายไม่มีความผิด

จากข้อมูลพบว่านายตำรวจนายนี้ อายุเพียง 29 ปี ก่อนหน้านี้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในส่วนงานสืบสวนสอบสวน และเพิ่งย้ายมาทำงานเป็นชุดปราบปราบยาเสพติด กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้ เพียง 6 เดือน

เปิดคู่มือฝึกยุทธวิธีตำรวจ ป้องกันภัยกระสุน

หากย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการจับกุมยาเสพติดได้รับผลพวงจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

เหตุการณ์ลักษณะเดียวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ในช่วงที่ผ่านสำนักตำรวจแห่งชาติเคยมีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ ด้วยการออกคู่มือฝึกยุทธวิธีประจำสถานีตำรวจ เพราะทุกครั้งที่ที่ความเสียหายเกิดขึ้น ก็มักมีคำถามใหญ่ถึง 2 ประเด็นใหญ่ คือ ความชำนาญในการใช้อาวุธ และความชัดเจนของหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจลั่นไกที่สาธารณะ

ครั้งล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2556 ในสมัยที่พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่ปิดคดีน้องฟลุ๊ค เด็กน้อยวัย 9 ขวบ ที่เสียชีวิตจากคมกระสุนของตำรวจระหว่างล่อซื้อยาเสพติดจากญาติของเด็กคนนี้ ราว 2 เดือน โดยได้มีออกประกาศเป็นคำสั่งให้ทุกสถานีตำรวจใช้คู่มือฝึกยุทธวิธีประจำสถานีตำรวจฉบับปี 2556 ซึ่งเขียนขึ้นจากบุคลากรที่ได้รับการอบรมจากวิทยากรฝ่ายยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ

ในคู่มือฉบับนี้แบ่งออกเป็นการฝึกในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหลายสถานการณ์หนึ่งในนั้นคือ การฝึกยิงปืนพกขั้นพื้นฐาน กำหนดกฎการใช้อาวุธปืนำไว้ 4 ข้อ ประเด็กสำคัญอยู่ที่ข้อ 2 และ ข้อ 4 คือ การกำหนดหลักปฏิบัติไม่ให้ตำรวจเล็งอาวุธปืนไปในทิศทางที่ไม่ตั้งใจหรือทำลาย พร้อมตรวจสอบเป้าหมายเสมอ โดยห้ามเล็งไปในทิศทางอื่นที่อาจทำให้กระสุนสะท้อนกลับหรือแฉลบ

ทั้งหมดก็ให้เป็นกรอบกำหนดให้เป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตรการฝึกยิงปืนพกขั้นพื้นฐานของตำรวจ ที่กำหนดไปในคู่มือการฝึกฉบับนี้หน้า 113 คือ การยิงปืนพกต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธผล อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ต้องถูกเป้าหมายที่ต้องการยิง ไม่ว่าจะต้องการให้ถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บ เพื่อให้กระสุนที่ยิงไม่ไปถูกประชาชนผู้บริสุทธิ์

เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบความถี่ในการฝึกตามคู่มือนี้ สิ่งหนึ่งที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ซึ่งถือเป็นนายตำรวจที่ทำงานอยู่ในสายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและเข้ามีบทบาทในคดีนี้เน้นย้ำ คือ การยืนยันว่าตำรวจมีการฝึกตามหลักมาตรฐานต่อเนื่อง แต่การฝึกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองของเจ้าหน้าที่เป็นลำดับแรก

ลั่นไกตาม "วิจารณญาณ" ภัยกระสุนตำรวจ

หากเป็นไปตามที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชี้แจง นั่นหมายความว่าการตัดสินใจเหนี่ยวไกของตำรวจแต่ละครั้งจะอาศัย "วิจารณญาณ"ของผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหลัก สอดคล้องกับตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแบบฝึกยุทธวิธีตำรวจ ที่ครูฝึกยิงปืนให้กับตำรวจคนหนึ่งให้ข้อมูลกับทีมข่าว PPTV โดยระบุนี่คือปัญหาใหญ่หากเทียบกับประเทศที่มีเกณฑ์และมาตรฐานการตัดสินใจใช้ปืนของตำรวจชัดเจนอย่างสหรัฐฯ

ตามหลักสูตรที่ฝึก ครูฝึกยุทธวิธีตำรวจเปิดเผยว่า เป้าหมายใหญ่ของการพกปืนของตำรวจและอาจรวมถึงคนทั่วไป คือ พกไว้เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้างเท่านั้น และระดับการใช้อาวุธปืนของตำรวจมีเพียง 2 เป้าหมาย คือ การยิงให้บาดเจ็บกับยิงให้เสียชีวิต หรือ วิสามัญฆาตกรรม ซึ่งก็จะมีรายละเอียดของวิธีการยิงที่แตกต่างกัน แต่ไม่มีเป้าหมายยิงเพื่อข่มขู่อยู่ในสารบบการฝึก นั่นหมายความว่า การเหนี่ยวไกแต่ละครั้ง คือ การหวังผลต่อเป้าหมายใน 2 ระดับนี้เท่านั้น

ส่วนการยิงจะเกิดเมื่อไหร่ อันนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญมากในการตัดสินใจ

ครูฝึกยุทธวิธีของตำรวจเปิดเผยกับทีมข่าว PPTV ว่า ช่องโหว่สำคัญอยู่ที่การเขียนกฎหมาย ในลักษณะไม่คุ้มครองตำรวจ ในหมู่ของตำรวจได้รับการสอนและเป็นที่รู้กันดีว่า จะตัดสินใจยิงได้ก็ต่อเมื่อคนร้ายยิงมาก่อน อันนี้คือเกณฑ์การตัดสินใจหากจะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจริงตำรวจจะยึดหลักการป้องกันตัวเอง คือจะยิงก็ต่อเมื่อเห็นคนร้ายชักปืนมีแนวโน้มยิงต่อสู้ แตกต่างจะประเทศที่มีการกำหนดเกณฑ์อย่างเช่นสหรัฐฯที่กฎหมายจะกำหนดลำดับขั้นปฏบัติให้ตำรวจชัดเจน เช่น ยิงได้ก็ต่อเมื่อสั่งให้คนร้ายหยุดแล้วไม่หยุด

เกณฑ์การตัดสินใจที่ต้องอิงกับวิจารณญาณเป็นหลัก ครูฝึกยุทธวิธีระบุว่า มักจะเกิดปัญหากับตำรวจใหม่ที่มีประสบการณ์น้อย และยิ่งผ่านการฝึกยุทธวิธีมาไม่มากก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดเหมือนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญฝึกที่แม้จะมีคู่มือและหลักสูตร แต่ครูฝึกตำรวจเปิดเผยว่าในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่ได้มีการจัดสรรงบเฉพาะในส่วนนี้ให้กับหน่วยงานต่างๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติชัดเจน นั่นหมายความ หน่วยงานภายในต่างๆ จะมีความถี่ในการฝึกมากแค่ไหน อยู่ที่การให้ความสำคัญของผู้บังคับบัญชาการแต่ละหน่วยงาน ที่จะเจียดงบประมาณมาใช้ส่วนนี้กันเอง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ