​เปิดแพ็กเกจกระตุ้นอสังหาฯ-เอสเอ็มอี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดมาตรการการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเอสเอ็มอี ตามที่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยของกระทรวงการคลัง ขณะที่อดีตรัฐมนตรีคลังเห็นด้วยกันมาตรการดังกล่าวแต่เชื่อว่าจะส่งผลระยะสั้นเท่านั้น


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์หลังผ่านความเห็นชอบของครม.ว่า เป็นมาตรการแก้ปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยทำให้มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยลดลง ประกอบกับมีอสังหาริมทรัพย์คงค้างในตลาดจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมทั้งเมืองสำคัญในภูมิภาค เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น เป็นต้น



สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านความเห็นชอบ สามารถสรุปได้ 4 ข้อ คือ


1.ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ลงเหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือน


2.ลดค่าธรรมเนียมการจำนอง จาก 1% ของมูลค่าจำนองแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ลงเหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเร่งให้เกิดการทำนิติกรรมโดยเร็ว


3.สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 20% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องเป็นการซื้อครั้งแรกเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง และต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี นับตั้งแต่จดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ โดยแบ่งสิทธิเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี(เฉลี่ยแล้วเอาไปลดภาษีได้ 4% ต่อปี) ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559



ยกตัวอย่างกรณีบ้านราคา 3 ล้านบาท ค่าโอน 2% คิดเป็นเงิน 6 หมื่นบาท ส่วนค่าจดจำนอง 1% เป็นเงิน 3 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นอัตราใหม่ คือ 0.01% จะเสียค่าโอนกับค่าจำนอง เพียง 300 บาท เท่ากับประหยัดค่าใช้จ่ายในการโอนกับจดจำนองไปถึง 84,000 บาท



4.ธอส.ผ่อนปรนสินเชื่อเพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ให้สามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงขึ้น โดยประมาณการวงเงินให้สินเชื่อรวมเบื้องต้น หนึ่งหมื่นล้านบาท กำหนดระยะเวลารับคำขอและทำนิติกรรม 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 และให้ ธอส.ขยายเวลาตามความเหมาะสม


ทั้งนี้ระยะเวลากู้ไม่เกิน 30 ปี และผู้กู้คือผู้มีรายได้สุทธิต่อเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบาท โดยเกณฑ์หลักประกันตามระเบียบปฏิบัติที่ ธอส.กำหนด



นอกจากนี้ ครม.มีมติให้รับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% เป็นการถาวร เริ่มใช้ 1 มกราคม 2559 จากที่ก่อนหน้านี้กำหนดไว้ที่ 30% ของกำไรสุทธิ ต่อมาปรับลงเหลือ 23% ในปี 2555 และลดลงเหลือ 20% ในปี 2556-2558


การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไทยมีต้นทุนต่ำเพียงพอที่สามารถแข่งขันกับในตลาดโลกได้


นอกจากนี้ยังลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป เหลือ 10% และยกเว้นภาษีเงินได้ในกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) 10 ประเภทอุตสาหกรรม เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจและนักลงทุน


นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และการลดภาษี เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่มองว่าอาจได้ผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ