​ภูทับเบิกโมเดล (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันหยุดยาวนี้ (23-25 ต.ค.58) นักท่องเที่ยวกว่า 20,000 แห่ขึ้นภูทับเบิก ขณะที่กรมป่าไม้ก็เตรียมไล่รื้อจัดระเบียบภูทับเบิก ทางออกของปัญหาการขยายตัวของการท่องเที่ยวจนนำมาสู่ปัญหาการจัดสรรที่ดินที่เหมาะสม

ในช่วงวันหยุดยาวแบบนี้ นักท่องเที่ยวจำนวนมากก็แห่ขึ้นไปเที่ยวบนภูทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมียอดนักท่องเที่ยวขณะนี้สูงถึง 20,000 คนแล้ว แม้จะมีกระแสข่าวเรื่องทัศนียภาพที่ไม่สวยงามเหมือนเก่า และการเข้าไปจัดระเบียบของกรมป่าไม้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลง

ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาจนถึงเที่ยงวันนี้ (23 ต.ค.58) ยังมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาต่อเนื่อง ส่งผลให้การจราจรบนภูทับเบิก ติดขัดสะสมแน่นหลายกิโลเมตรเพราะเป็นวันหยุด 3วัน ทำให้บรรยากาศเช้านี้บนภูทับเบิกคึกคัก

นายซัว เถารักตระกูล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูทับเบิก กล่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวบนภูทับเบิกว่านักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันขึ้นภูทับเบิก ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ (22 ต.ค.58) จนสภาพภูทับเบิกแทบแตก เพราะมีปริมาณนักท่องเที่ยวมากจนเกินกว่าจะรับได้แล้ว จากการประเมินเวลานี้ มีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ส่วนที่พักก็ถูกจองเต็มหมดแล้ว

โดยนักท่องเที่ยวหลายคนต่างตั้งใจมาสัมผัสทะเลหมอกและชมไร่ดอกกระหล่ำปี แต่บางคนก็บอกว่าผิดหวัง เพราะดอกกระหล่ำน้อยลงต่างจากเมื่อหลายปีก่อน และเห็นด้วยหากมีการจัดระเบียบพื้นที่บนภูทับเบิก

ปัญหาตรวจสอบสิทธิที่ดินภูทับเบิก

หลังกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อจัดระเบียบภูทับเบิก และรื้อถอนรีสอร์ทที่พบมีการบุกรุก ปรากฎว่าพบปัญหาที่อาจจะทำให้การจัดสรรที่ดินในอนาคตไม่สำเร็จ เนื่องจากเอกสารของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ ไม่ได้ระบุชื่อผู้ถือครอบครองที่ดินแต่ละแปลง และตรวจสอบไม่ได่ว่ามีการเปลี่ยนมือมาแล้วกี่ครั้ง

สิ่งปลูกสร้าง ที่เรียงรายอยู่ตามเนินเขา บ่งบอกให้รู้ว่ามีนายทุนจำนวนหนึ่งเข้ามาสร้างที่พักรีสอร์ท เพื่อรองรับการท่องเที่ยว

แผนที่แสดงการรังวัดที่สำนักจัดหาทรัพยากรป่าไม้ที่4 พิษณุโลก สำรวจในปี 2556 ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบการใช้พื้นที่ภูทับเบิกผิดจุดประสงค์ โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบควบคู่กับเอกสารอีก1ชุด และตรวจสอบพิกัดผ่านจีพีเอส ที่ระบุว่าใครเป็นผู้ถือครองที่ดิน

ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลนี้มีการเก็บข้อมูลไว้ 258 รายชื่อครอบครองที่ดิน 1,051ไร่ แต่เอกสารชิ้นนี้เกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้ระบุชื่อผู้ถือครอบครองซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าแจ้งข้อมูล นั่นหมายความว่าภาครัฐไม่มีข้อมูลว่าที่ดินบนภูทักเบิก ใครเป็นผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่ต้น และใครเพิ่งซื้อขายเปลี่ยนมือเข้ามาครอบครองที่ดิน

แม้ว่าขณะนี้กรมพัฒนาสังคมและสวัวดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดเก็บข้อมูล แต่จากปี 2509 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครรู้ได้ว่าที่ดินบนภูทับเบิกถูกเปลี่ยนมือผู้ถือครองมาแล้วกี่ครั้ง

สิทธิมนุษยชน บนกติกาที่เลือกไม่ได้

จากปัญหาการขยายตัวของการท่องเที่ยว จนนำมาสู่ปัญหาการจัดสรรที่ดิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อการท่องเที่ยวเติบโต ที่ดินบริเวณนั้นจึงมีมูลค่าสูงขึ้น หากแบ่งพื้นที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยตามสิทธิการครองครองที่ดิน (ซึ่งไม่รวมพื้นที่ของรัฐที่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่างๆ) เราจะพบว่า แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน เช่น ที่ ดินสปก. นส3ก หรือแม้แต่พื้นที่สงเคราะห์ชาวเขา ที่ภูทับเบิก ซึ่งที่ดินประเภทนี้ ไม่มีเอกสารสิทธิ รัฐมีเป้าหมายให้เกษตรกร ใช้ทำการเกษตร เท่านั้น แต่เมื่อการท่องเที่ยวขยายตัว ที่ดินประเภทนี้หลายแห่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่เห็นได้ชัด เช่น วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา /สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี /หรือแม้แต่ภูทับเบิก

ปัญหาที่ตามมาคือการบุกรุกที่ดิน และการขยายพื้นที่จากการเกษตรให้เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และทุกครั้งส่วนใหญ่ ชาวบ้านจะตกเป็นจำเลยว่าบุกรุกป่า ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นี่เป็น"สิทธิมนุษยชนบนกติกาที่เลือกไม่ได้"หรือไม่ เมื่อศักยภาพพื้นที่เดิมเปลี่ยนจากพื้นที่เกษตรเป็นการท่องเที่ยวแล้ว

ส่วนอีกประเภท คือพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งมีหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา หัวหิน ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพีพี เจ้าของรีสอร์ท ที่พัก โรงแรมส่วนใหญ่ มีเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินถูกต้อง ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ แต่ก็ปฏิเสธว่าการเติบโตการท่องเที่ยวในเมืองเหล่านี้ที่มากเกินไปก็ทำลายสภาพแวดล้อมเช่นกัน ซึ่งเรามีตัวอย่างให้เห็นเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่แค่การมีเอกสารสิทธิครอบครองในที่ดินถูกต้องหรือไม่ แต่อยู่ที่เราจะพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวได้อย่างไร ขณะในมุมของกรมป่าไม้ก็ยังคงจะเดินหน้าเอาผิดกับผู้ที่บุกรุกบนภูทับเบิก ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในประเทศไทย มักมุ่งเน้นรูปแบบ Mass-tourism หรือการเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด ซึ่งขาดการใส่ใจสภาพแวดล้อม จนทำให้ระบบนิเทศเสื่อมโทรมขึ้นเรื่อยๆ กรณีของภูทับเบิก ก็มีการพูดถึง การพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรามีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน หรือ อพท.ที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 ได้ดำเนินการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว 6 ด้าน พื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมืองท่องเที่ยวแห่งนวตกรรมสีเขียว คุณค่าแห่งเมืองมรดกโลก เมืองแห่งการพักผ่อน เมืองเก่าที่มีชีวิตและต้นกำเนิดอารยะธรรมสุวรรณภูมิ

การกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวทั้ง 6 ด้าน ที่เห็นผลได้ค่อนข้างชัดเจนในการจัดการพื้นที่ คือที่จังหวัดน่าน ที่กำหนดให้เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต โดยจากสภาพเมืองที่มีโบราณสถาน มีเรื่องเล่า โดยเฉพาะภาพกระซิบรักบรรลือโลกที่ขึ้นชื่อ จึงมีการออกแบบให้จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ มรดกล้านนาตะวันออกและทำให้การพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการนำกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มาบังคับใช้ในการก่อสร้างอาคารให้สอดคล้องกับเมือง หรืออนุรักษ์อาคารเก่าไว้

แล้วภูทับเบิกจะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวได้หรือไม่ และควรเป็นไปในทิศทางใด

ส่วนขั้นตอนถ้าหากจะมีการผลักดันให้ภูทับเบิกเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ขั้นตอนแรก ต้อง ผ่านการคัดเลือกพื้นที่พิเศษ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมเบื้องต้น แล้วเสนอระดับนโยบายพิจารณา ซึ่งในระดับนี้จะมีหน่วยงานท้องถิ่น คนในพื้นที่ หน่วยงานส่วนกลาง ร่วมกันพิจารณา ก่อนจะสำรวจสภาพพื้นที่ ด้านภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ว่าเหมาะสมพัฒนาในด้านใด จากนั้นจะประชุมหารือร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่พิเศษ เสนอคณะกรรมการ พิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่พิเศษและจัดทำแผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ

วันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.58) รัฐมนตรีว่าการะทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร มีกำหนดจะลงพื้นที่ ภูทับเบิก เพื่อติดตามปัญหาการขยายตัวของการท่องเที่ยวด้วยตนเอง ซึ่งคาดหวังว่าจะมีการกำหนดทิศทางร่วมกันระหว่างการจัดสรรที่ดินของกรมป่าไม้ กับ การจัดการท่องเที่ยวของการกระทรวงการท่องเที่ยว เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิด ภูทับเบิกโมเดลขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ