​ปริศนาคราบน้ำมันในทะเลและชายฝั่ง? (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




Bigstory ไร้ความชัดเจน "การกำจัดคราบน้ำมันในทะเลและชายฝั่ง" ป่าชายเลน เข้าขั้นวิกฤต ส่งผลร้ายระบบนิเวศระยะยาว คราบน้ำมันตกค้างตะกอนดิน การตกค้างของสารพิษและโลหะหนัก ฯลฯ

ประเมินความเสียหาย น้ำมันปริศนาไหลลงทะเล

จนถึงเวลานี้ยังไม่มีการประเมินความเสียหายที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบในภาพรวม มีเพียงการคาดการณ์ผลกระทบกับระบบนิเวศจากทิศทางการแพร่กระจายของน้ำมัน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตร ที่ได้แบ่งพื้นที่ความเสียหายไว้อย่างน้อย 3 โซน

โซนแรก คือ ชายฝั่งของจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ เพชรบุรีตอนบน บริเวณนี้ลักษณะของพื้นที่เป็นป่าชายเลนและหาดเลน พบคราบน้ำมันตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.58 จนถึงเวลานี้ยังไม่มีการสำรวจผลกระทบอย่างเป็นทางการ

ความเสี่ยงของจุดนี้คือ มีแนวโน้มที่คราบน้ำมันจะสะสมในตะกอนดิน ส่งผลต่อสัตว์หน้าดิน อย่างเช่น หอย ไส้เดือนทะเล รวมถึงการเข้ามาหากินของสัตว์สำคัญอย่างวาฬบรูด้าและนกทะเล ส่วนระยะยาวคือการตกค้างของสารพิษและโลหะหนัก

โซน 2 ชายฝั่งของชะอำ-หัวหิน จุดนี้มีลักษณะเฉพาะเป็นหาดทรายสลับหาดหินเล็กๆ มีระบบนิเวศปะการังอยู่ที่เกาะสิงโต ที่นี่คือจุดพบคราบน้ำมันมากที่สุด คาดว่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.58 โดยเฉพาะที่หาดหัวหินและเขาตะเกียบ

แม้บริเวณจะมีการกำจัดคราบน้ำมันอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง แต่คาดจะส่งผลระยะยาวลักษณะคล้ายกับที่เกิดที่เกาะเสม็ด คือ สัตวน้ำอาจเปลี่ยนพฤติกรรมและมีน้อยลง เพราะมีสภาพพื้นที่แบบเดียวกัน คือ ส่วนใหญาเป็นหาดทราย ซึ่งจะส่งผลให้คราบน้ำมันบางส่วนซึมลงในขั้นทรายที่อยู่ลึก กำจัดยาก ยกเว้นขุดทรายทิ้ง

โซน 3 คือ ชายฝั่งอำเภอปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่ใกล้เคียง จุดนี้มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับชะอำและหัวหินคือส่วนใหญ่เป็นหาดทราย แต่มีหาดหินเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง พบคราบน้ำมันช่วงเวลาเดียวกันที่หัวหินคือราววันที่ 29 ต.ค.58

สำหรับหาดหินเมื่อโดนคราบน้ำมันจะกำจัดยาก ทำให้สัตว์ที่โขดหินอย่างหอยนางรมตาย ส่วนแนวปาการังก็อาจเกิดการฟอกขาว เหมือนที่เคยเกิดกับที่เกาะเสม็ด

พบคราบน้ำมันกระจายเข้าป่าชายเลน ไร้มาตรการเก็บกำจัด

ไม่เพียงการประเมินความเสียหายในภาพรวมที่ดูเหมือนจะยังไม่มีข้อมูลที่เป็นระบบจากหน่วยงานราชการ การแก้ปัญหาเฉพาะโดยเฉพาะการกำจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และอาจจะไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจอย่างที่หัวหิน ก็ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างล่าช้า อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับป่าชายเลน ต.นาโคก จ.สมุทราสาคร

แม้จะไม่มีอุปกรณ์และความรู้ แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้จำเป็นต้องลงมือกำจัดคราบน้ำมันด้วยตัวเอง เพราะไม่อาจทนเห็นสภาพที่เกิดขึ้นได้ หลังผ่านมา 1 สัปดาห์เต็ม ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าจัดการ

คราบน้ำมันกระจายไหลเข้าฝั่งตามแนวป่าชายเลนแถบนี้ ยาวไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตร นอกจากความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดกับระบบนิเวศ ชาวบ้านที่นี่ยังอยู่ในภาวะวิตกหนัก เมื่อได้รับคำเตือนถึงอันตรายต่อสุขภาพ หากไม่เร่งเก็บกำจัด

ช่วงเวลาน้ำขึ้น คลื่นจะซัดเศษขยะและคราบน้ำมันเข้าฝั่ง การทำความสะอาดในภาวะไม่พร้อมครั้งนี้ จึงทำได้เพียงเก็บเศษขยะและคราบน้ำมันบนผิวน้ำ ไม่สามารถกำจัดในส่วนที่สะสมในผิวดินได้ เช่นเดียวกับหน่วยงานที่มีความพร้อมทำ


ชาวบ้านที่นี่เปิดเผยว่า นับจากวันที่พวกเขาพบคราบน้ำมันลอยเข้าฝั่งในพื้นที่ป่าชายเลนแถบนี้ ถึงวันนี้ (2 พ.ย.58) รวมเป็นเวลา 9 วันเต็ม แม้จะมีหน่วยงานอย่างกรมเจ้าท่าลงมาตรวจสอบความเสียหายหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถแนวทางกำจัดคราบน้ำมันและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างชัดเจน

แกะรอยคราบน้ำมันผ่านภาพถ่ายดาวเทียม

นอกจากการแก้ปัญหาผลกระทบการทำงานอีกด้านหนึ่งที่ดูเหมือนจะยากลำบาก คือ การตามหาต้นตอของคราบน้ำมันซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะนั่นหมายความว่าเป็นการตามหาตัวคนที่จะมารับผิดชอบ เนื่องจากตามหลักการของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535

เบาะแสที่ดูเหมือนจะเป็นรูปธรรมอย่างมาก คือ ภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือจิสด้า ภาพนี้บันทึกได้เมื่อเวลาประมาณ 18.30น. ของวันที่ 24 ต.ค.58 คราบสีดำเข้มวงเส้นสีแดง คือ แนวการไหลของคราบน้ำมัน ตามแนวนี้จิสด้าวิเคราะห์ว่า ต้นทางการไหลของน้ำมัน อยู่น่านน้ำของจังหวัดสมุทรสงครามใกล้ปากน้ำแม่กลอง และไหลไป ณ เวลานั้น ถึงอ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร

และหากย้อนกลับไปที่จุดต้นทางการไหลของน้ำมัน จะพบจุดขาวกลุ่มนี้ จิสด้าคาดเป็นวัตุบางอย่างมีขนาดประมาณ 20 – 50 เมตร คล้ายเรือลอยรำ

ในทางการสืบสวนขณะนี้ยังยืนยันไม่ได้ว่าการไหลของน้ำมันมาจากการลักลอบทิ้งหรืออุบัติเหตุรั่วไหล ล่าสุดกรมเจ้าท่าเก็บตัวคราบน้ำมันเพื่อนำไปตรวจเปรียบเทียบว่ามาจากเรือลำไหน เชื่อว่าจะทำให้การคลี่คลายคดีง่ายขึ้น ส่วนตำรวจอยู่ระหว่างเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำเพิ่มเติม

ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดให้มีการทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ไว้ล่วงหน้า และให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ คณะกรรมการชุดนี้จะประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำกับ ดูแล ควบคุม การกำจัดของเสียด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งแผนและแนวทางปฏับิตนี้เคยเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกทวงถามเมื่อครั้งเหตุน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด แต่ผ่านมากว่า 2 ปี เกิดเหตุลักษณะเดียวกันอีกครั้ง ก็ยังดูเหมือนว่าประสิทธิภาพในจัดการแทบแตกต่างจากครั้งนั้น

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ