โค้งสุดท้ายเลือกตั้งเมียนมาร์ (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




Bigstory โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งทั่วไปเมียนมาร์ นักวิชาการและสื่อต่างๆ ออกมาวิเคราะห์ใครจะชนะการเลือกตั้ง และใครจะได้เป็นประธานาธิบดี แม้จะมีการคาดการณ์ว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD จะได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น

การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาร์ที่จะมีขึ้น ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่จัดโดยรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปีของเมียนมาร์ ซึ่งตกอยู่ใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหารมานานนับครึ่งศตวรรษ


โดยคู่ชิงหลักมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) พรรครัฐบาลปัจจุบัน นำโดย พลเอกเต็ง เส่ง และพรรค สันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรคฝ่ายค้านหลัก นำโดยนางออง ซาน ซู จี

การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาร์ สมาชิกของ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จะเป็นผู้ลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมียนมาร์

"ในรัฐธรรมนูญปี 2008 ของเมียนมาร์ ระบุว่า พรรคการเมืองที่มีสิทธิ์จะเสนอชื่อบุคคลให้สภาทั้ง 2 เลือกเป็นประธานาธิบดี จะต้องมีสมาชิกมากกว่า ร้อยละ50 ของทั้ง 2 สภา หรือ 332 ที่นั่งให้การสนับสนุน

การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาร์ครั้งนี้ มีจำนวน ส.ส. 440 ที่นั่ง มีการเลือกตั้ง 323 ที่นั่ง แบ่งโควต้าให้กองทัพ ร้อยละ25ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2008 กำหนดไว้ คือ 110 ที่นั่ง อีก 7 ที่นั่งงดจัดการเลือกตั้งเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ไม่ปลอดภัย

ส่วน จำนวน ส.ว.ทั้งหมด 224 ที่นั่ง มีการเลือกตั้ง168 ที่นั่ง ที่เหลือ ร้อยละ 25 เป็นโควต้ากองทัพ คิดเป็น 56 ที่นั่ง

"จากจำนวนสัดส่วนที่นั่ง ส.ส.และส.ว หากพรรค NLD จะเสนอชื่อบุคคลเป็นประธานาธิบดีได้ จะต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้มากกว่า 332 ที่นั่งรวมกันทั้ง 2 สภา" ซึ่งหากวิเคราะห์ความเป็นไปได้แล้ว ค่อนข้างยาก แม้คะแนนนิยมในตัวนางอองซานซูจีจะสูง แต่กระแสความนิยมก็กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆเท่านั้น นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ให้โควต้าที่นั่งส.ส.และส.ว. แก่กองทัพไว้อย่างละ ร้อยละ 25มีแนวโน้มที่จะโหวตให้พรรค USDP พรรครัฐบาลปัจจุบันมากกว่า

และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังบัญญัติ ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีสามี หรือบุตรเป็นคนต่างด้าว หรือถือสัญชาติอื่น ที่ไม่ใช่สัญชาติเมียนมา ลงรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วย

หากดูฐานเสียงหลักของทั้งพรรค USDP และ NLD คือชาวเมียนมาร์ ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ ของประเทศ นอกนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ตามเขตรอบนอกหรือชายแดนอีกถึง 134 ชาติพันธุ์ ประกอบด้วยชาวรัฐฉาน 9% กะเหรี่ยง 7% ยะไข่ 5% จีน 3% อินเดีย 2% มอญ 2% และอื่นๆ อีก 5%

การเลือกตั้งเมียนมาร์ครั้งนี้ใครจะเป็นประธานาธิบดีนั้น รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นผู้โหวตเลือก ซึ่งนอกจากที่นั่งของส.ส.และส.ว.ที่จะมีผลต่อการเลือกประธานาธิบดีแล้ว อีกพลังเสียงหนึ่งที่จะมีผลต่อการโหวตเลือกประธานาธิบดี คือ พลังเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ครั้งนี้ เตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก และเล็งกวาดที่นั่งในรัฐของตัวเอง

"ที่น่าสนใจคือขณะนี้ พรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างน้อย 23 พรรค ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองเพื่อหวังสร้างอำนาจต่อรอง มากขึ้นในฐานะกลุ่ม พลังที่ 3" ทำให้พรรค USDP และพรรค NLD อาจจำเป็นต้องวิ่งเต้นดึงกลุ่มพลังที่ 3 ให้ช่วยโหวตเลือกตัวแทนของตนเป็นผู้นำ

ซึ่งหากมองความเป็นไปได้ กลุ่มชาติพันธ์อาจมีความโน้มเอียงไปทางพรรค USDP ที่นำโดยพลเอก เต็งเส่ง ที่ก่อนหน้านี้ออกมาประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะผลักดันการปกครองแบบสหพันธรัฐให้เกิดขึ้นซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนานกว่า 60 ปี นอกจากนี้หากจำกันได้ เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลเมียนมาร์เอง ก็มีการจัดพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศขึ้น ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ถึง 8 กลุ่มหลัก เข้าร่วมลงนาม

ขณะที่ทางฝั่งของพรรค NLD อองซานซูจีเอง อาจจะเสียฐานเสียงสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์ไป หลังพรรค NLD ได้ส่งผู้สมัครลงไปแข่งขันในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่พอใจเนื่องจากมองว่าเป็นการตัดโอกาส

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ