เตรียมรับมือไข้เลือดออก ระบาดนอกฤดู !


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์ชี้แนวโน้มไข้เลือดออกระบาดเพิ่มสูงขึ้น จากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมแนะประชาชนสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเข้าข่ายให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัย



กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจในวงกว้าง หลังพระเอกหนุ่มวิกน้อยสีป่วยเป็นไข้เลือดออก ซึ่งมีอาการุนแรงถึงขั้นภาวะวิกฤติ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าคนไทยจะคุ้นชินกับโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างดี แต่ในทางปฏิบัติหลายคนยังคงมองข้ามความรุนแรงของโรคนี้ ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะอันตราย


นพ.ไพศาล เตชะวลีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวนิวมีเดีย PPTV ถึงความรุนแรงและอุบัติการณ์ป่วยเป็นไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ว่า ไข้เลือดออกซึ่งมีสาเหตุมากจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะ ถือเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ จากรายงานจำนวนผู้ป่วยในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพุ่งทะลุเกิน 100 รายไปแล้วนั้น สาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้วงจรชีวิตของยุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในระยะหลังการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงฤดูฝนเพียงเท่านั้น


นพ.ไพศาล ชี้ว่า อาการและความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ไม่ได้อยู่ที่สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผู้ป่วยในแต่ละคนด้วย โดยหากเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกกับผู้ที่ไม่เคยป่วย จะพบว่าส่วนใหญ่คนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน มักจะมีปฏิกริยาตอบสนองต่อโรคที่รุนแรงมากกว่า ความเชื่อที่ว่าหากใครป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว จะไม่กลับมาเป็นอีกครั้งจึงไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากเชื้อไวรัสนั้นมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ดังนั้น แม้จะเคยมีภูมิต้านทานในสายพันธุ์ที่เคยเป็นมาก่อนแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสป่วยเป็นไข้เลือดออกได้อีกจากเชื้อไวรัส 3 สายพันธุ์ ในชีวิตหนึ่งของคนเราจึงมีโอกาสป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ทั้งหมด 4 ครั้ง


"จริงๆ แล้ว โอกาสที่คนเราจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ จนถึงขั้นเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ไม่ได้มีอัตราสูงมากนัก แต่เนื่องจากความรุนแรงของการป่วยนั้น ขึ้นอยู่กับความจำเฉพาะในแต่ละบุคคลร่วมด้วย ฉะนั้นการรักษาจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการป่วยระยะที่ 2 หรือในช่วงไข้ลดถือเป็นระยะวิกฤติ บางคนจะมีอาการเกร็ดเลือดต่ำลงมาถึงหลักพัน เมื่อเป็นเช่นนี้จะส่งผลให้มีเลือดออกภายในอวัยวะต่างๆ ก่อให้เกิดการทุพพลภาพ"


ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ แนะนำว่า หากประชาชนทั่วไปมีอาการป่วยเข้าข่ายสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก โดยในช่วงแรกอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป ร่วมกับอาการไข้ลอย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว 2-3 วัน ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ป้องกันไม่ให้โรคลุกกลาม ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ