แพทย์ จุฬาฯ ชี้ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละบุคคล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์ จุฬาฯ ระบุระยะฟื้นตัวผู้ป่วยไข้เลือดออกหลังพ้นวิกฤติ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ย้ำลักษณะระบาดของโรคไม่แน่นอน อาจปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี


นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยปกติแล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดส่วนใหญ่จะอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าถึงขึ้นต้องมาพบแพทย์โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้ลด แต่อาการโดยรวมส่วนใหญ่ยังแย่ลง เช่น ปวดท้องมากขึ้น อาเจียน และตัวเย็น แสดงว่าเริ่มมีการรั่วของสารน้ำในเลือด ทำให้เลือดข้นขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดังกล่าวประมาณ 2-3 วัน ก็จะดีขึ้นเอง แต่หากเกิดการรั่วเยอะ ประกอบกับผู้่ป่วยได้สารน้ำทดแทนไม่เพียงพอ อาจทำให้ช็อค เลือดออกในกระเพาะอาหาร และการทำงานของอวัยวะบางอย่างล้มเหลวได้ โดยเฉพาะปอด ตับ และไต ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังการช็อค แต่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วย


"โชคยังดีที่โรคไข้เลือดออก ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบสมอง ดังนั้นเมื่อผู้ฟื้นตัว ก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ และแม้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้น ปอด ตับ ไต ทำงานล้มเหลว ก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้เช่นเดียวกัน ส่วนระยะเวลาที่อวัยวะจะกลับมาทำงานเป็นปกติอาจอยู่ที่ 2-3 วัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน" นพ.ชิษณุ กล่าว


ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปี 2558 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จะใกล้เคียงกับปี 2556 ที่มีการระบาดค่อนข้างมาก โดยน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่า 1.5 แสนราย เนื่องจากไข้เลือดออกจะมีการระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี ซึ่งจากการศึกษาและเก็บสถิติในจังหวัดขอนแก่นและกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 4 อย่างไรก็ตามไม่ว่าอัตราป่วยจะสูงขึ้นหรือลดลง แต่อัตราการเสียชีวิตยังคงที่ที่อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราการเสียชีวิตกับโรคไข้หวัดใหญ่ จะพบว่าผู้ป่วยไข้โรคไข้เลือดออกเสียชีวิตน้อยกว่าถึง 10 เท่า ขณะที่โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมิร์ส อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ใน 3 และอีโบลาอยู่ที่ 1 ใน 2


"ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม จึงทำให้แต่ละคนตอบสนองต่อการติดเชื้อไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการดูแลในระยะแรกด้วย ซึ่งต้องให้รับประทานน้ำบ่อยๆ กินยาลดไข้พาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามกินยาลดไข้กลุ่แอสไพรริน หรือไอบรูโพรเฟนเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน และเลือดออกมากขึ้น" ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยคลินิก กล่าว


นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกครั้งแรกแล้ว สามารถกลับมาเป็นได้อีกเพราะไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งการเป็นครั้งที่ 2 อาการมักจะรุนแรงกว่า เพราะการติดเชื้อในครั้งแรก จะทำให้คนเรามีปฏิกิริยาภูมิต้านทานที่รุนแรงและเร็ว เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสในครั้งหลัง


ด้าน นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและโรคติดเชื้อ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพราะทำได้ง่ายกว่ายุงที่โตเต็มวัย โดยปัจจุบันเนื่องจากอากาศร้อนขึ้น ทำให้ยุงมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น ไข้เลือดออกจึงระบาดเพ่ิมสูงขึ้นตามไปด้วย โดยจากการศึกษาพบว่ายุงนั้น ชอบกัดกลุ่มคนดังต่อไปนี้ คือ 1.เด็ก 2.ผู้หญิง 3.คนหายใจแรง เพราะมีคาร์บอนไดออกไซด์รอบตัวมาก 4.คนที่เหงื่ออกมาก และ 5.ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม


"ยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกเมื่อวางไข่ ไข่และลูกน้ำก็จะมีเชื้อติดไปด้วย และในช่วงที่ฝนตกสลับกับอากาศร้อนจะมียุงลายมากมีโอกาสโรคไข้เลือดออกระบาดมาก โดยยุงลายจะหากินเวลากลางวันและอยู่บริเวณในบ้าน ชบอยู่ตามสิ่งห้อยแขวน น้ำนิ่งใส บินไกลได้ 100-200 เมตร ดังนั้น เมื่อเกิดเคสผู้ป่วยขึ้นในบริเวณใด ต้องมีการควบคุมหรือกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ุในรัศมีที่ยุงออกหากิน" นพ.นรินทร์ กล่าวสรุป

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ