WHO หนุนไทยคลอด "พ.ร.บ.ยาสูบ" ฉบับใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เลขาธิการฯยาสูบ WHO เรียกร้อง "พล.อ.ประยุทธ" คลอด พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่


ดร.วีรา ลุยซ์ ดา คอสต้า เอ ซิลวา ประธานคณะเลขาธิการในกรอบอนุสัญญาว่าการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC) และคณะ เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อฝากหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการสนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ โดยมี พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้แทนรับหนังสือ


ดร. ดา คอสต้า เอ ซิลวา ย้ำว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและเจ็บป่วยเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน ระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นลำดับต้นๆ


ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำขององค์การสหประชาชาติครั้งล่าสุด ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Sustainable Development Summit 2015) ณ นครนิวยอร์ค ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ ได้เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น ได้มีเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสร้างความเข้มแข็งต่อระบบสุขภาพ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน


ดังนั้น จึงขอแสดงจุดยืนในการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับมาตรการปกป้องประชาชนไทยจากพิษภัยของยาสูบโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน


* * * สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ยาสูบฉบับใหม่ * * *


1. ยกร่างเป็นกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยนำ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 มารวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน

- กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับประเทศ และคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด

- กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมยาสูบไว้ในกฎหมาย


2. ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535

ปรับปรุงคำนิยาม

- เปลี่ยนคำนิยาม "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ให้รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า

- ปรับปรุงคำนิยาม "การโฆษณา" ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล "พริตตี้" ในการส่งเสริมการขาย

- ปรับปรุงคำนิยามว่า "ฉลาก" ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก

เพิ่มอายุขึ้นต่ำที่จะซื้อบุหรี่และห้ามวิธีการขายที่เด็ก ๆ จะเข้าถึงได้ง่าย

- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบบุหรี่ซิกาแรตต่ำกว่าซองละยี่สิบมวน และห้ามแบ่งขายเป็นมวน ๆ

- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ อาทิ สถานพยาบาล สานศึกษา ศาสนา ฯลฯ

เพิ่มข้อห้ามการโฆษณาทางอ้อม

- ห้ามการสื่อสารการตลาดในสื่อต่าง ๆ รวมถึงการใช้สื่อบุคคล (พริตตี้)

- ห้ามเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ "การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม" ในทุกสื่อ

เพิ่มมาตรการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก

- ห้ามส่วนราชการรับการอุปถัมภ์จากธุรกิจยาสูบ

- กำหนดลักษณะของจุดขายปลีกยาสูบ

- กำหนดให้บริษัทบุหรี่ต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการควบคุมยาสูบ

- กำหนดแนวทางการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทบุหรี่

- กำหนดและเพิ่มโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย


3. ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535

- กำหนดสภาพและลักษณะของ "เขตปลอดบุหรี่"

- กำหนดให้ผู้ดำเนินการ (เจ้าของสถานที่สาธารณะ) มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่

- กำหนดวิธีการบังคับใช้กฎหมายเขตปลอดบุหรี่

- เพิ่มโทษผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ และเจ้าของสถานที่



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ