​สพฉ. เตือนระวังเด็กจมน้ำในเทศกาลลอยกระทง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สพฉ. เตือนอุบัติเหตุในเทศกาลลอยกระทง ระวังเด็กเล็กไม่ให้ลงเก็บเงินในกระทงเพราะเสี่ยงจมน้ำ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด แนะวิธีช่วยคนจมน้ำหากเกิดเหตุฉุกเฉิน



สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่า ในช่วงวันลอยกระทง เป็นช่วงที่มีสถิติของการเจ็บป่วยฉุกเฉินมากที่สุดในช่วงหลายๆเทศกาลของไทย สพฉ. จึงได้มีการรวบรวมอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือกับอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้


นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงเทศกาลลอยกระทงมี คือ อุบัติเหตุจากการตกน้ำ จมน้ำ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่มีประชาชนเสี่ยงตกน้ำ จมน้ำ และเสียชีวิตสูงสุดในรอบปี โดยเฉพาะในเด็กเล็ก


โดยสาเหตุหลักมาจาก การพลัดตกน้ำเพราะผู้คนเบียดเสียด หรือดื่มสุราฉลองในเทศกาลลอยกระทงจนไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของตนเองได้จน ทำให้ผลัดตกน้ำจนเสียชีวิต และสาเหตุของการจมน้ำที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดอีกเรื่องคือเด็กเล็กที่ชอบลง น้ำไปเก็บเศษเงินในกระทง ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้น้ำตามลำพัง หรือลงไปเก็บเศษกระทงในยามค่ำคืน



เลขาธิการสพฉ.กล่าวว่า สำหรับวิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเราพบเห็นคนตกน้ำ จมน้ำควรช่วยเหลือโดยคิดถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนช่วยก็ได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือด้วย โดยวิธีที่ถูกต้องในการช่วยคนขึ้นจากน้ำประกอบด้วยการตะโกน โยน ยื่น อย่างแรกคือการตะโกนบอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ จากนั้นหาวัสดุลอยน้ำโยนให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ หรือหาสิ่งของให้ผู้ที่ตกน้ำจับเพื่อลากเข้าฝั่ง ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะผู้ที่จมน้ำจะมีอาการตกใจ กอดรัด และทำให้จมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่


ทั้งนี้เมื่อน้ำคนขึ้นมาจากน้ำได้แล้วนั้นให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทาง การแพทย์ที่สายด่วน 1669 และหากสังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้กดนวดหัวใจและช่วยหายใจตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก


ส่วนการช่วยเหลือเด็กจมน้ำนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือชีวิตเด็กนั้นเป็นไปอย่างช้าและยากลำบาก


"ทั้งนี้เมื่อท่านนำเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วให้รีบนำเด็ก วางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้ง หากเด็กไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้รีบช่วยฟื้นคืนชีพ ( CPR) โดยวางส้นมือไว้ตรงกลางหน้าอก ระดับราวนมและใช้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็กพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ กดหน้าอกให้กดลงไประหว่าง 1/3 ของความลึกของหน้าอก ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง กดแต่ละครั้้งต้องเร็ว 100 – 120 ครั้ง ต่อนาที และไม่มีการหยุด ทั้งนี้ให้ทำไปจนกว่าเจ้าหน้าที่รถพยาบาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและนำเด็กส่งต่อไปยังโรงพยาบาล"เลขาธิการสพฉ.กล่าว




PPTV Photo: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม


PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ