​มาตรฐานใหม่ "อาหารจานทะเล" !?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารทะเลและมาตรฐานโดยทั่วไปของผู้บริโภค นอกจากเรื่องรสชาติที่มาคู่ความสดสะอาด และสามารถซื้อหาได้ในราคาสบายกระเป๋าแล้ว การกินอาหารทะเลยังมีมิติอื่นๆ ที่ควรได้รับความสนใจอีกไม่น้อย



หากอาหารทะเลอาศัยมาตรฐานที่กำหนดจากความต้องการของผู้บริโภค โดยเน้นความสด ราคาถูก และอร่อยเพียงอย่างเดียว อาจส่งผลกระทบตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมประมงจับปลาเกินขนาด การเอารัดเอาเปรียบแรงงานภาคประมง สั่นคลอนความอยู่รอดของชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน และที่สำคัญซึ่งย้อนกลับไปสู่ผู้บริโภคเอง นั่นก็คือเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร



งานเสวนา 'Blue Brand Standard: มาตรฐานอาหารทะเลประมงพื้นบ้าน' โดย องค์การอ็อกแฟม แห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย และเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ได้เปิดมุมมองและมิติอันหลากหลายของอาหารทะเล ตั้นแต่ต้นทางจนกลายมาเป็นอาหารจานอร่อยบนโต๊ะอาหารได้อย่างน่าสนใจ


วีระพงษ์ ประภา ผู้ประสานงานภาคเอกชนและการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย (Oxfam Thailand) เริ่มต้นโดยการตั้งคำถามว่า "จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารทะเลที่มีทั้งความปลอดภัย คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมไปพร้อมๆ กัน"


แม้จะเป็นคำถามที่ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน แต่ก็แฝงไปด้วยประเด็นอันแหลมคม เขาบอกว่า ที่ผ่านมามีการรายงานอย่างต่อเนื่อง ว่ามีการใช้สารเคมีในการรักษาความสดกับอาหารทะเล เนื่องจากปัจจุบันมีการจับปลาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่กระบวนการขนส่งที่กินเวลานาน จึงมีการตรวจพบสารปนเปื้อนในอาหารทะเลอย่างต่อเนื่อง


"ปัจจุบันมาตรฐานอาหารทะเลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ คือมาตรฐานจาก Marine Stewardship Council (MSC) ที่ออกใบรับรองอาหารทะเลยั่งยืน (Certified Sustainable Seafood) เพื่อยืนยันความปลอดภัย แต่การรับรองมาตรฐานต้องใช้เงินสูงมาก หากจะนำมาใช้กับประมงพื้นบ้านไทย ต้องเสียค่าตรวจสอบความพร้อมของชุมชน อย่างต่ำราว 10 ล้านบาท"



ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ Oxfam Thailand กับภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน และร้านคนจับปลา จึงคิดว่าจริงๆ แล้วประเทศไทย น่าจะลองเสริมสร้างศักยภาพในชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานอาหารทะเลประเทศไทยเอง ภายใต้มาตรฐานอาหารทะเล Blue Brand Standard หรือ Blue Brand Certified ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า เมื่อเห็นตรา Blue Brand บนผลิตภัณฑ์อาหารทะเลใดๆ นั่นหมายความว่า อาหารทะเลเหล่านั้นได้รับการรับรองใน 4 ด้าน ได้แก่


  • มิติด้านชุมชนประมงพื้นบ้าน ช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนประมงพื้นบ้าน เสริมสร้างโครงการพัฒนาซังกอ ธนาคารปู เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล
  • มิติทางสังคม ไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • มิติด้านสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้เครื่องมือประมงชนิดทำลายล้าง ไม่จับสัตว์น้ำช่วงฤดูขยายพันธุ์หรือช่วงเวลาที่ห้ามจับ
  • มิติด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค ผ่านกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีคุณภาพและความปลอดภัย


"สมมุติว่ามีผู้เล่นใหญ่ๆ ในประเทศไทย 10 ราย หนึ่งรายในนั้น สนใจตัวมาตรฐานนี้ สนใจในมิติต่างๆ ของ Blue Brand และนำมิติต่างๆ ไปปรับใช้ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า Blue Brand แต่ Blue Brand ก็ได้ แต่การยอมรับมาตรฐานนี้ ก็เป็นเสมือนประเด็นกระตุ้นให้ภาคเอกชนและสังคม ได้ขบคิดว่า ไม่ใช่เพียงแค่อาหารทะเลที่สดและถูกเท่านั้น แต่ต้องดี เป็นธรรม และยั่งยืนด้วย" ผู้ประสานงาน Oxfam Thailand ตั้งความหวัง



ด้าน เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลา บอกว่า ข้อดีของการทำ Blue Brand หรือมีมาตรฐานรองรับ จะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านขยายตลาดได้กว้างขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาร้านคนจับปลาทำตามมาตรฐานทั้ง 4 ข้อของ Blue Brand อยู่แล้ว โดยในทางปฏิบัติมาตรฐานเหล่านี้ สามารถนำไปปรับใช้กับประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่ใดๆ ก็ได้ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานในทุกมิติ ตลอดทั้งสายพานการผลิตตั้งแต่บนเรือจนถึงขึ้นฝั่ง แต่หากชุมชนใดต้องการใช้แบรนด์ร้านคนจับปลา ก็จะมีวิธีปฏิบัติเฉพาะของร้านเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดการวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน


ขณะที่ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทิ้งท้ายด้วยการเล่าถึงประสบการณ์การแพ้อาหารทะเล จนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลว่า อาการแพ้อาหารทะเลที่เข้าใจกันนั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการแพ้สารฟอร์มาลิน (formalin) ที่ปนเปื้อนมากับอาหารทะเล นอกจากนี้เขายังได้ร่วมสะท้อนแง่มุมในฐานะชาวประมงพื้นบ้านด้วยว่า "เมื่อผู้บริโภคได้รับสารเคมีเยอะๆ ก็มาบ่นคนจับว่า พวกคุณจับปลามาแล้วใช้สารเคมี ทำให้พวกฉันไม่ปลอดภัย เพราะนอกจากแพ้อาหารทะเลแล้ว ยังได้รับอันตรายจากสารฟอร์มาลินด้วย เมื่อไม่ได้มองทั้งกระบวนการ ความหนักใจก็เกิดขึ้น เพราะคนจับปลามักถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ที่ทำร้ายเพื่อนมนุษย์"



แม้การกระบวนการผลักดันมาตรฐานดังกล่าว จะไม่ใช่เรื่องที่จุดติดได้ในระยะเวลาสั้น เพราะต้องอาศัยความตระหนักรู้และความเข้าใจจากสังคม และผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย แต่พวกเขาก็มุ่งหวังว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ร้อยละ 10 ของอาหารทะเลในเมืองไทย จะหันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐาน Blue Brand เพื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยให้ผู้บริโภค และความยั่งยืนของวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านไทย..



TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ