​ศึกประมูลคลื่น 900MHz 4 วันยังเดือด! จับตาทรูมูฟชิงตำแหน่งยักษ์ใหญ่สื่อสาร?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ศึกประมูล 4G คลื่น 900 MHz วันที่ 4 ยังสู้กันดุเดือด AIS-DTAC เสี่ยงรักษาฐานลูกค้า TRUEMOVE ต้องการประกาศศักดาวงการสื่อสาร ประมูล4G คลื่น 900 MHz ยังเดือด! JAS พิสูจน์สายป่านยาวแค่ไหน


ประมูลเดือด 4G คลื่น 900MHz เป็นเวลา 4 วันแล้ว โดยมีผู้ประมูล 4 เจ้าได้แก่ AIS,TRUE,DTAC และ JAS Mobile ยังไม่มีใครถอย ซึ่งถือว่าแซงหน้าราคาการประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่อยู่ที่ราคา 80,778 ล้านบาทไปเกือบสองเท่าตัว คือแตะที่ระดับราคา 144,546 ล้านบาท


ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วิเคราะห์ว่า ถ้าจะบอกว่าขณะนี้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ อาจตอบไม่ได้ชัด แต่วิเคราะห์มาก่อนหน้านี้แล้วว่า คลื่น 900 MHz จะมีการแข่งขันที่ดุเดือดกว่า 1800 MHz เหตุผลคือ คลื่น 900 MHz มีความได้เปรียบเรื่องของการเดินทางได้ไกลกว่าคลื่น 1800 MHz เป็น 2 เท่า เหมือนคนขายาวที่เดิน 1 ก้าว ขณะที่คลื่น 1800 MHz ต้องเดิน 2 ก้าว


ส่วนสถานีฐาน คลื่น 900 MHz ที่มีมานานแล้ว มีสถานีฐานจำนวนมาก แต่คลื่น 1800 MHz มีสถานีฐานน้อยกว่า ซึ่ง กสทช.มีข้อบังคับกับผู้ที่ประมูลคลื่นได้ว่าจะต้องสร้างสถานีฐานเพิ่มขึ้นปีละกี่สถานีฐาน


"คนลงทุนคลื่น 1800MHz จะหนักตรงนี้ คือต้องสร้างสถานีฐาน แต่ขณะเดียวกันก็มีคำถามของชุมชนแน่นอนเรื่องของเสาที่มีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งบางสถานีอาจจะต้องเสียเวลาทำประชาพิจารณ์เป็นปี ซึ่งหลังจากทำแล้วก็อาจถูกต่อต้าน สร้างไม่ได้อีก" ผศ.ดร.ชาญไชย กล่าว


ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ผู้ประกอบการทั้ง 4 เจ้าถึงสู้ราคากันดุเดือดเลือดพล่านถึงเพียงนี้


อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ชาญไชย มองว่า การที่ราคาประมูลคลื่น 900 MHz รวม2 ใบอนุญาตขึ้นสูงกว่าแสนล้านแล้วนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการยังประเมินว่ายังสามารถแข่งขันได้ และสร้างกำไรได้ จึงต้องสู้กันขนาดนี้ เพื่อขยายธุรกิจของตัวเอง


"คลื่นความถี่ เปรียบเหมือนถนน เมื่อก่อนอยู่ภายใต้รัฐ แต่ตอนนี้ กสทช.เอาไปดูแล ใครก็อยากได้ถนน ส่วนโทรศัพท์เป็นเหมือนรถ รถก็ต้องการถนน ใครๆ ก็ต้องการถนน" ผศ.ดร.ชาญไชย กล่าว


โดย AIS มีฐานลูกค้าอยู่ 40 ล้านคน ก็ยังต้องการ4 G ทั้งคลื่น 1800 MHz และ คลื่น 900MHz เพราะต้องการถนน


"ประชาชนจะไม่เสียประโยชน์ ความเสี่ยงจะอยู่ที่ผู้ประกอบการทั้งหมด เพราะถูกกสทช.บีบให้มีค่าบริการถูกกว่า 3G ขณะที่การแข่งขันเสรีก็จะต้องแข่งกันที่การบริการ และราคา อย่าง AIS ถ้าไม่ได้คลื่นมาอยู่ในมือ แล้วโทรศัพท์หลุดง่าย อินเทอรเน็ตหลุดง่าย ก็เสียลูกค้า ในระยะยาวแล้วการทำธุรกิจจะลำบาก" ผศ.ดร.ชาญไชย กล่าว


DTAC ต้องแข่งกับ AIS และ TRUEMOVE เพราะเหลือสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz อีกแค่ 3 ปี คือหมดสัญญาในปี 2561


ขณะที่ Truemove มีลูกค้าไม่มากเท่า AIS แต่มองว่าครั้งนี้ Truemove ต้องการประกาศ ว่าเป็นเจ้าใหญ่ของการสื่อสาร และเพิ่มฐานลูกค้าในระยะยาว


ด้านเจ้าใหม่อย่าง JAS Mobile แม้เป็นเจ้าใหม่ แต่ยังสู้ไม่ถอย เพราะยังไม่มีคลื่นในมือเลย


อย่างไรก็ตาม วันนี้พิสูจน์แน่ชัดแล้วว่า ต่อไปในวงการธุรกิจการสื่อสาร จะมีแต่เจ้าใหญ่ สายป่านยาวเท่านั้นถึงจะอยู่รอด ขณะที่ธุรกิจสื่อสารเจ้าเล็กโอกาสเกิด หรือโอกาสประมูลคลื่นความถี่จากภาครัฐแทบไม่มี


เว้นแต่ว่า จะเกิดโมเดลใหม่ขึ้นมา คือเจ้าใหญ่ที่ประมูลคลื่นความถี่ได้ แบ่งให้เจ้าเล็กเข้าร่วมลงทุน แต่จะมีไหม หรือจะเป็นรูปแบบใด ยังไม่เกิดขึ้น


แต่ที่แน่ๆ คือ สิ่งที่น่าห่วงคือรัฐวิสาหกิจของรัฐทั้ง 2 แห่ง ที่เป็นเจ้าของเดิม เมื่อไม่มีคลื่นในมือแล้ว ไม่มีการแบ่งรายได้ภาครัฐมาให้แล้วจะดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไรมากกว่า

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ