​ปิดประตู โก่งราคา 4G


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รับรองผลอย่างเป็นทางการแล้ว หลังกสทช.แถลงผลการประมูลคลื่น 4G ย่าน 900 MHz โดย "ทรู" และ "แจส" ได้รับใบอนุญาตไป พร้อมยืนยันไม่ต้องห่วงค่าบริการ เนื่องจาก 3 ค่ายใหญ่เดิมจะปรับราคาค่าบริการลง เพื่อร้บน้องใหม่อย่าง แจส โมบายบอร์ด แบรนด์

ผู้ชนะการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ทั้ง 2 บริษัท คือ แจส โมบาย และ ทรู ต่างออกมาเปิดเผยแผนงาน และให้ความเชื่อมั่นไปในทิศทางเดียวกันว่า บริษัทมีศักยภาพพอจะบริหารจัดการคลื่นความถี่ และที่สำคัญราคากว่าประมูลกว่า 7 หมื่นล้านบาท ที่ต้องจ่าย ไม่ได้ถือว่าแพง หากเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของคลื่น 900 MHz ที่ได้มา

แจส โมบาย บรอดแบนด์ นายพิชญ์ พาธารามิก กรรมการบริษัทฯนำทีมผู้บริหารเปิดใจต่อสาธารณะครั้งแรก หลังชนะการประมูล 4G ย่านความถี่ 900 MHz ในราคา 75,654 ล้านบาท กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่และรายที่ 4 ในธุรกิจนี้ของประเทศไทย

แจส โมบาย พูดชัดเจนว่าตั้งเป้าเป็นเบอร์ 2 ของอุตสาหกรรมนี้รองจาก TRUE และจะไม่มีการร่วมทุนกับบริษัทที่แพ้การประมูลอย่างแน่ชัดเจน พร้อมระบุว่า ไม่ใช่น้องใหม่ไร้ประสบการณ์ที่ไม่มีต้นทุน เพราะเดิมเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์บ้านในนาม 3 BB และได้พูดคุยกับรัฐวิสาหกิจถึงแผนการลงทุนในตลาดโทรศัพท์มาแล้วช่วงหนึ่ง อีกทั้งยังนำแผนงานมาเปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาด้วย

แผนงานที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ นำรายละเอียดมาเปิดเผยสามารถสรุปให้เข้าใจง่ายๆได้ในช่วงประมาณ 5 ปีแรก ท่าทีของแจสในวันนี้ชัดเจนว่าพยายามสื่อสารให้เข้าใจว่า ตัวเองไม่ใช่ผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ โดยระบุว่าต้นทุนเดิมในการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน 3BB สายเคเบิลนำแก้วที่คลอบคลุมพื้นที่กว่า 5 พันหมู่บ้านทั่วประเทศ ฮอสสปอตไวไฟที่มีอยู่แล้วกว่า 1 แสนจุด ศูนย์บริการลูกค้าอีก 300 แห่ง

ขณะเดียวในปีแรกจะใช้งบอีกราว 2 หมื่นล้านบาท พัฒนาโครงข่าย 4G เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้ 2 ล้านเลขหมายจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1 ล้าน 8 แสนคน และจะเพิ่มเป็น 5 ล้านรายในปีที่ 3

นอกากนั้นจะสร้างพันธมิตรร่วมลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าเมื่อครบ 5 ปี จะมีเงินทุนไหลเข้าบริษัทอย่างน้อยประมาณ 4 – 5 พันล้านบาท หากเป็นไปตามนี้การแบ่งจ่ายเงินค่าประมูลเป็นงวดตามเกณฑ์ที่กสทช. กำหนดไว้ ก็จะไม่ใช่ปัญหาของบริษัท แม้ก่อนหน้านี้จะถูกมองว่า มูลค่าทรัพย์สินของบริษัททั้งหมดที่มีอยู่ในเวลานี้ ยังไม่ถึงของมูลค่าที่ตัดสินใจยื่นประมูลก็ตาม

เช่นเดียวกับแผนงานของบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่วันนี้ออกมาแถลงเมื่อช่วงเที่ยงต่อจากแจส และพูดอย่างชัดเจนว่า ราคา 76,298 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายเป็นค่าใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ถือว่าไม่แพงอย่างที่เข้าใจกัน เพราะทรูประเมินประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ย่านนี้แล้วว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในตั้งเสาโครงข่ายได้ถึง 4 หมื่น 5 พันล้านบาท

และยิ่งแลกกับการขึ้นชั้นเป็นเบอร์ 1 ของผู้ให้บริการ ที่มีคลื่นความถี่ในมือจำนวนมากที่สุด ที่จะมีทั้ง 850 MHz 1800 MHz 2100 MHz และ 900 MHz ก็ยิ่งถือว่าคุ้มค่า เพราะจะทำให้ทรูกลายเป็นผู้ให้บริการที่มีสัญญาณคลอบคลุมและกว้างมากที่สุด เชื่อว่าทั้งหมดจะเป็นต้นทุนให้สามารถขยายฐานผู้ใช้บริการใหม่ได้ถึง 15 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการ 2G เดิมที่ยังมีอยู่มากยากจะได้คำตอบที่เบ็ดเสร็จในเวลานี้ว่า การออกมาพูดต่อสาธารณะของทั้งแจสและทรูในทิศทางนี้ เป็นการเดินหมากก้าวแรกในสงครามธุรกิจ 4G ที่มีความหมายอย่างไร แต่หากย้อนกลับมาดูข้อมูลในฝาก กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล หรือองค์กรทางวิชาการที่ติดตามความเป็นไปของอุตสาหกรรมนี้มาตลอด อย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศหรือ ทีดีอาร์ไอ ก็ยังน่าอุ่นใจอยู่พอสมควรสำหรับผู้ใช้บริการ เพราะนอกจากจะมีเครื่องมือกำกับดูแลราคาให้บริการที่ไว้ใจได้ ก็ยังมีข้อมูลการประเมินราคาประมูลที่ตรงกับผู้ประกอบว่า ไม่ได้แพงเกินจริงอย่างที่เข้าใจ

รูปธรรมที่ชัดเจนต้องย้อนกลับมาดูประสิทธิภาพของใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ที่มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ถึงขั้นถูกเอ่ยถึงว่าเป็นการทำลายสถิติโลก แต่ในแง่ต้นทุนในการขยายเสาโครงข่ายถือว่า คุ้มค่า เพราะถ้าหากเปรียบเทียบกับใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz คลื่นความถี่ 900 MHz ใช้งบประมาณในส่วนนี้ต่ำกว่ามาก เพราะการตั้งเสาโครงข่ายเพียงแค่ 1 ต้นในคลื่นความถี่ 900 MHz ให้ประสิทธิภาพของสัญญาณเทียบกับ คลื่นความถี่ 1800 MHz ถึง 3 ต้น

และยิ่งเห็นภาพชัดเมื่อนำมาเปรียบกับข้อมูลที่อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ที่นำมูลค่าจากราคา 4G คลื่น 1800 MHz ที่เอไอเอสประมูลได้ มาเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิต่อปีของบริษัทพบว่า ราคาที่ประมูลมีมูลค่าเพียงกำไรสุทธิ 1.13 ปีอของบริษัทเท่านั้น นั่นหมายความราคา 4G คลื่น 900MHz อาจสูงกว่าและมากกว่าความคาดหมายมาก แต่แน่นอนว่าการตัดสินใจสู้ราคาของผู้ประกอบการต้องผ่านการวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี

สถานการณ์เหล่านี้เมื่อนำเปรียบกับสถานการณ์ความรุนแรงของสนามแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เชื่อว่า ไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะโก่งราคาค่าบริการได้ หรือถ้าหากมีการให้บริการในราคาแพงเกินจริงเกิดขึ้น ก็ยังมีระเบียบตามอำนาจของกสทช.เข้ามาตรวจสอบ ตักเตือน จนถึงลงโทษได้

และอาจจะไม่เกินจริง หากจะใช้คำว่าปิดประตูโอกาสที่จะมีการโก่งราคาในการให้บริการ 4G หากยังอยู่ในยุคคสช. เพราะนอกจากจะไม่มีเหตุผลตามข้อมูลที่เสนอมา ยังมีคำสั่งเป็นวาจาชัดเจนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พูดในวันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ