ชำแหละขัดแย้ง “ซาอุฯ-อิหร่าน” ศราวุฒิชี้ความสัมพันธ์ระอุหลังปฏิวัติอิหร่าน (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษาฯ ชี้ความสัมพันธ์ ซาอุฯ-อิหร่านระอุหลังปฏิวัติอิหร่าน แนะไทยเป็นกลาง -ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับสองมหาอำนาจแห่งตะวันออกกลาง​


ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวผ่านรายการ เป็นเรื่องเป็นข่าว ถึง กรณีพิพาทของประเทศซาอุดิอาราเบีย และ ประเทศอิหร่านว่า รอยร้าวความสัมพันธ์ของสองประเทศเริ่มมาจากการปฏิวัติอิหร่าน เนื่องจากปฏิวัติอิหร่านเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตย เป็นสาธารณรัฐอิสลาม โดยผู้นำปฏิวัติประกาศกร้าวและวิจารณ์ระบอบการปกครองของซาอุฯ ว่า การปกครองแบบราชาธิปไตยไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนา ขณะเดียวกันซาอุฯมองว่าอิหร่านส่งออกแนวทางปฏิวัติของตนเองไปยังกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย ได้แก่ บาห์เรน การ์ต้า ซึ่งมีประชาชนส่วนน้อยที่เป็นชีอะห์ จนผู้คนเหล่านั้นได้รับแรงบันดาลใจและต้องการเลียนแบบ  จนทำให้ซาอุฯ หวาดระแวงว่าอิทธิพลของอิหร่านจะทำให้เกิดภัยคุกคามต่อราชวงศ์ซาอุฯ และสกัดกั้นให้อิรักไปทำสงครามกับอิหร่าน ซึ่งเป็นสงครามนองเลือดที่ดุเดือด และต่อมาความสัมพันธ์ของสองประเทศก็เลวร้าย แต่ก็กลับมาดีขึ้นปี 1990-2000  หลังเกิดอาหรับสปิงส์ 2011 มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ ทำให้ความสัมพันธ์อิหร่านและซาอุฯเลวร้ายลงไปอีก


"ความขัดแย้งซาอุฯและอิหร่าน ไม่เกี่ยวข้องกับนับถือนิกายที่แตกต่างกัน แต่เป็นเรื่องเป็นความหวาดระแวง และการขยายอิทธิพลทางการเมือง เพราะอิหร่านมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีสหรัฐฯเข้าไปคุยกับอิหร่านมากขึ้น เพราะอิหร่านมีทรัพยากรอยู่มาก และอิหร่านมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งตรงนี้อาจทำให้ซาอุฯไม่พอใจ และปัจจุบันเราเห็นการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ในส่วนของสงครามจะเกิดขึ้นยาก เพราะ ซาอุฯยังมีสงครามที่เยเมน และประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ยังไม่พร้อมเผชิญหน้าอิหร่าน ขณะเดียวกันอิหร่าน เป็นชนกลุ่มน้อยในโลกมุสลิม และยังถูกคุมความประพฤติโดยประเทศมหาอำนาจ รวมถึงการเกิดสงครามอาจจะไม่ใช่เป็นการรบโดยตรง แต่อาจจะเป็นสงครามตัวแทนโดยใช้ซีเรียที่เป็นพื่นที่ความขัดแย้ง" ดร.ศราวุฒิ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า ก่อนหน้าปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ความสัมพันธ์ของสองประเทศอยู่ในระดับดีมาก แม้จะนับถือศาสนาที่ต่างนิกายกัน โดยความสัมพันธ์แนบแน่นของทั้งสองประเทศในก่อนหน้านี้เกิดจากมีระบอบการปกครองราชาธิปไตยเหมือนกัน มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันคือนํ้ามัน และเผชิญภัยคุกคาม ซึ่งเป็นกระแสชาตินิยมอาหรับ คือการโค่นล้มราชวงศ์กษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆเหมือนกัน แต่แล้วความสัมพันธ์ต้องพลิกผันช่วงปฏิวัติอิหร่าน


สำหรับการรับมือของประเทศไทย ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า ไทยต้องทำตัวเป็นกลาง และไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับสองมหาอำนาจแห่งตะวันออกกลาง ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นราคาน้ำมันอาจจะพุ่งสูงขึ้น เพราะทั้งสองประเทศนี้เป็นประเทศมหาอำนาจทางน้ำมันของโลก

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด คุณสนใจหรือไม่?

POP NEWS

POP NEWS

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ