คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากรชวนประกวดออกแบบพุทธรูปประจำรัชกาลปัจจุบัน ชิงรางวัลกว่า 1.8 ล้าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร แถลงจัดการประกวดจิตรกรรมและประติมากรรม 2 รูปแบบชิงเงินรางวัลกว่า 1.8 ล้านบาท ไฮไลท์สำคัญคือออกแบบพุทธประติมากรรมประจำรัชกาลปัจจุบัน


ประธานจัดการแข่งขันโครงการเพชรยอดมงกุฎ มอบโจทย์การประกวดว่า จะสร้างพุทธประติมากรรมอย่างไร ให้เป็นพระพุทธรูปประจำสมัยรัชกาลปัจจุบัน ที่สื่อถึงความเป็นไทย ซึ่งศิลปินแห่งชาติได้แนะการหาแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานเข้าประกวดชิงรางวัลแก่ผู้ที่สนใจประกวดอีกด้วย


วันนี้(13 ม.ค.)คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร(ม.ศิลปากร) ร่วมกับมูลนิธิร่มฉัตร และมูลนิธิคิงเพาเวอร์ แถลงการจัดประกวดออกแบบจิตรกรรมและประติมากรรมเพชรยอดมงกุฏ ครั้งที่ 5 โดยอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าการจัดประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฏครั้งที่ 5 นี้ จะประกวด 2 รูปแบบคือ


1.ประกวดการออกแบบจิตรกรรม 2 มิติ ซึ่งจะจัดเป็นครั้งแรก ในหัวข้อ "อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล"


2.ประติมากรรมสร้างสรรค์ 3 มิติ โดยจะมี 2 หัวข้อคือ พระพุทธรูปปางคันธาระ และพระพิฆเนศ


การประกวดครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทั้งสองผลงานสร้างประวัติศาสตร์อารยธรรมศาสนาของไทย ผ่านงานศิลปะออกมามีความงดงาม เข้าถึงความศรัทธาของคนไทยอย่างชัดเจน


พระพรหมมังคลาจารย์ (ดร.เจ้าคุณธงชัย) ประธานมูลนิธิร่มฉัตรและการแข่งขันโครงการเพชรยอดมงกุฎเผยว่า การประกวดครั้งนี้ ต้องการสร้างปรัชญาทางศาสนาผ่านงานศิลปะ ที่เรียกว่าพุทธศิลป์ รังสรรค์ให้เกิดความงามที่ลึกซึ้งในรูปแบบใหม่ ที่สำคัญคือต้องการหาบุคคลที่มาทำจิตรกรรมและประติมากรรมให้เกิดขึ้น เพื่อรักษาคุณค่าของแผ่นดิน


ไฮไลท์สำคัญคือได้ฝากโจทย์ให้ผู้เข้าประกวดว่า จะสร้างพุทธประติมากรรมอย่างไร ให้เป็นพระพุทธรูปประจำสมัยรัชกาลปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีพระพุทธรูปประจำรัชกาลอยู่แล้ว เช่น รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ,รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ, รัชกาลที่ 5พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทร์ และ รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก เป็นต้น


ศิลปินผู้เข้าประกวดจะสร้างงานที่แตกต่างจากพระพุทธรูปปางก่อนๆอย่างไรให้ผู้คนยอมรับและสื่อถึงแก่นอารยธรรมศาสนาของความเป็นไทยได้ ตรงนี้คือจุดสำคัญในการประกวดครั้งนี้


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ และกรรมการคัดเลือกงานจิตรกรรม ให้แนวทางสร้างสรรค์ผลงานว่า ต้องหาตัวตนความเป็นไทยให้เจอจากอัตลักษณ์และภูมิปัญญา "นิยามประกวดครั้งนี้คือ เอาแนวคิดวิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรม มาสร้างจิตรกรรม มาเป็นแรงบรรดาลใจในหลักคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ในการตีความออกมาเป็นรูปแบบที่สร้างสรรค์ทางศิลปะ ของยุคสมัยปัจจุบันที่เป็นความจริง ความดี และความงาม ที่สื่อถึงมิตรภาพและความสุขของมวลมนุษยชาติ ผ่านวัฒนธรรมเก่าแก่ นำมาทำขึ้นใหม่ให้เป็นคนปัจจุบัน นี่คือโจทย์ที่ศิลปินผู้เข้าประกวดต้องตีให้แตก" ศ.เกียรติคุณ ปรีชา กล่าว


ศ.เกียรติคุณ ปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่าความงามทางศิลปะ คือ ความพอดี ความลงตัวของความคิด และความเชื่อ ไม่ใช่แค่ความงามที่ปรากฏ แต่ต้องประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรม


อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ กล่าวเชิญชวนศิลปิน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้ร่วมส่งผลงานประกวดเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์อารยธรรมของไทยผ่านงานศิลปะ พร้อมทิ้งท้ายว่า การร่วมประกวดครั้งนี้รางวัลเป็นสิ่งชื่นชมและยินดี แต่ที่มากกว่านั้น คือ คือศิลปินจะได้สร้างคุณค่าทางจิตใจให้เป็นประวัติศาสตร์ด้านศิลปะ "แม้ตายไปแล้ว งานชิ้นนี้ยังอยู่บนโลก" อาจารย์ปัญญา กล่าว


สำหรับผู้ที่สนใจสามารถส่งใบสมัครตั้งแต่วันที่ 23-27 เม.ย. 2559 ที่ อาคารศูนย์ปฏิบัติการทัศนศิลป์สิรินธร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ซึ่งการประกวดมี 2 ประเภท. คืองานจิตรกรรม 2 มิติ หัวข้อ "อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล" อันเป็นเส้นทางการค้าที่ก่อเกิดอารยธรรมที่สำคัญในประวัติศาสตร์กว่าสองพันปี และงานด้านประติมากรรมสร้างสรรค์ 3 มิติ มี 2 หัวข้อคือ พระพุทธรูปปางคันธาระ และพระพิฆเนศ ในการประกวดครั้งนี้มีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้นกว่า 1,860,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และจะมีการจัดแสดงผลงานที่เข้ารอบและได้รางวัลจากการประกวดในช่วง มิ.ย.-ก.ค. ปี 2559



รายงานโดย: เครือมาศ พรมสา

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ