อย. เผยผักสลัดปนเปื้อน “เชื้อซัลโมเนลลา” หลุดเข้าไทยกว่า 9 กิโล!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากการตรวจสอบพบว่าก่อนหน้านี้ มีการนำเข้าผักสลัดปนเปื้อน “เชื้อซัลโมเนลลา” จำนวน 2 ครั้ง รวม 9 กิโลกรัม

 

กรณีสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการแจ้งเตือนภัยทางอาหารจากฝ่ายเลขานุการเครือข่ายอาหารปลอดภัยระหว่างประเทศ (INFOSAN Secretariat) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าประเทศออสเตรเลียมีการเรียกคืนสินค้า ประเภทผักสลัดบรรจุในถุงพลาสติก ที่ผลิตโดยบริษัท Tripod Farmers Pty Ltd. จำนวน 25 รายการ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella anatum) ซึ่งเป็นเชื้อก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ในสินค้าที่ส่งไปขายในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น

ล่าสุด เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยอมรับว่า จากการตรวจสอบด่านอาหารและยาทั่วประเทศ พบว่าก่อนหน้านี้มีการนำเข้าผักสลัดยี่ห้อดังกล่าว จำนวน 2 ครั้ง รวม 9 กิโลกรัม โดยผู้นำเข้าได้จำหน่ายไปหมดแล้ว และได้แจ้งการเรียกคืนผักรุ่นดังกล่าวกับลูกค้าแล้ว พร้อมสั่งการให้ทุกด่านเฝ้าระวังผักสลัดที่พบปัญหาดังกล่าว มิให้มีการนำเข้าในประเทศไทยอีกเด็ดขาด

ทั้งนี้ รองเลขาธิการ อย. แนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคผัก ขอให้ผู้บริโภคล้างผักอย่างถูกวิธี เพื่อลดการตกค้างของสารฆ่าแมลง หรือเชื้อโรคต่างๆ มิให้เกิดโรคอุจจาระร่วง หรือโรคร้ายแรงอื่นๆ โดยก่อนรับประทานผักและผลไม้ ควรล้างให้สะอาดทุกครั้ง โดยใช้มือคลี่ใบผักและเปิดน้ำไหลจากก๊อกแรงพอประมาณ ให้น้ำไหลผ่านผักประมาณ 2 นาที หรือลอกปอกเปลือกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี เด็ดผักเป็นใบๆ แล้วแช่น้ำสะอาด หรืออาจใช้น้ำส้มสายชู 5% ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่ผักทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือจะใช้น้ำยาล้างผัก หรือใช้น้ำร้อนลวกผักก็ได้ ที่สำคัญ ควรยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เพื่อสุขอนามัยที่ดี

“เชื้อซัลโมเนลลา” เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อย อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยคือ ถ่ายอุจาระเป็นน้ำ  คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไข้สูง  หนาวสั่น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันที แต่ละปีประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ปีละ 1 แสนกว่าคน ในปี 2559 ตั้งแต่ต้นปี – วันที่  1 ก.พ. ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแล้ว 9,444 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ