ชี้ “แม่วัยรุ่น” บั่นทอนคุณภาพประชากรไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รามาธิบดี ชี้อัตราแม่วัยรุ่นในสังคมไทยยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ห่วงสภาพจิตใจเด็กสาว – พัฒนาการเด็กทารกไม่สมบูรณ์

 

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หน่วยเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่ยังขาดความพร้อมทั้งด้านร่างกายจิตใจ เศรษฐกิจ วุฒิภาวะฯลฯ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงเป็นปัจจัยที่บั่นทอนคุณภาพประชากรไทย ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “เกิดน้อยด้อยคุณภาพ” จากรายงานสถิติการคลอดในประเทศไทย พบว่าในปี 2556 มีจำนวนการคลอดทั้งหมด 748,067 ราย เป็นการคลอดจากผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 125,371 ราย สูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และสูงเป็น 13 เท่าของสิงคโปร์ นอกจากนี้พบจำนวนคลอดซ้ำในกลุ่มวัยรุ่น มีสูงถึงร้อยละ 12.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 ในปี 2553

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก่อให้เกิดปัญหาตามมามาก ตั้งแต่การทำแท้งผิดกฎหมายซึ่งไม่มีข้อมูลชัดเจน จากรายงานการเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยปี 2556 โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย พบว่า สัดส่วนการทำแท้งในกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีถึงร้อยละ 28.1 ของผู้ป่วยที่ทำแท้งในสถานพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าการทำแท้งนอกสถานพยาบาลจะต้องสูงกว่านี้มากมายหลายเท่า

“ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ร้อยละ 19 ของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เมื่อมีการตั้งครรภ์ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เป็นการตั้งครรภ์แบบไม่ได้ตั้งใจ และ ร้อยละ 30 นำไปสูการทำแท้ง นอกจากนี้ ร้อยละ 10 ทิ้งลูกไว้ในโรงพยาบาลที่คลอด เนื่องจากวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่มักมีวุฒิภาวะไม่พร้อมต่อการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจและสังคม”

การตั้งครรภ์ในช่วงอายุนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา เช่น สภาวะทางอารมณ์ไม่มั่นคง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเรียน ครอบครัวและสังคมรุมเร้า อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าแม่วัยรุ่นมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าสูงทั้งก่อนคลอด (ร้อยละ 42) และหลังคลอด (ร้อยละ 14.9-53) ภาวะซึมเศร้าในแม่วัยรุ่นส่งผลต่อทั้งสุขภาพของแม่และทารก โดยพบว่าการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำและขาดการสนับสนุนทางสังคม

สำหรับผลกระทบต่อลูกของแม่วัยรุ่น ได้แก่ เด็กเกิดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 18 หรือเสียชีวิตหลังคลอด การขาดทักษะในการเป็นพ่อแม่มีผลกระทบ ทำให้ลูกของแม่วัยรุ่นมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ และพัฒนาการล่าช้า ไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน พ่อแม่วัยรุ่นที่แต่งงานหรืออยู่ด้วยกัน มักมีปัญหาและลงเอยด้วยการหย่าร้าง มีแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุต่ำกว่า 15 ปีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือแม่การขาดโอกาสทางการศึกษา 

“การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 32 ต้องออกจากการศึกษา ซึ่งเป็นไปได้ว่าวัยรุ่นที่คลอดปีละกว่า 100,000 คนนี้  ส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียนกลางคัน และไม่สามารถเรียนต่อได้ด้วยเหตุผลต่างๆ  ขณะที่ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการสภาการศึกษารายงานว่า อัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันด้วยเหตุสมรสในกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา ระหว่างปีการศึกษา 2548-2555 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 เป็น 2.7  กลุ่มมัธยมศึกษาตอนต้น เพิ่มจากร้อยละ 5.1เป็น 6.2 และกลุ่มมัธยมตอนปลาย จากร้อยละ 4.2 เป็น 6.5  การตั้งครรภ์จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นต้องหยุดเรียน ไม่มีอาชีพหันไปประกอบอาชีพแรงงานที่มีรายได้ต่ำ และไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองและลูกให้มีคุณภาพได้”

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ