พลิกวิกฤติ “ครูเกษียณอายุ” เติมเต็มระบบอย่างมีคุณภาพ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาไทย สะท้อนปัญหาในแง่มุมต่างๆ ซึ่งไม่ได้โฟกัสเฉพาะจำนวนบุคลากรครู ที่กำลังจะเกษียณอายุหลายแสนอัตราในช่วงทศวรรษนี้ !?

ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ระบุว่าระหว่างปี 2556 – 2570 ครูไทยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเกษียณอายุรวมกัน 288,233 คน โดยปี 2562 ถือเป็นปีที่วิกฤติมากที่สุด เนื่องจากมีครูเกษียณพร้อมกันสูงถึง 28,246 คน โดยตั้งแต่ปี 2557-2562 พบว่า สาขาที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ คณิตศาสตร์ 14,399 คน ภาษาอังกฤษ 13,852 คน ภาษาไทย 11,454 คน สังคมศึกษา 7,487 คน และวิทยาศาสตร์ 7,462 คน !!! 

ข้อมูลดังกล่าวได้สร้างความวิตกกังวลในวงกว้าง เนื่องจากหลายฝ่ายเกรงว่าหากกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เร่งดำเนินมาตรการเติมครูเข้าสู่ระบบให้เท่าทัน ในภาพรวมอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทย ทว่าจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญวงการศึกษาไทย ทีมนิวมีเดีย PPTV ได้รับคำตอบ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาแง่มุมต่างๆ ซึ่งไม่ได้โฟกัสเฉพาะ จำนวนบุคลากรครูที่กำลังจะเกษียณอายุหลายแสนคนในช่วงทศวรรษนี้

 

“ทีดีอาร์ไอ” มองวิกฤติครูเกษียณเป็นโอกาส

“ในช่วง 10 ปี จะมีการเกษียณของครูขนานใหญ่ ตัวเลขกลมๆ ระหว่างปี 2556 – 2567 อยู่ที่ประมาณเกือบ 2 แสนคน สถานการณ์นี้บางคนอาจมองว่าเป็นวิกฤติ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถมองว่าเป็นโอกาสได้เช่นกัน หากว่าในทางปฏิบัติรัฐมีการปรับปรุงกระบวนการ คัดเลือกครูเข้าสู่ระบบได้อย่างมีคุณภาพ และตรงกับความต้องการเชิงพื้นที่มากขึ้น ในภาพรวมจะช่วยทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นได้”

ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยอาวุธโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขครูเกษียณอายุข้างต้น แม้จะถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง แต่ด้วยระบบเติมเต็มครูที่เป็นไปในลัษณะ 1 ต่อ 1 เขาจึงมองว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจมากนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างประชากรที่เด็กเกิดใหม่ลดลงเรื่อยๆ ในอนาคตความต้องการครูจึงน้อยลงตามไปด้วย

 

ขาดแคลนครู เฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก - พื้นที่ห่างไกล

นักวิจัยอาวุธโส ทีดีอาร์ไอ บอกว่า ครูขาดแคลนไม่ได้เป็นปัญหาในระดับใหญ่ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยหากมองตามค่าเฉลี่ยจำนวนนักเรียน 17 คน ต่อครู 1 คน ตัวเลขกลมๆ ในปี 2557 ที่ผ่านมา จะพบว่าเราประสบปัญหาขาดแคลนครู ประมาณ 6-7 พันคน แต่หากเจาะลึกลงไปในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนจริงๆ จะพบว่า ปัญหาครูขาดแคลนหรือครูไม่ครบชั้น มีสูงถึงประมาณเกือบ 3 หมื่นคน

ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้โรงเรียนที่มีครูล้น ทำให้โรงเรียนอีกหลายแห่งประสบปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการจัดสรรทรัพยากร ที่ไม่ได้ยึดตามความต้องการของเด็กนักเรียนเป็นหลัก โดยปัจจุบันการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายโรงเรียน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของครูผู้สอนเป็นหลัก ถ้าไม่มีครูสมัครใจไปสอนยังโรงเรียนที่ขาดแคลน เขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่สามารถย้ายครูได้ แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมีข่าวดีว่าตอนนี้มีการออกกฎระเบียบใหม่ เอื้อให้ระบบย้ายหรือเกลี่ยครูในพื้นที่ต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น

“ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนครูไทย ขยับขึ้นสูงเท่ากับพนักงานเอกชนในท้องตลาด ประกอบกับมีคนเข้ามาเรียนคณะคุรุศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวจึงมองว่าแม้จำนวนครูเกษียณอายุจะค่อนข้างสูง แต่ปริมาณนักศึกษาครูที่จบใหม่ในแต่ละปี สามารถเข้ามาเติมเต็มตำแหน่งว่างได้ครบทุกอัตรา”

 

ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ต้องวางแผนผลิตครูร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ศุภณัฏฐ์ เน้นย้ำว่า เพื่อให้การเติมเต็มตำแหน่งครูในระบบ ได้ตรงตามกลุ่มสาระวิชาที่เกษียณอายุราชการ หรือประสบปัญหาขาดแคลนอย่างแท้จริง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันวางแผนในระยะยาว โดยวิเคราะห์ว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า วิชาอะไรบ้างจะขาดแคลนครูผู้สอน เพื่อมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตในสาขานั้นๆ เข้ามาเติมเต็ม แต่ปัจจุบันการรับสมัครนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ ส่วนหนึ่งเกิดจากขณะนี้ข้อมูลระบุเพียงตัวเลขที่ต้องการ แต่ไม่ได้แจกแจงแต่ละรายวิชาว่าต้องการจำนวนเท่าใด

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ที่ประเทศไทยลดการผลิตครูประถมลง โดยตั้งแต่ปี 2543 – 2557 มีสถาบันการศึกษา เปิดสอนครูเอกประถมเพียง 22 แห่งทั่วประเทศ ในขณะที่โรงเรียนประถมขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจาก 1 หมื่นแห่ง เป็น 1.5 หมื่นแห่ง ในปี 2557 ทั่วประเทศต้องการครูจบเอกประถม ประมาณ 4.5 พันคน แต่มีผู้สมัครเป็นครูประถมเพียง 3 พันคน จากผู้สมัครทั้งหมด 1 แสนคน ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการวางแผน การผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงในอนาคต”

 

ระบบไม่สามารถจัดสรรครูได้ครบ - ตรงความต้องการ

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) บอกว่า ตัวเลขครูเกษียณอายุในช่วง 10 ปีข้างหน้า ถือว่าหน้าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะครูจำนวนกว่า 2 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนครูทั้งระบบการศึกษา เท่ากับเป็นทศวรรษที่มีการถ่ายเลือดครั้งใหญ่ของครูไทย ตรงนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาครูขาดแคลน และการผลิตครูไม่ตรงกับความต้องการ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากตัวระบบที่ไม่สามารถ จัดสรรครูได้ครบและตรงตามความต้องการเชิงพื้นที่ หนึ่งปัญหาสำคัญคือปัจจุบันสัญญาครูรุ่นใหม่ กำหนดให้ต้องไปสอนในพื้นที่ห่างไกล 2 ปี หลังจากนั้นจึงมีสิทธิขอย้ายกลับภูมิลำเนาหรือไปสอนในพื้นที่ที่ต้องการ ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จะมีการเปลี่ยนครูผู้สอนทุกๆ 2 ปี สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบ ต่อคุณภาพการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.ไกรยส ฉายภาพว่าจากปัญหาเชิงพื้นที่หากขยายภาพใหญ่ขึ้น จะเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประสบปัญหาครูขาดแคลนในภาพใหญ่ เพราะปัจจุบันทั้งระบบเรามีครูอยู่ประมาณ 6 แสนคน ขณะที่ภาพข่าวตามสื่อต่างๆ ก็ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตาม ที่มีการเปิดแข่งขันสอบบรรจุครู ก็มักจะมีผู้สมัครสอบจำนวนมหาศาล ล้นกว่าความต้องการหลายเท่าตัว ดังนั้น ไม่ว่าในอนาคตครูจะเกษียณอายุมากขนาดไหน ในขณะเดียวกันก็ยังมีครูรุ่นใหม่พร้อมบรรจุทดแทนได้ทันที ปัญหาที่แท้จริงจึงอยู่ที่ว่ารัฐจะทำอย่างไร เพื่อแก้ไขความไม่พอเพียงของครูในบางพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

แน่นอนว่าในอนาคตโครงสร้างประชากรที่ลดลง ย่อมส่งผลให้ความต้องการครูนั้นลดลงตามไปด้วย ฉะนั้น รัฐต้องมองไปถึงการทดแทนครูในเชิงคุณภาพด้วย จำนวนครูที่หายออกจากระบบไป 2 แสนคน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเติมเข้าระบบเท่ากับจำนวนที่ขาดไป เพราะในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสอนมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญของประเทศไทย ณ ตอนนี้คือ เราไม่สามารถเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่ล้น ไปสอนในโรงเรียนขาดแคลนได้”

โครงการ “คุรุทายาท” คือวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด

ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ชี้ว่าสำหรับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม คือการผลิตครูให้ตรงกับความต้องการเชิงพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ในช่วง 10 กว่าปี กระทรวงศึกษาได้ดำเนินโครงการคุรุทายาท โดยการคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีในพื้นที่ที่ขาดแคลนครู ให้ทุนเรียนเป็นครูเพื่อที่เมื่อจบออกมา จะได้กลับมาสอนในภูมิลำเนาของตนเอง แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สะดุดลง ด้วยเหตุผลว่าอัตราบรรจุครูไม่สามารถรับเพิ่มได้อีก แต่ปัจจุบันทราบว่าขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ กำลังนำโครงการนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง ซึ่งวิธีการนี้ สสค. มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

“โจทย์ของอีก 10 ปีข้างหน้า ในการเติมครูเข้าสู่ระบบคือการเน้นคุณภาพ โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกที่สามารถ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในห่วง 10 ปีก่อนหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม หัวใจสำคัญคือครูรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่ระบบ พวกเขาเหล่านี้ต้องไม่ย้อนกลับไปสร้างปัญหา ขาดแคลนครูอีกในช่วง 10 ปีข้างหน้า”

 

ย้ำ ศธ. – คุรุสภา – มหาวิทยลัย ต้องประสานการทำงานร่วมกัน

ดร.ไกรยส ย้ำว่า การแก้ปัญหาครูขาดแคลนจะต้องเน้น เจาะลึกไปในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนจริงๆ โดยต้องระบุให้ชัดว่าแต่ละจังหวัด แต่ละโรงเรียนขาดแคลนครูวิชาอะไร เพื่อที่ภาครัฐจะได้กลับมาวางเป้าหมายการผลิตครู ให้สอดคล้องกับกลุ่มสาระวิชาที่ขาดแคลนได้อย่างแท้จริง แต่การจะได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกขนาดนี้ กระทรวงศึกษาธิการ คุรุสภา และมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องมีการประสานงานร่วมกัน เพื่อให้ระบบการทดแทนครูเป็นแบบ 1 ต่อ 1 จริงๆ แต่ด้วยทักษะความต้องการของตลาดแรงงาน ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การวางแผนผลิตครูจึงมองระยะยาว ว่าในอนาคตครูวิชาไหนต้องลดลง วิชาไหนต้องเร่งผลิตเพิ่มมากขึ้น หรือครูอาชีวะต้องเพิ่มตามความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่ ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือและประสานงานกันอย่างเป็นระบบ 

โรงเรียนมัธยมบ้านป่ากลาง ขาดแคลนครูบางวิชา

ทีมนิวมีเดีย PPTV ลงพื้นที่ โรงเรียนมัธยมป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน โรงเรียนขนาดกลางที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 มีนักเรียนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชาวเขาชนเผาต่างๆ 523 คน มีครูผู้สอนทุกรายวิชารวมกัน 34 คน หากดูเฉพาะตัวเลขข้างต้นจะเห็นว่า โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้ประสบปัญหาครูขาดแคลน เพราะค่าเฉลี่ยครู 1 คน ดูแลนักเรียนเพียง 15 คน แต่หากเจาะลึกตามรายวิชาจะพบว่า โรงเรียนประสบปัญหาขาดแคลนครูวิชาภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องสอนทุกระดับชั้น รวมทั้งหมด 17 ห้อง แต่ทั้งโรงเรียนมีครูภาษาอังกฤษเพียงแค่ 4 คน

จิราภรณ์ คีรีสันติกุล ครูประจำวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนมัธยมป่ากลาง ซึ่งรับหน้าที่สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 5 เป็นหลัก เล่าว่า แต่ละสัปดาห์รับหน้าที่หลักในการสอนวิชาภาษาอังกฤษ 18 ชั่วโมง เมื่อบวกกับวิชาแนะแนวซึ่งเป็นวิชาพิเศษที่ได้รับมอบหมายต่างหาก สรุปแล้วหนึ่งสัปดาห์จึงต้องสอนหนังสือในห้องเรียน ไม่ต่ำกว่า 26 ชั่วโมง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ครูภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งโรงเรียนมีอยู่เพียง 4 คน ต้องรับภาระค่อนข้างหนัก เพราะเมื่อเฉลี่ยภาระหน้าที่ในแต่ละวันแล้ว แทบจะไม่มีเวลาเตรียมการสอนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการถ่ายทอดเนื้อหาให้นักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้

ส่วนตัวมองว่าแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาว นอกจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกัน วางแผนบริหารจัดการการผลิตและเกลี่ยครูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว การลดภาระหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เพื่อให้ครูได้มีเวลามุ่งมั่นกับการสอนวิชาที่รับผิดชอบเป็นหลัก ตรงนี้น่าจะช่วยให้ครูผู้สอนไม่ต้องแบกรับภาระที่หนักเกินไป ขณะเดียวกันประสิทธิภาพการสอนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย”

ปัญหาบุคลากรครูไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ถือเป็นความท้าทายที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ คุรุสภา และมหาวิทยาลัย ต้องประสานการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยให้ครูไม่ว่าจะในสาขาใดขาดแคลน ในภาพรวมย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในอับดับรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างแน่นอน...

 

Content : สุริยัน ปัญญาไว

Producer/Editing: บุญญานันท์ คำโพธิ์ทอง

Photo : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ