ย้ำ ! ห้ามทำ “อุ้มบุญ” ให้คู่รักชาวต่างชาติ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เตือน 64 สถานพยาบาล ที่ได้รับอนุญาต ทำตาม “กฎหมายอุ้มบุญ” 15 ฉบับ อย่างเคร่งครัด

 

นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)

 

นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ” เพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่จดทะเบียนโดยชอบกฎหมายแต่มีบุตรยาก ให้มีบุตรโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2558 กับบุคลากรทางการแพทย์ ระบุว่า หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ได้มีการดำเนินการออกกฎหมายลูกเพื่อควบคุมหลักเกณฑ์ วิธีการการให้บริการ และมาตรฐานทางด้านจริยธรรมของแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพ และหลักเกณฑ์ในการแจ้งเกิด รวมทั้งหมด 15 ฉบับ ประกอบด้วยประกาศคณะกรรมการฯ 2 ฉบับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ประกาศแพทยสภา 10 ฉบับและประกาศของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการแจ้งเกิด 1 ฉบับ ทั้งหมดลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา

สาระหลักของกฎหมายอุ้มบุญ กำหนดให้การตั้งครรภ์แทนทำได้ในคู่สมรสที่เป็นคนไทย และจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย รวมถึงคนไทยที่แต่งงานกับต่างชาติ จะต้องจดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี  ห้ามซื้อขายไข่ อสุจิหรือตัวอ่อนอย่างเด็ดขาด การดำเนินการตั้งครรภ์แทนผู้ให้บริการจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีทั้งหมด 17 คน  มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยยื่นเอกสารที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ขณะที่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนนั้น จะต้องเป็นสายเลือดเดียวกันกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเคยมีบุตรมาแล้ว โดยคลอดบุตรตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง  หากผ่าคลอดต้องไม่เกิน 1 ครั้ง และมีอายุระหว่าง  20-40 ปี หญิงรับตั้งครรภ์แทนรับอุ้มได้ไม่เกิน 2 ครั้ง คู่สมรสที่ใช้วิธีการอุ้มบุญต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และห้ามเลือกเพศบุตร จนถึงขณะนี้มีคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรยื่นขออนุญาตเข้าสู่ระบบแล้ว ใช้เวลาในการพิจารณาอนุญาต 60 วันทำการ ส่วนกรณีของคู่สมรสชาวต่างชาติที่มีบุตรยากหรือไม่มีบุตร หากต้องการมาใช้บริการด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ไม่สามารถใช้บริการอุ้มบุญได้  แต่อนุญาตให้ใช้วิธีอื่นได้ เช่น การทำกิ๊ฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer : GIFT), การทำซิฟท์ (Zygote Intrafallopian Transfer : ZIFT) และผสมเทียม (IUI)  

ทั้งนี้ โดยในรอบเกือบ 7 เดือนมานั้น สบส. ได้ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์รวม  64 แห่ง เป็นภาคเอกชน 50 แห่ง รัฐบาล 14 แห่ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 อยู่ในภาคกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีคู่สมรสยื่นเรื่องขอทำอุ้มบุญแล้ว 4 คู่    

 

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ

 

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ย้ำว่า ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และสถานพยาบาลที่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการตั้งครรภ์แทน ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้รับอนุญาตรายงานต่อสำนักสถานพยาบาลฯ ถึงผลการดำเนินการอุ้มบุญแต่ละราย รวมทั้งสุขภาพของผู้รับอุ้มบุญ และเด็กหลังคลอดภายใน 45 วัน และหากมีการยุติการตั้งครรภ์แทน อันเกิดจากปัญหาสุขภาพของหญิง ที่รับอุ้มบุญ ต้องรายงานผลภายใน 30 วัน นอกจากนี้ยังกำหนดให้สถานพยาบาลทั้ง 64 แห่ง ต้องส่งรายงานผลการให้บริการทุกปี และต้องเก็บรักษาหลักฐานเอกสารไม่น้อยกว่า 20 ปี นับตั้งแต่เด็กเกิด

หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะมีบทลงโทษในแต่กรณีอย่างชัดเจน เช่น หากเป็นแพทย์ไม่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานแพทยสภา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากรับจ้างอุ้มบุญเพื่อประโยชน์เชิงการค้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท นายหน้าหรือเอเจนซี่ที่ชี้ช่องทางในการอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ที่ขายอสุจิ ไข่หรือตัวอ่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ