ปฏิบัติการปิดล้อม “เทือกเขาตะเว” ได้ตัวผู้ต้องสงสัยบุกยึด “รพ.เจาะไอร้อง” 1 ราย (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เจ้าหน้าที่ - ภาคประชาชน ถอดรหัสปฏิบัติการ “เจาะไอร้อง” ประเมินศักยภาพกลุ่มเห็นต่าง

วันนี้ (16 มี.ค. 2559) โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกแถลงการณ์โต้แย้ง โดยแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมา กับข้อเสนอของภาคประชาชนบางส่วน ที่ผลักดันให้ทหารถอนกำลัง ออกห่างจากพื้นที่เป้าหมายอ่อนแอ โดยมองว่าอาจจะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม ที่พยายามยกระดับให้สถานการณ์ในพื้นที่เป็นภาวะสงคราม ขณะที่การปฏิบัติล่าตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุบุกยึด รพ.เจาะไอร้อง ล่าสุดสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 1 ราย

หมู่บ้านบือแจง ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอเจาะไอร้องและอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส คือ เป้าหมายสำคัญที่กองร้อยทหารพราน 49 นำกำลังเข้าปิดล้อม หลังได้เบาะแสว่า ที่นี่คือแหล่งกบดานของ นายมาหามะซอบือรี กรือซะ แกนนำแนวร่วมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอาร์.เค.เค ที่อาจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เป็นฐานที่มั่นโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา

ทหารพรานใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัย แม้จะไม่พบแนวร่วมอาร์เคเคคนสำคัญ แต่ก็ควบคุมผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง เป็นชายในหมู่บ้านแห่งนี้ ไปสอบสวนและขยายผล นอกจากนั้นตลอดทั้งวันทหารพรานยังตรึงกำลังโอบล้อมเทือกเขาตะเว ซึ่งคาดว่าจะเป็นพื้นที่หลบหนีของกลุ่มผู้ก่อเหตุ

ส่วนอีกจุดทหารฝ่ายยุทธการได้กระจายกำลังปูพรม บริเวณหมู่บ้านลาแปและหมู่บองอ ในอำเภอระแงะ พบของกลางต้องสงสัยเป็นถังน้ำมันเชื้อเพลิง รถจักรยานยนต์ และคอมเพรสเซอร์ตู้เย็น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำมาประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่องได้ และได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 5 คน มาสอบสวน แต่ไม่พบพิรุธว่าชายกลุ่มนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง

ด้าน พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า เวลานี้ทราบตัวกลุ่มผู้ก่อเหตุแล้ว เนื่องจากมีภาพกล้องวงจรเป็นหลักฐานชัดเจน เบื้องต้นพบว่าหลายคนมีหมายจับคดีความมั่นคงติดตัวหลายหมาย พร้อมยอมรับว่าได้สั่งการให้ย้ายผู้กำกับการในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มาช่วยราชการเป็นเวลา 30 วัน ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุอุกอาจขึ้น

พันเอกปราโมทย์ พรมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
 

ส่วนข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ต้องการ ให้ทหารถอนกำลังและฐานปฏิบัติการออกห่างจากพื้นที่ละเอียดอ่อน อย่างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลนั้น พันเอกปราโมทย์ พรมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ออกแถลงการณ์โต้แย้งด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างรุนแรง โดยระบุว่าหากทหารทำตาม จะเป็นการเป็นโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของกลุ่มผู้ก่อเหตุ นอกจากนั้นยังพยายามเน้นย้ำให้นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนเข้าใจอีกด้านหนึ่งว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คืออาณาเขตของประเทศไทย ไม่ใช่พื้นที่สงครามตามที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามยกระดับ

ทั้งนี้ นอกจากปฏิบัติการติดตามตัวผู้ก่อเหตุแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเป้าหมายของปฏิบัติการครั้งนี้ ว่าแท้จริงแล้วกลุ่มที่ผู้ก่อนเหตุต้องการส่งสัญญาณอะไร

ไม่บ่อยครั้งที่จะได้เห็นพฤติกรรมการก่อเหตุ ของกลุ่มเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน จากภาพกล้องวงจรปิดทำให้เห็นว่า การวางตำแหน่งจุดยิงเป้าหมาย จุดยิงสกัด และการปฏิบัติต่อบุคคลในโรงพยาบาล ซึ่งไม่มีผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งใช้อาวุธหนักปะทะกันนานกว่า 30 นาที ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มีเป้าหมายที่แน่นอน

แม้เหตุการณ์นี้จะไม่ได้มุ่งหวังถึงผลลัพท์ให้เกิดความสูญเสีย แต่การแสดงแผนเข้าโจมตีที่ใช้ยุทธวิธีทางทหาร และบุคคลที่ผ่านการฝึกใช้อาวุธหนัก ถือเป็นเหตุการณ์ที่อุกอาจที่สุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา

จากการถอดรหัสความหมายปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม ทั้งจากภาคประชาสังคมและทหาร ทั้งสองฝ่ายมองคล้ายกันว่า นี่คือความพยายามในการแสดงตัวตนและศักยภาพ ท่ามกลางความพยายามจากฝ่ายรัฐ ที่ออกมาสื่อสารว่าสถานการณ์ในพื้นที่ มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติในเวลาอันใกล้

พันเอกยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 มีกลุ่มผู้เห็นต่างแสดงตัวกับรัฐมากถึงกว่า 3 พันคน เพราะเบื่อหน่ายความรุนแรงที่ยืดเยื้อ โดยมีโครงการพาคนกลับบ้านรองรับคนที่กลับใจกลุ่มนี้ แต่ยอมรับว่า ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนของจำนวนกองกำลังที่เหลืออยู่ เช่นเดียวกับผู้ปฏบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่เก็บข้อมูลเหตุควาไม่สงบและพบว่า ตัวเลขตัวที่ลดลงทั้งจำนวนและความรุนแรง ไม่ได้มีความหมายว่าผู้เห็นต่างอ่อนกำลัง เพราะในความจริงยังมีข้อมูลของนักรบรุนใหม่ไหลเข้าสู่ขบวนการ เพราะปัญหาที่เป็นรากเหง้า คือ ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ยังไม่ได้ถูกแก้ไข

แม้ในช่วงที่ผ่านมา ทุกฝ่ายมีความหวังกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานความมั่นคงต่างก็ยอมรับว่า กลุ่มที่เชื่อมโยงกับการก่อความไม่สงบมีโครงการที่ซับซ้อนและความคิดที่แตกต่าง และไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะเห็นพ้องกับแนวทางเจรจา นั่นจึงหมายความว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หากกระบวนการพูดคุยลักษณะนี้ ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องและเปิดกว้างเพียงพอ 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ