กรมสุขภาพจิต ย้ำ “ไบโพลาร์” รักษาและอยู่ร่วมสังคมได้ 


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วอนสังคมมองผู้ป่วย “ไบโพลาร์” ไม่ต่างจากจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ สามารถรักษาและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

ทุกวันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาและสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อผู้ป่วยโรคนี้

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “โรคไบโพลาร์” หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก ประมาณ ร้อยละ 1-2 ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก

ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อโรคนี้ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงบริการ กรมสุขภาพจิต จึงมอบหมายให้ รพ.ศรีธัญญา เป็นเจ้าภาพในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยการเน้นย้ำว่าโรคไบโพลาร์นั้น สามารถรักษาและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไปที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคไบโพลาร์สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 80-90% หากไม่ได้รับการรักษาหรือติดตามดูแลอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นโรคไบโพลาร์ มีวงจรการกินการนอนที่ผิดปกติ มีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต ตลอดจนมีการใช้สารเสพติด การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด

ขณะที่การอยู่ร่วมในสังคมระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคคลทั่วไปนั้น จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกับโรคและการรักษา โดยผู้ป่วยเองต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามนัด ดูแลตัวเอง ห้ามอดนอน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ห้ามใช้สารเสพติด สุรา แอลกอฮอล์ และ อย่าเครียด

ส่วนญาติและคนใกล้ชิด ต้องดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามแผนการรักษา รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ ให้กำลังใจและมีการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ตลอดจนสังคมก็ต้องเข้าใจให้โอกาสและลดอคติ มองผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ต่างจากจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษา และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป          

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ