เพิ่มภาระให้นักบิด หรือ เพื่อความปลอดภัย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แล้วคุณล่ะคิดว่า มาตรการข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิด และล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางแยก พ.ศ.2559 เป็นการเพิ่มภาระให้นักบิด หรือ เพื่อความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ

จากรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิด และล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางแยก พ.ศ.2559 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ห้ามจักรยานยนต์ จักรยานยนต์สามล้อ รถจักรยาน และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิดวิ่งบนสะพานทางร่วมทางแยก 39 แห่ง และอุโมงค์ 6 แห่ง ในกรุงเทพ ซึ่งอยู่ในระหว่างช่วงทดลอง 90 วัน ก่อนจะประเมินผล และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.59

อุณหภูมิความร้อนของประเด็นนี้ระอุยิ่งกว่าอุณภูมิของอากาศเวลากลางวันเสียอีก ถึงขนาดผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้นัดรวมตัวกันผูกริบบิ้นดำไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในวันนี้ (5 เม.ย.59) แต่สุดท้ายยกเลิกไป และเลื่อนไปศาลปกคลองในวันที่ 25 เม.ย.นี้ แทน

สำหรับสถิติรถใหม่ (ป้ายแดง) ประเภทรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศที่จดทะเบียน ในเดือน ก.พ.2559 ทุกยี่ห้อมีจำนวน 131,751 คัน เมื่อแยกรถจักรยานยนต์ใหม่ (ป้ายแดง) ที่จดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวน 34,257 คัน และเมื่อค้นหาข้อมูลรถที่จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 มี.ค.2559 พบว่า มีรถทุกประเภทจดทะเบียนสะสม  36,913,371 คัน จำแนกเป็น รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 20,299,310 คัน รถจักรยานนต์สาธารณะ 186,784 คัน รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล 1,646 คัน และรถยนต์รับจ้างสามล้อ (ตุ๊กตุ๊ก) 20,298 คัน

หากจำแนกรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มี.ค.2559 พบว่า มีรถทุกประเภทจดทะเบียนสะสม 9,109,556 คัน เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง 3,864,871 คัน รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล 838 คัน รถยนต์รับจ้างสามล้อ (ตุ๊กตุ๊ก) 9,083 คัน รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 3,305,351 คัน และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 89,629 คัน (ดูข้อมูลเต็มๆที่ http://apps.dlt.go.th/statistics_web/statistics.html )

ปริมาณรถทุกประเภทที่ขับเคลื่อนอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกวัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นนิจ และการออกมาตรการบังคับของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิด และล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางแยก พ.ศ.2559 ก็มีจุดประสงค์เพื่อทำให้การจราจรสะดวกขึ้นและลดอุบัติเหตุ

ทว่า มาตรการนี้ย่อมมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ วันนี้ทีมนิวมีเดีย PPTV ได้รวบรวมความเห็นมาให้อ่านกัน

เริ่มจากในแฟนเพจเฟซบุ๊กของ PPTV ที่ลงภาพและคำบรรยายว่า "หนี" ถึงแม้จะมีประกาศห้ามขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้าม แต่ก็ยังพบว่า ยังมีการฝ่าฝืนขึ้นสะพานข้ามอยู่ อย่างเช่น บนสะพานข้ามแยกรัชโยธินช่วงทางลงหน้า scb พาร์ค มุ่งหน้าศาลอาญารัชดาฯ เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา เราพบเห็นบางคันที่ขับขึ้นมาบนสะพาน แต่เมื่อขึ้นมาแล้ว มองเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.พหลโยธิน ตั้งด่านสกัดจับรถจักยานยนต์ที่ฝ่าฝืนขี้นสะพานข้ามทางแยก ก็หันรถกลับ และย้อนศรลงสะพานทันที.. ได้มีแฟนเพจเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากซึ่งแตกต่างกัน เช่น

...ถ้าไม่อยากให้มอไซขึ้น ก็ไปตั้งด่านตรงทางขึ้นได้ปะ มาตั้งด้านทางลง รอเก็บตังลูกเดียว

...แยกนี้ให้ขึ้นเถอะครับเพราะข้างล่างมันตรงไม่ได้เห็นใจสองล้อบ้างเถอะเจ้านาย

... คนคิดกฏหมาย...แต่ไม่เคยขับมอไซ..ไม่รู้หรอกว่าห้ามขึ้นหรือลงอุโมค์ต้องกลับรถหรือรอไฟแดงนิมันลำบากยังไง..บางสะพานก็ขึ้นได้บางที่ขึ้นไม่ได้เพราะไม่ได้ออกแบบมาให้มอไซขึ้น..แต่ไม่เห็นข้อแตกต่างเลยว่ามันต่างกันยังไง..สร้างสระพานอุโมงมาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อจราจรไม่ใช่หรอครับท่าน...

...สรุป...คนไทยชอบอะไรง่ายๆไม่สนใจระเบียบกฏเกณฑ์ กฏจราจรเขาห้ามทำอะไรก็เพื่อความปลอดภัย ความเป็นระเบียบของผู้ใช่รถใช้ถนน แต่เราก็อ้างทำตามกฏจราจรแล้วเราไม่สะดวก ช้า เสียเวลา เออแล้วมันจะมีกฏหมายไว้ทำอะไร?

...ประชาชนขึ้นไม่ได้แล้วทำไมตำรวจขึ้นได้ ไม่ขึ้นสะพาน ติดไฟแดงที่เป็น 2-3นาที รถ4ล้อสบายล้อ2ล้อลำบาก

คราวนี้มาฟังความเห็นของวินมอเตอร์ไซค์ที่รับงานผ่านทางทวิตเตอร์กันบ้าง “นายเดชชาติ พวงเกษ” วินมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ชื่อทวิตเตอร์ @motorcyrubjang กล่าวว่า ตนขี่มอไซค์ ก็ต้องอยากให้มอไซค์ขึ้นสะพานได้ เพราะถ้าขึ้นไม่ได้ก็ติดไฟแดงรอนานมาก หรือต้องไปกลับรถไกลมาก เสียเวลา และการจอดติดไฟแดงเผาผลาญน้ำมันทิ้งไปเปล่าๆ ถ้าขึ้นสะพานได้ก็จะไม่เป็นการสิ้นเปลืองน้ำมัน เหมือนการจอดติดไฟแดงปกติ ส่วนที่บอกสถิติอุบัติเหตุจากมอไซค์บนสะพานผมมองว่ามีน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิ่งบนทางราบ ทางราบเกิดอุบัติเหตุมากกว่าด้วย ถ้าให้ขึ้นสะพานได้ ควรตีเส้นให้มอไซค์วิ่งซ้ายสุดบนสะพานเพื่อลดอุบัติเหตุ

แล้วคุณล่ะคิดว่า มาตรการข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิด และล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางแยก พ.ศ.2559 เป็นการเพิ่มภาระให้นักบิด หรือ เพื่อความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ

ร่วมแสดงความคิดเห็นไปกับนิวมีเดีย PPTV ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/pptvHD/posts/1209813082369802

เราจะรวบรวมความคิดเห็นของท่านเพื่อส่งต่อให้สังคมได้รับรู้ต่อไป.

 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ