ชี้สาเหตุรายงาน “โรคพิษสุนัขบ้า” คลาดเคลื่อน เกิดจากการตรวจวินิจฉัยไม่ถึงที่สุด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ย้ำหากถูก “สุนัข-แมว” กัดหรือข่วน ต้องรีบล้างแผลให้สะอาด และไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี

กรณีผลการตรวจวิเคราะห์โรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งพบเชื้อในหัวสุนัขเป็นบวกจำนวนมาก ประกอบกับแนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ที่มีอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้าที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น  

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดมากขึ้น เกิดจากคนส่วนใหญ่ละเลย ไม่นำสุนัขที่เลี้ยงไปทำหมันหรือฉีดวัคซีน รวมทั้งพฤติกรรมนำสุนัขไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ปัจจุบันทั่วประเทศจึงมีสุนัขจรจัดจำนวนมาก เกินกำลังของรัฐในการเข้าไปฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับความเข้าใจของคนไทย ที่มักคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น เมื่อถูกกัดในฤดูอื่นจึงไม่เข้ารับการรักษา ทางที่ดีที่สุดคือเมื่อถูกสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี

ทั้งนี้ สำหรับรายงานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขปกปิดข้อมูล ไม่รายงานตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการวินิจฉัยไม่ถึงที่สุด ทำให้ตัวเลขที่รายงานเข้าสู่ส่วนกลางคลาดเคลื่อนไป ตัวอย่างเช่นก่อนการเสียชีวิตหากตรวจพบเชื้อในน้ำลาย น้ำไขสันหลัง ปมรากผม หรือปัสสาวะ อันนี้ถือว่าชัดเจน แต่หากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วต้องตรวจศพ โดยการเจาะเนื้อสมองผ่านลูกตา ซึ่งในทางปฏิบัติญาติอาจไม่ยอมเพราะกลัวเสียสภาพศพ รวมไปถึงตัวแพทย์ที่อาจไม่มีความชำนาญในการเจาะ และข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากร

“ปัจจัยข้างต้นทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคไม่ถึงที่สุด เมื่อข้อมูลไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากไม่ได้รับการตรวจไวรัสเพื่อยืนยันผล 100% สุดท้ายข้อมูลในภาพรวมจจึงต่ำกว่าความเป็นจริง”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังการถูกสุนัขและแมวกัดหรือข่วน เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีได้รับ รายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า แล้ว 3 ราย และแม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 10 รายต่อปี แต่ในภาพรวมยังพบเชื้อในสัตว์เป็นจำนวนมาก

อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า “โรคพิษสุนัขบ้า” หรือ “โรคกลัวน้ำ” เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ที่เกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว เป็นต้น แต่ในประเทศไทยมักพบในสุนัขมากที่สุด การติดเชื้อจะเกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสเรบี่ส์กัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือบาดแผลตามร่างกาย เชื้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นบริเวณที่โดนกัดหรือข่วน จากนั้นจะเข้าสู่ระบบประสาท ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วันหรือยาวเกินกว่า 1 ปี

ทั้งนี้ อาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกายและตำแหน่งที่ถูกกัด และสายพันธุ์ของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่าจะมีอาการรุนแรง ซึ่งโดยปกติเด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าต่ำกว่าหนุ่มสาว 
 
สำหรับแนวทางการป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ 

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี แม้จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดขณะที่เห่าบริเวณช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้าน โดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่

2. เลี้ยงสุนัขด้วยความรับผิดชอบ ไม่นำสุนัขหรือแมวไปปล่อยทิ้งในสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน ชุมชน รวมทั้งช่วยกันลดจำนวนสุนัข/แมวจรจัดในชุมชน

3. ปฏิบัติตามคำแนะนำ คาถา 5 ย คือ เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด ได้แก่ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบหาง ตัว และขา ของสุนัข  หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ

4. เมื่อถูกสุนัขกัดให้ล้างแผลให้สะอาด ขังสุนัขและแมวที่กัดดูอาการอย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ 
เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวทางมาตรฐานฟรี

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ