วิจัยชี้เด็กพิเศษมักเป็นเป้าหมายถูกกลั่นแกล้ง แนะผู้ปกครองสอนลูกหยุดรังแกเพื่อน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พบเด็กพิเศษมีความเสี่ยงถูกรังแกมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เนื่องจากมีระดับความต้านทานต่อแรงกดดันต่ำ จึงกลายเป็นเป้าหมายโดนกลั่นแกล้ง

จากการเผยแพร่คลิปวิดีโอนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง รุมกลั่นแกล้งเพื่อนนักเรียนซึ่งเป็นเด็กพิเศษอย่างสนุกสนาน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า พฤติกรรม การข่มเหงรังแกทางกาย เช่น การผลัก ต่อย หยิก ดึงผม รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์แทนอาวุธในการข่มขู่ การข่มเหงทางอารมณ์ เช่น การล้อเลียนหรือทำให้รู้สึกอับอาย การกีดกันออกจากกลุ่ม การเพิกเฉย ทำเหมือนไม่มีตัวตน การข่มเหงรังแกทางคำพูด เช่น การใช้คำหยาบคายหรือดูถูก เหยียดหยาม ล้อเลียนลักษณะภายนอกของเหยื่อในทางลบ และการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต เช่น ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กล่าวหาหรือใส่ความเหยื่อให้ได้รับความอับอาย เป็นต้น ล่วนทำให้ผู้ถูกกลั่นแกล้ง มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล การกินและการนอนผิดปกติ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ตลอดจนมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต ขณะที่เด็กที่ชอบรังแกผู้อื่นจะมีความเสี่ยง ในการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเมื่อเป็นวัยรุ่น และเสี่ยงที่จะทำร้ายคู่สมรสและบุตรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การข่มเหงรังแกเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก แต่มักถูกมองข้ามง่ายในสังคมไทย และพบว่าร้อยละ 40-80 ของเด็กวัยเรียนเคยถูกรังแกอย่างน้อย 1 ครั้งตลอดช่วงเวลาที่เป็นนักเรียน โดยอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กพิเศษมีความเสี่ยงที่จะถูกรังแกมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีระดับความต้านทานต่อแรงกดดันที่ต่ำ เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดหรือกังวล เด็กกลุ่มนี้อาจแสดงอาการที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ 

เช่น ตะโกนเสียงดัง แสดงท่าทางซ้ำๆ ซึ่งจะทำให้เป็นเป้าหมายของการถูกรังแก รวมถึงความล่าช้าของพัฒนาการบางด้านในเด็กกลุ่มนี้ อาจทำให้มีความยากลำบากในการสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อน เช่น ในเด็กที่มีปัญหาการพูดจะทำให้การสื่อสารกับเพื่อนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจแปลสิ่งที่เพื่อนพูดผิดไปจนทำให้เกิดอารมณ์ตามมา หรือในเด็กที่การเคลื่อนไหวไม่มั่นคง อาจเป็นอุปสรรคในการร่วมกิจกรรมบางอย่างที่โรงเรียน เช่น เตะบอล หรือวิ่ง และอาจทำให้เด็กถูกมองว่าอ่อนแอกว่าจนเป็นเหยื่อของการรังแกได้

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล แนะ 5 วิธีป้องกันลูกจากการถูกรังแก ดังนี้ 1.ชวนลูกพูดคุยถึงการข่มเหงรังแก โดยยกประสบการณ์การถูกรังแกของคนในครอบครัวให้เด็กฟัง เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากเคยเกิดขึ้นกับเด็กก็จะเป็นโอกาสให้เด็กเล่าให้ผู้ปกครองฟัง เมื่อเด็กเล่าเรื่องนี้ให้ผู้ปกครองชื่นชมในความกล้าหาญของเด็กที่พูดถึงเรื่องนี้ พร้อมกับให้กำลังใจเด็ก และปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาวิธีการที่โรงเรียนจะรับรู้เรื่องนี้และให้การช่วยเหลือ

2.กำจัดตัวล่อของการถูกรังแก เช่น หากเด็กถูกข่มขู่เรียกเงินค่าอาหารกลางวันหรือของใช้ส่วนตัว ก็ให้เด็กนำข้าวกล่องไปทานหรืองดให้เด็กพกของมีค่าไปโรงเรียน เป็นต้น 

3.ให้ทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกรังแกได้น้อยกว่าการอยู่คนเดียว 

4.ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์และดำเนินชีวิตเป็นปกติ ไม่แสดงอารมณ์หรือปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการกระทำนั้นๆ เพียงแต่บอกผู้รังแกว่าให้หยุดพฤติกรรมนั้น แล้วเดินห่างออกมา หากเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงอาการ จะลดแรงจูงใจในการถูกรังแกได้ 

5.อย่าต่อสู้กับเรื่องนี้ด้วยตัวเองตามลำพัง พ่อแม่ควรพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้รังแก โดยควรมีคุณครูหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย

ขณะที่ผู้ปกครองที่มีลูกชอบรังแกเพื่อ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ 1. สอนให้เด็กรู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับ โดยตั้งกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะถูกลงโทษหากรังแกเพื่อนและเข้มงวดกับกฎนั้น อาจลงโทษเด็กโดยการจำกัดสิทธิ์ในกิจกรรมที่เด็กชอบทำ เช่น งดใช้คอมพิวเตอร์ หรือ งดขนมที่เด็กชอบ 

2. สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กที่มีความแตกต่างกับตัวเอง 

3.หาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เด็กรังแกเพื่อน ทั้งในด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เช่น มีเด็กคนอื่นที่ชอบรังแกเพื่อนอีกหรือไม่ เพื่อนๆของลูกมีพฤติกรรมนี้ด้วยหรือไม่ ลูกต้องเผชิญกับความกดดันใดหรือไม่ โดยปรึกษาคุณครู นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือกลุ่มผู้ปกครองในการหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน 

4.ชมเชยหรือให้รางวัล เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี สามารถแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้วิธีทางบวกและสร้างสรรค์ 

5.เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะพูดหรือกระทำการใดๆ กับเด็ก ในช่วงที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว ถ้าผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โดยผู้ปกครองสามารถบอกความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นและแสดงให้เด็กเห็นว่าควรจะจัดการต่ออารมณ์นี้อย่างไร เป็นต้น

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ