แม้เข้าสู่ฤดูฝน แต่ 2 เดือนหลังจากนี้ คือระยะที่ปะการังฟอกขาวอ่อนแอที่สุด 


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการชี้ผลกระทบโลกร้อนส่งผลปะการังฟอกขาวถี่ขึ้น ระบุแม้เข้าสู่ฤดูฝนแต่ในระยะ 1-2 เดือนหลังจากนี้ คือช่วงที่ปะการังอ่อนแอที่สุด หากไม่ป้องกันผลกระทบอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟู 5-10 ปี

จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่าเริ่มมีฟอกขาวครั้งแรก เมื่อต้นเดือนมีนาคม บริเวณเกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วงกลางเดือนเมษายนพบปะการังฟอกขาวเพิ่มเติมบริเวณอ่าวไทยที่หมู่เกาะอ่างทอง และเริ่มพบที่ฝั่งอันดามันบริเวณเกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ต่อมาเมื่อประมาณปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พบปะการังเริ่มฟอกขาวบริเวณอันดามันตอนใต้ บริเวณตอนเหนือของเกาะตะรุเตาและหมู่เกาะบุโหลน จังหวัดสตูล และกลางเดือนพฤษภาคม มีรายงานการฟอกขาวบริเวณหมู่เกาะมันในและเกาะแสมสารบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก รวมแล้วแนวปะการังทั่วประเทศฟอกขาวมากกว่า 80%


นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทยปี 2559 ล่าสุดพบว่ามีการฟอกขาว 81 จุด รวม 12 จังหวัด  แบ่งเป็นการฟอกขาว ระดับวิกฤติ (สีแดง) 33 จุด และระดับรุนแรง (สีเหลือง) 48 จุด แยกเป็นภาคตะวันออก 7 จุด อ่าวไทยตอนกลาง 36 จุดอ่าวไทยตอนล่าง 3 จุด และทะเลอันดามัน 35 จุด จึงกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวของประเทศไทยในปี 2559 เกิดขึ้นในวงกว้างทั่วน่านน้ำไทย นอกจากนั้นบางพื้นที่การฟอกขาวรุนแรง มากกว่า 80% 

ทั้งนี้ ล่าสุดจากการลงพื้นที่สำรวจปะการังฟอกขาว ในพื้นภาคตะวันออกบริเวณเกาะมันในและหมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง พบว่าขณะนี้
อยู่ในระดับรุนแรง (สีเหลือง) เกิดการฟอกขาว 30- 40% ของปะการังมีชีวิต ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เริ่มรุนแรง โดยชนิดของปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด, ปะการังกาแล็กซี่,ปะการังลายดอกไม้, ปะการังรังผึ้งปะการังรังผึ้งเล็ก, ปะการังหนามขนุน, ปะการังสมองร่องยาว, ปะการังสมองร่องใหญ่, ปะการังวงแหวน, ปะการังผิวยู่ยี่, และปะการังเขากวาง นอกจากนี้พบหอยมือเสือฟอกขาวเช่นกัน

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ทช. กล่าวว่า อุณหภูมิน้ำทะเลในปีนี้สูงเกินกว่า 30.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นจุดที่เริ่มส่งผลกระทบทำให้ปะการังฟอกขาว โดยจากการติดตามพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม วัดได้ 30.2 องศาเซลเซียส และสูงสุดในเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา วัดได้ 33.8 องศาเซลเซียส แต่เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงเฉลี่ย 1-2 องศาเซลเซียส จึงถือได้ว่าตอนนี้เลยจุดอุณหภูมิสูงสุดมาแล้ว อย่างไรก็ตามปะการังไม่ได้ฟื้นตัวทันที และยังอยู่ในช่วงที่อ่อนแอที่สุด ฉะนั้นในระยะ 1-2 เดือนหลังจากนี้จึงถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูปะการังให้กลับมาแข็งแรง 

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ทช. ออกคำสั่งระงับความเสียหายร้ายแรงต่อปะการัง 7 พื้นที่ ได้แก่ เกาะมันใน จ.ระยอง เกาะทะลุ และเกาะเหลื่อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกาะไข่ จ.ชุมพร เกาะราชาใหญ่ เกาะไม้ท่อน และแหลมพันวา จ.ภูเก็ต โดยห้ามการทอดสมอเรือในแนวปะการัง ห้ามการทิ้งขยะและปล่อยมลพิษลงบนแนวปะการัง ห้ามการขุดลอกร่องน้ำในแนวปะกรัง ห้ามกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดตะกอนลงสู่แนวปะการังห้ามการจับสัตว์น้ำในแนวปะการังห้ามการให้อาหารปลาในแนวปะการังห้ามการเดินเหยียบย่ำแนวปะการังและห้ามการเก็บหรือทำลายปะการัง เว้นแต่การกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ และควบคุมการใช้ประโยชน์แนวปะการังโดยการควบคุมการท่องเที่ยวดำน้ำในแนวปะการังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง เพราะไม่เช่นนั้นอาจต้องใช้เวลา 5-10 ปีในการฟื้นฟูให้กลับมาคืนสภาพเดิม


ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในระยะหลังที่รุนแรงมากขึ้น เป็นเพราะผลกระทบจากโลกร้อนและปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งจะทำให้ช่วงหลังเกิดปะการังฟอกขาวถี่ขึ้น ดังนั้นการวางมาตรเพื่อลดผลกระทบซ้ำจากมนุษย์จะสามารถช่วยให้ปะการังฟื้นสภาพและอยู่รอดได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือที่หมู่เกาะพีพีและหมู่เกาะสุราษฎร์ ทั้งสองแห่งเจอปรากฎการณ์ปัการังฟอกขาวในปี 2553 เหมือนกัน แต่ขณะนี้แนวปะการังในหมู่เกาะสุรินทร์ฟื้นคืนมากกว่าครึ่ง ขณะที่หมูเกาะพีพีฟื้นกลับคืนมาเพียง 1% ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบหากทุกฝ่ายไม่ช่วยกันรักษาแนวปะการัง จะทำให้ในระยะยาวประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการเที่ยว ที่เกี่ยวกับปะการังหลายหมื่นล้านบาท

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ