วิจัยพบพฤติกรรมก้มหน้าเล่นแต่มือถือโดยไม่สนใจคู่สนทนา อาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ที่เลวร้าย หลังผลการศึกษาพบว่าผู้ที่ “ฟับ” ใส่เพื่อนบ่อยๆ จะถูกกระทำย้อนกลับมากกว่าเดิม

จากผลการศึกษา "ปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมฟับบิ้ง (Phubbing) และผลของพฤติกรรมฟับบิ้งต่อบรรทัดฐานทางสังคมในปัจจุบัน" ในคนอังกฤษทั่วไปจำนวน 251 ราย อายุระหว่าง 18-66 ปี โดย นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต และ ดร.คาเร็น ดักกลาส ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยเคนท์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Computers in Human Behavior พบว่า กลุ่มตัวอย่างเพศหญิงมากกว่า 50% มีพฤติกรรมให้ความสนใจโทรศัพท์มือถือ มากกว่าคู่สนทนาและคนรอบข้าง หรือที่เรียกว่า “ฟับบิ้ง” ใส่คนรอบข้างมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ส่วนเพศชายมีไม่ถึง 30% ที่จะฟับใส่คนรอบข้างมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่าเพศหญิงเกือบ 70% จะถูกฟับจากคนรอบข้างมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ส่วนเพศชายน้อยกว่า 40% ที่จะถูกฟับจากคนรอบข้างในปริมาณเดียวกันนี้
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต
ผลการวิจัยหลักชี้ว่า ปัจจัยต้นตอหลักๆ ของพฤติกรรมฟับบิ้งมาจาก 3 สาเหตุ คือ 1.ภาวะติดอินเทอร์เน็ต 2.ความกลัวการตกกระแสและข้อมูลข่าวสาร และ 3.การขาดการควบคุมตนเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ "ติดสมาร์ทโฟน" อย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลต่อให้เกิดพฤติกรรมฟับบิ้งอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ จากการศึกษายังพบว่า หลังจากที่เรา "ฟับ" ใส่เพื่อนของเราบ่อยๆ แล้ว ก็จะถูกเพื่อน "ฟับ" กลับมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งจะวนเวียนเป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
นพ.วรตม์ อธิบายว่าสาเหตุการเกิดพฤติกรรมฟับบิ้ง ที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายนั้น เกิดจากลักษณะการใช้งานและการตีความประโยชน์ของสมาร์ทโฟนที่แตกต่างกัน โดยผู้ชายจะมองสมาร์ทโฟนเป็นเเพียงเครื่องมืออิเล็คโทรนิก ใช้สำหรับการหาข่าวสาร เสิร์ชข้อมูล เล่นเกม และใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในขณะที่ผู้หญิงมองสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงเน้นใช้งานในด้านการติดต่อสื่อสาร ส่งข้อความถึงเพื่อน และใช้แอพพิลเคชั่นประเภทโซเชียลมีเดียในโทรศัพท์เป็นหลัก ผู้หญิงจึงมีแนวโน้มที่จะมองว่า การฟับบิ้งเป็นเรื่องปกติมากกว่าผู้ชาย
“การฟับใส่คนรอบข้างและการถูกคนรอบข้างฟับใส่ ทั้ง 2 ปัจจัยนี้รวมกันจะส่งผลให้ตัวเรามองบรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับมารยาทการใช้โทรศัพท์มือถือเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต และอาจเปลี่ยนแปลงตลอดไปจนสังคมก้มหน้ากลายเป็นเรื่องปกติทั้งหมด ซึ่งหากมองย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน จะเห็นได้ว่าสังคมของเรา ไม่เคยมีรูปแบบการสนทนาลักษณะนี้เลย จนมาถึงปัจจุบันที่เรียกได้ว่าเริ่มเข้าสู่สังคมก้มหน้า หากเรายังไม่ตระหนักและไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในท้ายที่สุดทุกคนในสังคมจะเริ่มชินชาและมองว่าเป็นเรื่องปกติ”
สำหรับผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้ที่มีพฤติกรรมฟับบิ้งนั้น ทีมนักวิจัยกำลังศึกษาต่อไปถึงผลกระทบ ต่อคู่สนทนาที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นชัดเจนว่าผลกระทบที่เกิดจากการฟับบิ้ง จะก่อให้เกิดปัญหา 3 ด้าน ดังนี้ 1.คุณภาพทุกด้านของการสื่อสารแย่ลง 2.ความสัมพันธ์กับคู่สนทนาแย่ลง และ 3.อารมณ์ด้านลบของผู้ถูกฟับบิ้งมากขึ้น ทั้งความโกรธ ความวิตกกังวล และความเสียใจ ซึ่งจากการนำข้อมูลงานวิจัยชิ้นอื่นๆ มาประกอบกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าหากผลเสียทั้งสามด้านเกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อเนื่องกันทุกวันเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในอนาคตอาจเกิดผลกระทบต่อสัมพันธภาพในระยะยาวได้ และแน่นอนว่าการเลิกคบกับเพื่อนและการเลิกรากับแฟนก็รวมอยู่ในผลกระทบนี้ด้วย
ทั้งนี้ พฤติกรรมของมนุษย์ที่ให้ความสนใจโทรศัพท์มือถือมากกว่าคู่สนทนาและคนรอบข้าง หรือที่เรียกว่า “ฟับบิ้ง” ในปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ที่เวลาไปไหนก็จะเห็นคนนั่งกันเป็นกลุ่ม แต่ทุกคนกลับก้มหน้ากดสมาร์ทโฟนเล่นโซเชียลมีเดีย โดยที่ไม่สนใจจะคุยกับคนรอบข้าง เป็นการเผลอดูถูกคู่สนทนาทางอ้อมโดยที่เราอาจไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่ไร้มารยาท ในประเทศไทยจะคุ้นหูกันดีกับคำว่า "สังคมก้มหน้า"
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้