เตือนคนติดโซเชียล-คลั่งแชท ระวังละเมอส่งข้อความเรื่อยเปื่อยกลางดึก!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แนะคนคลั่งแชทปิดมือถือ ปิดเสียง หรือปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตก่อนนอน ป้องกันอาการ “Sleep Texting”

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยในปี 2557 ในกลุ่มตัวอย่าง 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดย กสทช. พบว่า ร้อยละ 99.7 หรือเกือบทุกคน มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอย่างน้อย 1 เครื่อง ซึ่งพฤติกรรมที่หลายคนมันจะเป็นเหมือนกัน คือในช่วงเวลาที่ดูทีวีเมื่อมีโฆษณาจะละสายตาจากจอทีวี แล้วก้มเล่นมือถือไม่ว่าจะเป็นการเล่นเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือแชทผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น วอทแอพ (WhatsApp) วีแชท (WeChat) หรือไลน์ (Line) เป็นต้น

ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่ติดโปรแกรมแชทหรือคลั่งแชท อาจจะมีอาการละเมอแชท (Sleep Texting) ถือเป็นอาการที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน โดยอาการดังกล่าวจะทำให้ลุกขึ้นมาแชทขณะหลับ เมื่อได้ยินเสียงข้อความส่งมา ปัญหาที่ตามมาก็คือจะทำให้ร่างกายจะอ่อนแอ จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า โรควุ้นในตาเสื่อม โนโมโฟเบีย สมาร์ทโฟนเฟซ และอาจส่งผลกระทบในการเรียนหรือการทำงาน “แนะนำว่าการเล่นโปรแกรมแชทควรทำแต่พอดี หากติดมากควรลองอยู่ห่างจากสมาร์ทโฟน ตัดใจปิดมือถือ ปิดเสียง หรือปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตก่อนนอน วิธีนี้จะช่วยให้ห่างไกลจากการละเมอแชท และฟื้นฟูสุขภาพการนอนหลับให้เต็มอิ่ม ตื่นเช้ามาพร้อมความสดชื่นแจ่มใส”

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของอาการละเมอแชท (Sleep Texting) มาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟน รวมไปถึงอาการติดโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกชนิด ทำให้มุ่งความสนใจไปที่เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้แทบจะทุกนาที จนกลายเป็นความวิตกกังวลต่อข้อความที่ถูกส่งมา แม้กระทั่งเวลาจะหลับก็ยังเอามือถือไปจิ้มเล่นเรื่อยเปื่อย และหลับไปพร้อมกับโทรศัพท์ที่ยังคามือหรือวางนิ่งอยู่ข้างตัว ดังนั้น เมื่อมีเสียงแจ้งเตือนข้อความเข้ามา สมองที่ยังยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต ก็จะปลุกร่างกายที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ

ในช่วงนี้ร่างกายก็จะนอนหลับไม่สนิทเต็มที่เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่พอ กระทบถึงระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้สะสมความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงาน อีกทั้งการติดแชทมากเกินไป ยังอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ได้ เนื่องจากข้อความที่ส่งผ่านกันไปมา ไม่สามารถนำเอาความรู้สึกนึกคิดในขณะที่พิมพ์ข้อความของเราแนบไปด้วยได้ บางทีก็อาจจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้ ทำลายความรู้สึกโดยไม่เจตนาด้วย             

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ