มุมมองอีกด้าน "วันแม่ 2566" กิจกรรมวันแม่กระทบจิตใจเด็กเลี้ยงเดี่ยว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดมุมมองอีกด้าน จิตแพทย์ชี้กิจกรรมวันแม่-วันพ่อ อาจส่งผลกระทบจิตใจเด็กครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว แนะครูให้ความสำคัญเป็นพิเศษ พร้อมเข้มงวดห้ามเพื่อนล้อเลียน

กิจกรรมวันแม่และวันพ่อแห่งชาติที่โรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยจัดขึ้น ด้านหนึ่งแม้จะเป็นการแสดงความรักของลูกที่มีต่อบุพการี แต่บรรยากาศความอบอุ่นภายในงานอาจกลายเป็นดาบสองคม ทิ่มแทงใครอีกหลายคนที่ขาดมารดาหรือบิดาคอยดูแลใกล้ชิด..เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ประเด็นการจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติในสถานศึกษา ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง ภายหลังสมาชิกเว็บไซต์ดังตั้งกระทู้ แสดงความคิดเห็นถึงการจัดกิจกรรมวันแม่

คอนเทนต์แนะนำ
“ดอกมะลิ” ทำไมถึงเป็นสัญลักษณ์วันแม่ แล้วสายพันธุ์ไหนเป็นสื่อแทนใจลูก
วันแม่2566 : เปิดที่มา "วันแม่" เกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีประเทศใดบ้าง
เปิดสรรพคุณ "ดอกมะลิ" ประโยชน์เพียบไม่ใช่แค่ใช้บอกรัก "วันแม่"

 

ซึ่งโรงเรียนแทบทุกแห่งมักให้นักเรียนแสดงความรักต่อมารดา โดยการให้ดอกมะลิและกราบไหว้ จนกลายเป็นภาพชิดตาในสังคมไทย การแสดงความรักในลักษณะนี้โดนตั้งคำถามว่า เป็นการสร้างปมในใจให้เด็กนักเรียนอีกหลายคน ที่ไม่มีแม่หรือพ่อมาร่วมกิจกรรมในวันสำคัญหรือไม่ ?

 

จิตแพทย์ชี้กิจกรรมแสดงความรักครอบครัว กระทบจิตใจเด็กเลี้ยงเดี่ยว 100%

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ทีมนิวมีเดีย PPTV ถึงประเด็นข้างต้นว่า แน่นอนว่าการจัดกิจกรรมในลัษณะกระตุ้นความสัมพันธ์ และความรักในครอบครัวย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจ กลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่มีผู้ปกครองมาร่วมงาน 100% เพราะตามพื้นฐานจิตใจทุกคนย่อมอยากมีพ่อแม่คอยดูแล โดยผลกระทบหลักๆ ที่เกิดขึ้น แบ่งออกได้ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.ไม่รู้สึกอินกับกิจกรรม การมองเห็นเพื่อนๆ รอบข้างแสดงความรักต่อผู้ปกครองในขณะที่ตนไม่มี ย่อมทำให้เกิดการเบื่อหน่ายหรือไม่ชอบ และ 2.นึกถึงเหตุการณ์ในอดีต โดยอาจเกิดขึ้นในลักษณะการตั้งคำถาม ว่าทำไมชีวิตของตนเองไม่เหมือนเพื่อนๆ หรือย้อนนึงถึงเหตุการณ์สูญเสียพ่อแม่ ซึ่งทั้งสองประเด็นอาจนำไปสู่การสร้างปมภายในจิตใจ

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกว่า อย่างที่ทุกคนทราบดีกว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว ถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน ไม่สามารถเอาบรรทัดฐานของครอบครัวหนึ่งไปใช้กับอีกครอบครัวได้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมในลักษณะแสดงความรักในโอกาสวันแม่หรือวันพ่อนั้น โรงเรียนและคุณครูต้องไม่ละเลยการให้ความสำคัญ กับกลุ่มเด็กที่ไม่มีพ่อหรือแม่เข้าร่วม โดยเฉพาะการอธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน และพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อลดความกังวล รวมทั้งเฝ้าระวังพฤติกรรมการล้อเลียนอย่างเข้มงวด

 

ย้ำครูต้องไม่ละเลยกลุ่มเด็กครอบครัวไม่สมบูรณ์

“สำหรับเด็กบางคนที่ไม่มีแม่หรือพ่อเข้าร่วมกิจกรรม ก็เหมือนกับการมาโรงเรียนโดยไม่มีการบ้านส่งคุณครู หากโรงเรียนหรือตัวคุณครูไม่นึกถึง หรือให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้เป็นกรณีพิเศษ อาจทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจหรือร้ายแรงถึงขึ้นซึมเศร้าได้”

ทั้งนี้ นพ.วรตม์ แนะนำว่าสำหรับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือในกรณีที่มีเพียง ปู่ ย่า หรือ ตา ยาย ฝ่ายใดคนหนึ่งเป็นผู้เลี้ยงดู เมื่อถึงวันสำคัญควรเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถทดแทนในสิ่งที่ขาดหายได้ พร้อมทั้งยืนยันให้เด็กมั่นใจว่าการขาดพ่อหรือแม่ ไม่ได้ทำให้ความรักที่มีให้ลดน้อยลงแต่อย่างใด

 

เสนอโรงเรียนกล้าปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่กระทบจิตใจเด็ก

ด้าน ฐาณิชชา ลิ้มพาณิช ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว บอกว่าเนื่องจากวันแม่และวันพ่อแห่งชาติเป็นวันสำคัญของคนไทย มีวัตถุประสงค์จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งส่งเสริมให้ลูกหลานระลึกถึงพระคุณของมารดาและบิดา ส่วนตัวจึงมองว่าการจัดงานในวันดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี แต่นอกเหนือจากกิจกรรมถวายพระพร ตามโรงเรียนต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมแสดงความรักระหว่างครอบครัวด้วย

โดยส่วนใหญ่มักจัดให้มีการกราบไหว้ผู้ปกครอง ซึ่งอาจสร้างความกระทบกระเทือนทางใจให้กับเด็กบางคน ที่มีปัญหาครอบครัวเด็กบางคนไม่มีทั้งพ่อและแม่ จึงอยากเสนอให้มีการปรับรูปแบบกิจกรรม โดยตัดพิธีกรรมการกราบไหว้ออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน ที่ในขณะนี้ปัญหาการหย่าล้างพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งหมายความว่าเด็กนักเรียนที่ครอบครัวมีปัญหา ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

 

ชี้พิธีกรรมกราบไหว้ไม่ใช่สิ่งยืนยันสัมพันธภาพที่ดีเสมอไป

“ที่ผ่านมาเคยมีผู้ปกครองครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว สะท้อนว่าเมื่อถึงวันแม่หรือวันพ่อ และลูกของตนเห็นครอบครัวของเพื่อนๆ ก็มักเกิดความสะเทือนใจ ที่แย่ไปกว่านั้นต้องไม่ลืมว่าเด็กบางคนไม่มีทั้งพ่อและแม่ เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจ จึงอยากให้โรงเรียนกล้าที่จะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยน เนื่องจากการแสดงความรักความกตัญญูของลูกที่มีแต่พ่อแม่ ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้ ซึ่งผลที่ได้อาจดีกว่าการกราบไหว้ด้วยซ้ำไป”

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ย้ำว่าการที่บุตรหลานกราบไหว้พ่อแม่ทุกวัน ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าครอบครัวเหล่านั้น มีสัมพันธภาพที่ดีเสมอไป เพราะความรักหรือความผูกพันจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อตัวเด็กเองรู้สึกพึงพอใจซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครบังคับกันได้

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ