“โค้งเขาโพธิ์” จุดเสี่ยงอันตรายประตูสู่ภาคใต้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำรวจจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน “โค้งเขาโพธิ์” เส้นทางอันตรายประตูสู่ภาคใต้ หน่วยกู้ภัยระบุจุดนี้เคยเกิดเหตุซ้ำภายในวันเดียวมากถึง 18 คัน

ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ช่วง กม.417 บริเวณศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ เป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงอันตรายเส้นทางล่องใต้ จุดนี้มักเกิดเหตุรถยนต์เสียหลักหมุนตกข้างทางบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นทางโค้งขึ้นเนินซ้อนกันถึง 3 โค้ง และเป็นเส้นทางที่มีรถบรรทุกใช้สัญจรจำนวนมาก ทำให้ผู้ขับขี่ที่ไม่คุ้นชินเส้นทางมักประสบอุบัติเหตุโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน..

จากการลงพื้นที่สำรวจสภาพถนนและทัศนวิสัย ซึ่งปกติขาล่องใต้และขาขึ้นกรุงเทพจะวิ่งคนละฝั่งถนน แต่เนื่องจากขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงเส้นทาง ทำให้ผู้ขับขี่ต้องขับรถสวนทางกัน ทีมนิวมีเดีย PPTV ได้รับฟังคำบอกเล่าและข้อมูลปัจจัยเสี่ยงจาก ปกรณ์กฤษณ์ บัวตูม อาสากู้ภัยบางสะพานน้อยกุศลสงเคราะห์ ระบุว่า เนื่องจากก่อนถึงจุดขึ้นโค้งขึ้นเนินเขาโพธิ์ เส้นทางที่วิ่งมากจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นทางตรง ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จึงมักเร่งความเร็วเพื่อทำเวลาในช่วงนี้ เมื่อมาถึงช่วง กม.ที่ 416 จะเริ่มเข้าสู่บริเวณจุดเสี่ยง

“จุดสังเกตคือตั้งแต่ช่วงขึ้นทางโค้งขึ้นเนินโค้งที่ 1 ถนนจะถูกบีบแคบลง และมักจะไปเกิดอุบัติเหตุตรงช่วงโค้งที่ 3 โดยมากเกิดจากรถเล็กเบี่ยงเลนแซงรถบรรทุก แต่เสียหลักหมุนลงข้างทางทั้งด้านซ้ายและขวา เมื่อเกิดเหตุในจุดที่ 3 ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนบริเวณโค้งที่ 2 และ 1 ตามมา”

สอดคล้องกับ จ่าสิบเอกประสิทธิ์ มณีแดง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชุมพร ที่บอกว่าปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณนี้ ว่า ด้วยสภาพเส้นทางขาล่องใต้ที่เป็นทางลงเนินมาจาก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมาขึ้นเนินอีกครั้งบริเวณเขาโพธิ์ จุดนี้แขวงการทางกำหนดความเร็วไว้ที่ไม่เกิน 80 กม./ชม. แต่จากการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ใช้ความเร็วมากกว่า เมื่อมาเจอทางโค้งเลี้ยวขวาขึ้นเนิน ซึ่งมี 3 โค้ง ซ้อนกัน จึงเบรคกะทันหันทำให้รถเสียหลักตกข้างทาง

“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดในช่องทางขาล่องใต้ ปัจจัยหลักเกิดจากการขับรถเร็วกว่าที่กำหนด และไม่ปฏิบัติตามป้ายจราจรหรือป้ายเตือน ส่วนปัจจัยเสริมสำคัญคือภูมิอากาศ โดยเฉพาะฝนที่ตกลงมาบนพื้นผิวจราจร ในช่วงฤดูฝนจุดนี้จึงเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างมาก รวมไปถึงผิวทางขรุขระจากน้ำหนักรถบรรทุกที่ใช้เส้นทางนี้ ประมาณ 45% ของยานพาหนะ แต่ละคันน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 30-40 ตัน หากเป็นรถบรรทุกปลาจะอยู่ที่ 70-80 ตัน”

ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชุมพร บอกว่าจากการลงพื้นที่สำรวจสภาพถนนและทัศนวิสัยจุดเกิดเหตุ พบว่าในแต่วันจุดนี้มีรถวิ่งผ่านประมาณ 3-4 หมื่นคัน หากเป็นช่วงเทศกาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นคัน แขวงทางหลวงจึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาชั่วคราว ระหว่างรองบประมาณโครงการปรับปรุงถนนถาวร โดยการตัดต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนนที่บดบังการมองเห็น ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ทราบว่าข้างหน้าเป็นทางโค้ง ควบคู่ไปกับการติดป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และป้ายบังคับ รวมไปถึงไฟส่องสว่าง ต่อมาเมื่อได้รับงบประมาณ 653 ล้านบาท ขณะนี้จึงได้ดำเนินการปรับปรุงถนนและแก้ไขจุดเสี่ยงในจุดนี้ คาดว่าหลังเสร็จสิ้นจะช่วยลดอุบัติลงได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบริเวณโค้งเขาโพธิ์ (ฝั่งล่องใต้) โดยกู้ภัยบางสะพานน้อยกุศลสงเคราะห์ ระบุว่า ในปี 2558 เกิดอุบัติเหตุมากถึง 94 ครั้ง จุดนี้เคยเกิดอุบัติเหตุวันเดียว 18 คัน ส่วนมากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลโดนเฉพาะรถกระบะ ขณะที่ข้อมูลในปี 2559 ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ค. เกิดอุบัติเหตุแล้ว 56 ครั้ง 

ณัฐพงษ์ บุญตอบ นักวิชาการมูลนิธิไทยโรดส์ ชี้ว่าจากข้อมูลของทีมกู้ภัยที่ระบุว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่ ที่เกิดขึ้นในจุดนี้มักเป็นอุบัติเหตุรถคันเดียวที่เสียหลักและหมุนตกข้างทาง โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจึงชี้ชัดว่า เกิดจากการใช้ความเร็วสูงเกินกว่าที่กำหนด ขณะเดียวกันยังมีรถบรรทุกสัญจรเป็นจำนวนมาก เมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงมาถึงจุดขึ้นเขา แล้วเจอกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จึงมักหักหลบเพื่อเปลี่ยนเลนแซงขึ้นด้านหน้า จังหวะนี้รถเล็กต้องเร่งความเร็วกระทันหัน แต่ด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ทำให้ถนนลื่น รถยนต์จึงเสียหลักและหมุนตกข้างทางในที่สุด

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตามมาตรฐานวิศวกรรมจราจร พบว่า การออกแบบถนนในบริเวณนี้ตั้งแต่ช่วงทางโค้งขึ้นเนิน ไม่ได้มีปัญหาและเป็นไปตามหลักวิชาการ เนื่องจากมีการยกโค้ง มีการออกแบบดีไซน์สปีด รวมทั้งติดตั้งป้ายเตือนต่างๆ เป็นระยะ แต่เนื่องจากสภาพเส้นทางที่เป็นทางโค้งตัว S ติดต่อกัน 3 โค้ง จุดนี้จึงต้องเพิ่มความระมัคระวังในการขับขี่ โดยข้อมูลจากทีมกู้ชีพระบุว่าผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่มักไม่คุ้นชินเส้นทาง ดังนั้น หากมีการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปทราบว่า ถนนเพชรเกษม ช่วง กม.ที่ 417 (ศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์) เป็นจุดอันตรายโดยเฉพาะในช่วงฝนตก อาจช่วยลดปริมาณการเกิดอุบัติเหตุลงได้

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมูลนิธิไทยโรดส์ ทิ้งท้ายว่า “ตามแผนการปรับปรุงถนนของแขวงทางหลวง โดยการปรับสภาพพื้นผิวถนนให้มีแรงเสียดทานเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางด้านซ้ายสำหรับรถบรรทุกโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้กีดขวางรถยนต์ขนาดเล็ก ตั้งแต่ช่วงขึ้นเนินจนถึงจุดกลับรถนั้น ถือว่าสอดคล้องกับข้อสังเกตตามหลักวิชาการ”

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ