วิเคราะห์อุบัติเหตุ 6 ศพ “จุดหลับใน” ถ.มิตรภาพ กม.240-241 นครราชสีมา(คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สอบสวนอุบัติเหตุรถกระบะเสียหลัก ตกถนนพุ่งข้ามเลนชนประสานงา 6 ล้อ  ดับยกคัน ถ.มิตรภาพ กม.240-241 อ.สีดา จ.นครราชสีมา

ซากชิ้นส่วนรถยนต์ เศษกระจก ถุงขนม และรองเท้า ที่ยังคงกองอยู่บริเวณร่องกลางถนนมิตรภาพ ช่วง กม.ที่ 240 – 241 อ.สีดา จ.นครราชสีมา คือร่องรอยของอุบัติเหตุรถกระบะ ซึ่งเดินทางมาจาก อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร มุ่งหน้ากรุงเทพฯ เสียหลักตกร่องกลางถนนและข้ามเลน ไปพุ่งชนประสานงากับรถบรรทุก 6 ล้อ ที่เดินทางมาจาก ตัวจังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้า อ.บัวลาย  เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2559 เวลา 11.50 น. อันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่อยู่ในรถกระบะเสียชีวิตคายกคัน เป็นผู้ใหญ่ 3 ราย และเด็ก 3 ราย..

สภาพศพในรถกระบะถูกแรงกระแทกอย่างรุนแรง โดยผู้ขับขี่เพศชายช่วงลำตัวด้านบนพาดมาทางห้องโดยสารด้านหลัง ศีรษะถูกกระแทกอย่างแรงมองเห็นเนื้อสมอง กระดูกซี่โครงและกระดูกต้นขาหักทั้งสองข้าง สะบ้าขวาแตกละเอียด ส่วนผู้โดยสารที่นั่งเบาะข้างคนขับ ซึ่งเป็นหญิงวัยกลางคนกระดูกกรามล่างแตกละเอียด กระดูกซี่โครงหักทั้ง 2 ข้าง ส่วนเด็กหญิงอายุ 5 ปีที่อุ้มไว้ หน้าอกด้านขวามีรอยช้ำ มีเลือดออกทางจมูก ปาก และหู

ขณะที่ผู้โดยสารที่นั่งในห้องโดยสารด้านหลัง ซึ่งเป็นเด็กชายอายุ 7 ปี นั่งอยู่ด้านหลังคนขับ กระดูกซี่โครงข้างขวาหักและกระดูกมือขวาหัก ส่วนหญิงวัยกลางคนที่นั่งอยู่หลังผู้โดยสารด้านหน้า กระดูกหน้าผากแตกมองเห็นสมอง ต้นแขนขวาผิดรูป กระดูกต้นแขนขวาหัก ใกล้กันพบเด็กชายอายุ 5 เดือน ตกอยู่ที่พื้นสภาพบาดแผล กะโหลกแตก 3 ส่วน กระดูกต้นแขนซ้ายหัก เลือดออกที่หูข้างซ้าย และมีแผลถลอกบริเวณหลัง รวมทั้งศรีษะผิดรูป

ถนนมิตรภาพ ช่วง กม.ที่ 224 – 241 ระยะทาง 17 กม. ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.สีดา มักเกิดอุบัติเหตุรถพุ่งตกถนนบ่อยครั้ง ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา พบว่าในช่วงเดือน มิ.ย. – วันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา บริเวณนี้เกิดอุบัติเหตุถึง 27 ครั้ง เกินครึ่งหรือประมาณ 55% เป็นอุบัติเหตุรถตกถนน ที่สำคัญหลายครั้งเกิดขึ้นในจุดเดิม โดยเฉพาะช่วง กม.ที่ 240 – 241

จากการลงพื้นที่สำรวจลักษณะทางการภาย ของถนนบริเวณจุดเกิดเหตุ ทีมนิวมีเดีย PPTV พบว่าถนนสายนี้เป็นทางตรง 2 เลน มีการแยกทางสัญจรระหว่างทางขาขึ้นและขาล่องอย่างชัดเจน สภาพพื้นที่ถนนค่อนข้างดีและได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ ปัจจัยแวดล้อมที่ดูเหมือนว่าไม่มีจุดบกพร่อง นำมาซึ่งข้อสงสัยว่าเหตุใด ถนนสายนี้โดยเฉพาะในระยะ 17 กม. จึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง

พิทักษ์พงษ์ ศิริศักดิ์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอบัวใหญ่ และหัวหน้าหน่วยกู้ภัยฮุก31 จุดอำเภอสีดา เล่าว่าก่อนเกิดอุบัติเหตุรถกระบะชนประสานงากับรถบรรทุก 6 ล้อ ผู้ขับขี่ออกเดินทางจากงานศพของญาติ ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เวลาประมาณ 6 โมงเช้า เพื่อมุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชม. ระยะทางประมาณ 330 กม. เมื่อมาถึงบริเวณจุดเกิดเหตุน่าจะเกิดการหลับใน ทำให้รถเสียหลักพุ่งตกร่องกลางถนนและข้ามเลนไปชนกับรถบรรทุกที่วิ่งสวนมาอีกทาง

“ส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณถนนเส้นนี้ มักจะเกิดจากการหลับในเนื่องจากจุดนี้เป็นจุดกึ่งกลาง ระหว่างรถที่วิ่งมาจากกรุงเทพฯ และรถที่วิ่งมาจากภาคอิสาน ประกอบกับถนนที่เป็นทางตรงไม่มีจุดพักรถ ทำให้ผู้ขับขี่เกิดความอ่อนเพลียและหลับในได้ง่าย โดยเฉพาะหากไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้หากมีการติดตั้งไฟริมทาง ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงอุบัติเหตุลงได้เพราะในช่วงเวลากลางคืนถนนเส้นนี้จะมืดมาก”

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ปัจจัยการเกิดเหตุ โดยกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ระบุว่าแม้ยังไม่สามารถระบุได้โดยตรงว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ข้อมูลสนับสนุนจากผู้เห็นเหตุการณ์ และสภาพร่องรอยถนน ณ จุดเกิดเหตุ ทำให้เชื่อได้ว่าผู้ขับขี่รถกระบะน่าจะหลับใน เนื่องจากไม่พบร่องรอยการเหยียบเบรก ประกอบกับระยะทาง 300 กว่า กม. และระยะเวลากว่า 6 ชม. จากจุดเริ่มต้นในการเดินทาง เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุผู้ขับขี่อาจเกิดความเหนื่อยล้า และที่สำคัญด้วยลักษณะกายภาพถนนที่เป็นทางตรงราบเรียบ เนื่องจากเพิ่งมีการซ่อมแซมพื้นถนน จึงสามารถเร่งทำความเร็วได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากมีการตั้งจุดตรวจหรือการทำให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วเป็นระยะๆ อาจช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุในจุดนี้ลงได้ 

ดร.ศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวเพิ่มเติมหลังสำรวจสภาพจุดเกิดเหตุ ระบุว่าลักษณะทางกายภาพของถนนเส้นนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเป็นถนน 2 ช่องทางจราจร แบ่งแยกชัดเจนระหว่างเส้นทางมุ่งหน้า อ.พล จ.ขอนแก่น และ อ.สีดา จ.นครราชสีมา ขณะเดียวกันจากการสังเกตดูเส้นจราจรและเครื่องหมายจราจร โดยเฉพาะในจุดกลับรถก็พบว่ามีการติดตั้งอย่างชัดเจน แต่เนื่องจากถนนเส้นนี้เป็นทางตรงยาวไม่มีจุดพักรถ โดยจุดสุดท้ายที่มีปั๊มน้ำมันจาก อ.พล มาถึงจุดเกิดเหตุ ระยะทางประมาณ 20 กม. และจากจุดเกิดเหตุต้องขับต่อไปอีก 60 กม. กว่าจะถึงจุดพักรถถัดไป ทำให้ผู้ขับขี่ที่ขับรถความเร็วคงนานๆ สุ่มเสี่ยงต่อการเหนื่อยล้า และเกิดการหลับในได้ง่าย 

“ด้วยความที่ถนนสายนี้เป็นทางตรงยาว ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการหลับในและเกิดอุบัติเหตุรุนแรง แนวทางป้องกันที่สำคัญคือผู้ขับขี่ ต้องเตรียมความพร้อมสภาพร่างกายของตนเอง โดยหากจำเป็นต้องวิ่งผ่านเส้นทางนี้ แล้วรู้สึกว่าเหนื่อยล้าหรือง่วงนอนอย่างฝืนขับต่อ ควรหยุดพักรถเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้ตัวเองเกิดความผ่อนคลายและสดชื่นเสียก่อน”

ส่วนการปรับปรุงถนนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ชี้ว่าการเพิ่มความปลอดภัยของถนน เพื่อลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุสามารถทำได้โดยการ ติดตั้งราวกันอันตราย (Guard Rail) ในจุดที่มักเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยให้รถที่เลียหลักย้อนกลับสู่ช่องทางได้ ขณะเดียวกันยังช่วยป้องกันไม่พุ่งข้ามไปในเลนที่รถวิ่งสวนทาง ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่มักสร้างความสูญเสียร้ายแรง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราวกันอันตรายนั้นราคาค่อนข้างสูง เฉลี่ยเมตรละ 1 - 2 พันบาท หากติดตั้ง 1 กม. ต้องใช้งบประมาณเป็นหลักล้าน ฉะนั้น การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือตัวผู้ขับขี่เอง น่าจะเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

 

ขอบคุณภาพประกอบ : อุบัติเหตุรถกระบะเสียหลักพุ่งชนรถบรรทุก 6 ล้อ จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ หน่วยกู้ภัยฮุก31 จุดอำเภอสีดา

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ